- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 08 February 2015 17:16
- Hits: 2875
‘หม่อมอุ๋ย’หนุนหั่นดอกเบี้ยอุ้มเศรษฐกิจ ยันไม่กดดันธปท.ปรับลด
แนวหน้า : 'หม่อมอุ๋ย'หนุนธปท.ลดดอกเบี้ย เชื่อส่งผลทั้งดีต่อตลาดหุ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจดี แต่รัฐบาลคงไม่ไปกดดัน ส่วน ดัชนีฯเอสเอ็มอี ธ.ค. 2557 พบเพิ่มขึ้นทั้งภาพรวม และรายภูมิภาค
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เดือนมกราคม 2558 นับว่าสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้านั้นตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2557 เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 3.28-3.43 หมื่นล้านบาท/เดือน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมกราคมเก็บได้ 4 หมื่นล้านบาท หากคำนวณย้อนกลับจากการใช้จ่ายในประเทศก็คาดว่าจะมีเม็ดเงินราวใช้จ่ายถึง 5.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายภาคส่วนทั้งจากราคาน้ำมันที่ลดลง มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางพารา เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งรวมวงเงิน 48,500 ล้านบาท การก่อสร้างโรงงานที่เริ่มก่อสร้างจริง 2,026 แห่ง เงินลงทุน 2.38 แสนล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 9.9 หมื่นคน จากคำขอใบอนุญากก่อสร้างโรงงารที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4,234 โรงงาน ในช่วงเดือนมิ.ย.2557-ม.ค.2558 ดังนั้นในช่วงนับจากนี้ไปในส่วนที่เหลือก็คงจะเริ่มลงทุนก่อสร้างจริงเป็นเงินลงทุนอีก 2.5 แสนล้านบาท จะมีการจ้างเงินอีก 6 หมื่นคน
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรือการออกมาตรการคิวอี ที่มีวเงินสูงถึง 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนนั้น ก็ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยดัชนีสูงกว่า 1,600 จุด ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.จะลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ทางรัฐบาลคงไม่กดดัน แต่จากการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ล่าสุด ก็เห็นเป็นการส่งสัญญาณเรื่องการลดดอกเบี้ย ซึ่งหากลดได้จะส่งผลทั้งตลาดหุ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นและช่วยให้จีดีพีของประเทศจะโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
มีรายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนธันวาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.6 จากระดับ 45.7 เพิ่มขึ้น 7.9 และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.1 54.2 และ 54.8 จากระดับ 47.7 44.1 และ 46.7(เพิ่มขึ้น 1.4 10.1 และ 8.1 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีอยู่ที่ 69.4 และ 62.1 จากระดับ 47.8 และ 42.8 เพิ่มขึ้น 21.6 และ 19.3
สำหรับ สาเหตุสำคัญมาจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน ได้สร้างความคึกคักทั้งในด้านการบริโภคในภาพรวม การขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้าเพื่อรองรับกับการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาของประชาชน ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 และดีเซล ลดลงลิตรละ 3.70 และ 2.50 บาท ส่งผลดีทั้งในด้านต้นทุนประกอบการรวมถึงค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกมาจากการส่งออกในเดือน ธ.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 50.2 จากระดับ 42.7 (เพิ่มขึ้น 7.5) ภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 63.2 จากระดับ 45.8 (เพิ่มขึ้น 17.4) ภาคบริการ กิจการด้านการขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 60.6 และ 60.0 จากระดับ 46.7 และ 46.2 (เพิ่มขึ้น 13.9 และ 13.8) ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ารวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 53.1 จากระดับ 58.5 (ลดลง 5.4) โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 54.2 52.5 และ 53.3 จากระดับ 57.1 59.9 และ 57.6 (ลดลง 2.9 7.4 และ 4.3) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 61.4 และ 57.8 จากระดับ 81.0 และ 71.5 (ลดลง 19.6 และ 13.7) ผลจากระดับราคาสินค้าเกษตรสำคัญโดยเฉพาะข้าวและยางพารายังคงปรับตัวลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ขณะที่ราคาสินค้ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ
ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคเดือน ธ.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน พ.ย.2557 พบว่า ค่าดัชนีเกือบทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 61.0 จากระดับ 45.8 (เพิ่มขึ้น 15.2) รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 55.0 จากระดับ 42.4 (เพิ่มขึ้น 12.6) ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 61.3 จากระดับ 52.4 (เพิ่มขึ้น 8.9) กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 53.1 จากระดับ 45.5 (เพิ่มขึ้น 7.6) มีเพียงภาคใต้ที่ค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 42.5 จากระดับ 43.1 (ลดลง 0.6) ส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวลดลง
สำหรับ ดัชนี TSSI SMEs ประจำไตรมาสที่ 4/2557 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2557 พบว่า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.6 จากระดับ 45.4 (เพิ่มขึ้น 2.2) โดยภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.3 และ 48.2 จากระดับ 45.3 และ 44.6 (เพิ่มขึ้น 2.0 และ 3.6) ตามลำดับ ส่วนภาคค้าส่ง ค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 46.7 จากระดับ 47.4 (ลดลง 0.7) ในส่วนความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.7 จากระดับ 43.6 (เพิ่มขึ้น 4.1) ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 44.0 จากระดับ 49.6 (ลดลง 5.6) เมื่อพิจารณาถึงค่าดัชนีคาดการณ์ไตรมาสหน้าหรือไตรมาส 1/2558 พบว่า ลดลงอยู่ที่ 53.6 จากระดับ 57.8 ซึ่งเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าและคาดการณ์ไตรมาสหน้า จะปรับตัวลดลงทั้งภาพรวมและรายภูมิภาค แต่อยู่ในระดับที่เกินกว่าค่าฐานที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศยังคงมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้าหรือไตรมาส 1/2558 ในระดับที่ดี
ยอดใช้จ่ายครัวเรือนพุ่ง'หม่อมอุ๋ย'วาดฝันเศรษฐกิจกระเตื้องดันแวตเพิ่ม
บ้านเมือง : 'หม่อมอุ๋ย'เผยการใช้จ่ายครัวเรือน ม.ค.58 ดีเกินคาด ลุ้นยอด VAT พุ่ง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศมีการขยับตัวขึ้นถึง 450,000 ล้านบาท ระบุยังไม่ได้รับรายงานรถไฟความเร็วปานกลางจีนแพงกว่าญี่ปุ่น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในประเทศมีการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.58 ประชาชนมีการใช้จ่ายภายใน 1 เดือนสูงถึง 5.8 แสนล้านบาท ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ถึง 4.01 หมื่นล้านบาทสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ คาดว่ามาจากปัจจัยคือ 1.การเปิดโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย 2.น้ำมันลดลงมาก และ 3.เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณปี 58 ตั้งแต่เดือน ต.ค.57 ถึงมือกับประชาชนที่มีรายได้น้อยในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หวังว่า ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.58 ภาครัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่ 3.8-3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้ถึง 4%
ส่วนการส่งออกของไทย ยอมรับว่า หนักใจเนื่องจากประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป มีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีนการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยต้องได้รับผลกระทบ แต่ขณะนี้ตลาดใหม่ส่งออกคือการค้าตามแนวชายแดน และเชื่อมั่นว่ากระทรวงพาณิชย์จะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันการส่งออกให้เติบโตได้ 4% ตามที่วางเป้าหมายไว้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงการหารือกับผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเลขาธิการองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ว่า UNIDO ชื่นชมไทยที่พัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปในทางที่ดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหวังให้เป็นตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากประเทศไทยพัฒนาอุตสาหกรรมมาถึง 54 ปีแล้ว อีกทั้งรัฐบาลได้มีการปรับปรุงระเบียบการส่งเสริมการลงทุนในประเทศใหม่ในลักษณะที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ตรงกับแนวทางของ UNIDO นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในประเทศแอฟริกาที่กำลังจะเติบโตและมีค่าแรงงานถูก ดังนั้นทั่วโลกจึงต้องช่วยกันส่งเสริม
สำหรับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยในปี 57 ติดลบถึง 4% นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การจัดตั้งโรงงงานในเดือน มิ.ย.57 จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.58 มีการจดทะเบียนตั้งโรงงานถึง 4,200 โรงงาน และเปิดโรงงานได้แล้วประมาณ 2,041 โรงงาน ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย และเกิดการจ้างงานไปแล้ว 99,000 คนทำให้การจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2,200 โรงงาน คาดว่าอีก 4-5 เดือนจะเปิดโรงงานได้ จะมีการจ้างงานขึ้นอีกถึง 62,000 คน มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดถึง 45,000 ล้านบาท
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า ไม่ทราบข้อมูลที่คณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีน ที่รัฐบาลจีนเสนอรูปแบบการลงทุนลักษณะกู้ร่วมผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน ในอัตราดอกเบี้ย 2-4% ซึ่งต้องการรายงานจากกระทรวงคมนาคม เบื้องต้นมองว่าการกู้เงินไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ที่สำคัญคือเรื่องการตรวจสอบต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งแหล่งเงินกู้สามารถใช้ในประเทศได้อยู่แล้ว พร้อมเห็นว่าเทคโนโลยีรถไฟของจีนและญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพทั้งคู่
ขณะที่ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นจะมีการศึกษาเส้นทางรถไฟทั้งหมด 3 เส้นทาง ซึ่งไทยก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และจะมีความร่วมมือก่อสร้างรถไฟในเส้นทางหลักจาก พุน้ำร้อน กาญจนบุรี กทม. ฉะเชิงเทรา สระแก้ว
ทั้งนี้ หลังจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือแบบ ร.ง.4 ให้กับผู้ประกอบการ 4,200 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีการจ้างงานกว่า 99,000 คน และยังทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีการขยับตัวขึ้นถึง 450,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังพบว่ายังมีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มขึ้น โดยในเดือนมกราคมนี้มีตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 40,000 ล้านบาท และคาดว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมนี้จะมีตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 38,000-39,000 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนสร้างรถไฟความเร็วปานกลางร่วมกับจีน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการกู้เงินมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการลงทุนร่วมกับญี่ปุ่นนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าว เชื่อว่าไทยมีความพร้อมในการกู้เงินในประเทศ แต่อาจจะมีปัญหาในการตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีการประมูล ส่วนการสร้างรถไฟร่วมกับญี่ปุ่นมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะไทยไม่ต้องดำเนินการศึกษาเส้นทางในการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยเส้นทางดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ชายแดนฝั่งตะวันออกของไทยไปสิ้นสุดยังชายแดนฝั่งตะวันตก
เก็บแวตม.ค.สูงสุด 4 หมื่นล้าน'อุ๋ย'ชี้เศรษฐกิจกระเตื้องบัญชีกลางบี้เบิกจ่ายงบ
ไทยโพสต์ : ทำเนียบรัฐบาล * คุณชายอุ๋ยเป็นปลื้ม เดือน ม.ค.เก็บแวตได้ 40,100 ล้านบาท ทุบสถิติสูงสุด ระบุเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐ กิจประเทศกระเตื้องขึ้น ด้านบัญชีกลางจี้ 20 หน่วยราชการเร่งเบิกจ่าย มั่นใจจบไตรมาส 4 ฉลุยตามเป้าแน่นอน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เดือน ม.ค.2558 อยู่ที่ 40,100 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ คิดเป็นยอดใช้จ่ายที่เดือนละ 580,000 ล้านบาท ซึ่งในอดีตเคยเก็บแวตได้สูงสุดในเดือน ม.ค.เช่นกัน อยู่ที่ 36,000 ล้านบาท ส่วนเดือน ก.พ.-มี.ค.2558 คาดว่าจะเก็บแวตได้เดือนละ 38,000-39,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินต่อได้
โดยคาดว่า แต่ละเดือนจะมียอดการใช้จ่ายเดือนละ 550,000 ล้านบาท หรือทั้งปีอยู่ที่ 6.7-6.8 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก
"ตัวเลขการเก็บแวตได้สูงเป็นประวัติศาสตร์ เป็นข่าวดีที่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างกระเตื้องขึ้น เวลาดูเศรษฐกิจว่ากระเตื้องหรือฟื้นตัวแล้ว ตัวสำคัญที่สุดคือการใช้จ่ายภาคเอกชน เพราะเกิดจากคนที่มีเงินในกระเป๋า แล้วนำเงินมาใช้ ตัวอื่นแค่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว เช่น การลงทุนภาครัฐ การที่คนใช้จ่ายมากขนาดนี้ เป็นตัวบอกว่าเขามีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเกิดจากมีจำนวนโรงงานเปิดมากขึ้น จ้างคนได้เพิ่มขึ้น 99,000 คน ราคาน้ำมันลดลง และเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท" ม.ร.ว.ปรียาธร กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า หลังจากรัฐบาลชุดนี้เข้ามา ได้ออก ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้โรงงานในเดือน มิ.ย.2557-ม.ค.2558 จำนวน 4,200 แห่ง โดย 7 เดือนที่ผ่านมามีโรง งานเปิดกิจการใหม่ 2,041 แห่ง มีการจ้างงานเพิ่ม 99,000 คน ที่เหลืออีกประมาณ 2,200 แห่ง จะต้องเปิดภายใน 4-5 เดือนนี้อย่างแน่นอน เพราะมีกฎให้เปิดโรงงานภายใน 180 วัน หลังได้ใบอนุญาต รง.4
หากโรงงานอีก 2,200 แห่งเปิดดำเนินการ จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 62,000 คน และหากรวม 4,200 โรงงาน จะมีเม็ดเงินลงทุน 450,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนขยับแล้วอย่างแท้จริง
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับส่วนราชการ 20 หน่วยงาน ที่มีงบลงทุนตั้งแต่ 300-1,000 ล้านบาท คิดเป็นวง เงินลงทุนรวม 3.24 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 10% จากงบลงทุนรวม เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการก่อหนี้ การเบิกจ่าย ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น
โดยเบื้องต้นคาดว่าภายในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2558 (ม.ค.-มี.ค.58) ส่วนราชการดังกล่าว จะสามารถก่อหนี้ได้ 90-100% และภายในไตรมาส 4 ปีงบประ มาณ (ก.ค.-ก.ย.58) คาดว่าส่วนราชการจะสามารถเบิกจ่ายงบประ มาณได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับ ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 จะมีการรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเร็วๆ นี้ โดยยืนยันว่าภาพรวมการเบิกจ่ายขณะนี้ทำได้ดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ
โดยการเบิกจ่ายงบประ มาณ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีงบประ มาณ 2558 (ต.ค.-ธ.ค.57) มีการเบิกจ่ายแล้ว 7.66 แสนล้านบาท หรือ 29.8% ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ที่ 4.13 หมื่นล้านบาท หรือ 9.2% รวมถึงมีการเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 7.77 หมื่นล้านบาท หรือ 23.1% จากวงเงินทั้งหมด 3.36 แสนล้านบาท และมีการเบิกจ่ายเงินกู้ไทยเข้มแข็ง 168 ล้านบาท หรือ 1.1% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร 1.49 หมื่นล้านบาท.