- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 04 February 2015 19:42
- Hits: 2942
วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 21:49 น. ข่าวสดออนไลน์
รายงานพิเศษ : ชี้จุดดีด้อยกก.แต่งตั้ง-ย้ายปลัด
กรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรม นูญ วางหลักเกณฑ์แก้ปัญหาการ เมืองแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายปลัดกระทรวง
โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม 7 คน ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน อดีตปลัดกระทรวง 3 คน ประธานกรรมการจริยธรรมทุกกระทรวงเลือกกันเอง 2 คน
ระบบดังกล่าวมีจุดเด่น-จุดด้อยอย่างไร จะช่วยแก้ปัญหาการเมืองล้วงลูกได้จริงหรือไม่
ยอดพล เทพสิทธา
นิติศาสตร์ ม.นเรศวร
ตามระบบเดิมหาก มีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงอย่างไม่เป็นธรรม ผู้เสียหาย จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการของ ก.พ. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสอบวินัย ถ้าไม่ได้ รับความเป็นธรรมอีก ก็จะฟ้องร้องศาลปกครองให้คุ้มครองคำสั่งโยกย้าย
ตัวอย่าง เช่น กรณี โยกย้าย นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นที่ปรึกษานายกฯ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าเป็นคำสั่งโดยมิชอบ แต่ปัญหาคือ ไม่มีการเยียวยานายพีรพลที่ต้องเสียสิทธิ จากคำสั่งโดยมิชอบนั้นเลย
โครงสร้างของระบบที่เสนอใหม่นอกจากซ้ำซ้อนกับระบบเดิม ก็ยังไม่ได้แก้ปัญหา ที่แท้จริง สังคมก็อาจมองได้ว่าระบบนี้ก็มีการเล่นพรรคเล่นพวกเหมือนเดิม
ทั้งยังก่อให้เกิดการไม่ยอมรับระบบการบริหารราชการแผ่นดินตามลำดับชั้น เพราะมีกรรมการคุณธรรมเข้ามาคานอำนาจกับนักการเมืองและข้าราชการ
หากจะให้มีก็ควรมีอำนาจในฐานะ ของตัวกลางประสานไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ เสียหายกับข้าราชการ หรือรัฐมนตรี ก่อนไปสู่การฟ้องร้องยังศาลปกครอง จากข้อเสนอดังกล่าวนี้ และข้อเสนอให้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ที่เป็นข้าราชการประจำ กมธ.ยกร่างฯทำเพื่อหวังจะให้ข้าราชการดูแลกันเองเสมือนว่าข้าราชการ จะปลอดการเมือง
แต่กลับกัน มันจะพาไปสู่การเกี้ยเซี้ยขนานใหญ่ระหว่างนักการเมืองและข้าราชการ ถือเป็นการพาประเทศถอยหลังกลับไปสู่การสถาปนารัฐข้าราชการให้กลับมา
สวนทางกับการเดินสู่รัฐสมัยใหม่ที่ข้าราชการต้องลดขนาดลงและอำนาจของประชาชน ต้องมากขึ้น ทั้งไม่สอดคล้องตามโรดแม็ปปฏิรูปประเทศที่อ้างว่าประชาชนจะได้มีส่วนต่อการ บริหารบ้านเมืองมากขึ้น จึงเกิดความสงสัย ที่ว่า เราพูดภาษาเดียวกันอยู่หรือไม่
ยุทธพร อิสรชัย
คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
แนวคิดให้มีคณะกรรมการ แต่งตั้งและโยกย้ายปลัดกระทรวง ค่อนข้างเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายข้าราชการประจำ โดยให้ข้าราชการหรืออดีตปลัดเป็นผู้แต่งตั้งข้าราชการด้วยกันเอง
หลักการดังกล่าวนี้อาจมีประเด็นข้อขัดข้องกับหลักบริหารราชการตามระบอบ ประชาธิปไตย เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการจะเป็นอำนาจของ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมืองในฐานะผู้ดำเนินนโยบายในการบริหารประเทศ
ปัญหาที่ตามมาอาจเกิดภาวะที่รัฐราชการมีความเข้มแข็งมาก เกินไป จนมีข้อสังเกตว่าการตอบสนองต่อนโยบายของฝ่ายบริหารจะมีเท่าเดิมหรือไม่ หรือการตอบสนองต่อประชาชนจะเป็นอย่างไร หากผู้ที่ควบคุมไม่ใช่ฝ่ายบริหารในฐานะตัวแทนของประชาชน
ปลัดกระทรวง ทำหน้าที่เหมือนเป็นหัวหน้าฝ่ายราชการในแต่ละกรมแต่ละกระทรวง ตำแหน่งนี้มีความจำเป็นหรือไม่ ในเมื่อทุกกระทรวงนอกจากมีรัฐมนตรีแล้วก็ยังมีรัฐมนตรีช่วยคอยทำหน้าที่
แนวคิดนี้คงมีที่มาจากปัญหาที่ผ่านมา ที่มองว่าฝ่ายการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม หรือเลือกแต่พวกพ้องของตนเอง แต่ปัญหาดังกล่าวก็มีกลไกตรวจสอบอยู่แล้ว
เช่น กลไกของกรรมการพิทักษ์คุณธรรม กลไกของศาลปกครองและศาลยุติธรรม หรือแม้แต่กลไกจากภาคประชาสังคมก็สามารถช่วยกันตรวจสอบได้
ดังนั้น การที่ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายฝ่ายราชการ อาจส่งผลให้การทำงานเป็นไปยากยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจฝ่ายบริหาร อีกทั้ง ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าในข้าราชการจะไม่มีระบบอุปถัมภ์
ยิ่งเรื่องจริยธรรมคุณธรรมถือเป็นสิ่งที่วัดค่าได้ยาก และวัดได้จริงหรือไม่ จะใช้ดุลพินิจอย่างไร เป็นประเด็นอัตวิสัย ประเมินค่าไม่ได้
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเป็นเหมือนสัญญาณการกลับไปสู่ระบบราชการเป็นใหญ่ มีอำนาจแต่งตั้งการบริหารงานหน่วยงานที่เป็นของราชการเอง ซึ่งตามปกติประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาไม่ทำกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าข้าราชการจะเป็นพื้นที่อิสระตรวจสอบไม่ได้
ส่วน ที่มาของคณะกรรมการ 7 คน ที่ทำหน้าที่แต่งตั้งปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ. อดีตปลัด หรือเทียบเท่า ยิ่งทำให้มีปัญหา
นอกจากเสนอชื่อคนที่มาจากหน่วยงานราชการต่างๆ ด้วยกันเองแล้ว ผู้ใหญ่ในวงราชการยังอนุมัติกันเองอีก จะทำให้การตรวจสอบจากภายนอกเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ เรื่องอำนาจของคณะกรรมการ แต่งตั้งที่มีค่อนข้างมาก โดยเสนอชื่อบุคคลให้ นายกฯได้ 3 คน ถ้านายกฯไม่รับก็สามารถนำชื่อทูลเกล้าฯได้เลย ไม่น่าจะมีประเทศไหนในโลกให้ข้าราชการมีอำนาจได้มากขนาดนี้
ที่สุดแล้วอำนาจของข้าราชการไม่ใช่แค่เสนอให้ผู้แทนที่มาจากประชาชนเป็นคน วินิจฉัยตามความเหมาะสม แต่เป็นการให้ข้าราชการมีอำนาจเด็ดขาดในตัวเอง
ส่วน นายกฯ และนักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นแค่ไปรษณีย์ให้กับระบบราชการเท่านั้น สวนทางกับการปฏิรูป เป็นการ ก้าวสู่ยุคถอยหลังมากกว่า ทำให้ระบบราชการเป็นเหมือนองค์กรอิสระขนาดใหญ่อีกองค์กรหนึ่งที่จะบริหารกัน เอง
การแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ดังกล่าวยังไม่ช่วยให้ระบบราชการหลุดพ้นจากนักการเมือง แต่ยิ่งทำให้ระบบราชการไม่เป็นประชาธิปไตย กลายเป็นว่าปลัดกระทรวงจะเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรี ที่แท้จริงของประเทศ
และถ้าจะบอกว่าเพราะที่ผ่านมานักการเมือง ใช้อำนาจไม่สุจริต ไม่โปร่งใส แต่การให้อธิบดีหรือ ก.พ. ดูแลเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า จะโปร่งใส กลับกันการให้ข้าราชการแต่งตั้งกันเอง จะเป็นสิ่งที่เลวลงแน่นอน
ดังนั้น การให้รัฐมนตรีใช้ดุลพินิจแต่งตั้งโยกย้ายแบบเดิมจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะกฎหมายกำหนดต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ความสามารถ ถ้ารัฐมนตรีใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมก็สามารถร้องต่อศาลปกครองได้
แต่การให้อำนาจคณะกรรมการแต่งตั้ง ไม่มี การพูดถึงการตรวจสอบกรรมการทั้ง 7 คน จะทำให้ทั้ง 7 คน เป็นซูเปอร์ปลัด หรือซูเปอร์นายกฯ