- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Friday, 30 January 2015 22:35
- Hits: 2911
เศรษฐกิจปีแพะโตแบบยั่งยืนปฏิรูปเศรษฐกิจทั่งระบบเร่งการลงทุนภาครัฐ
บ้านเมือง : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ในงานเสวนา Thailand moving Forward ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาขยายตัวได้ต่ำ เฉลี่ยร้อยละ 3 เนื่องจากไทยมีปัญหาการเมือง ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปีที่แล้วขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1 โดยจีดีพีปีไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวได้ร้อยละ 2 แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะฟื้นตัวกลับมาและขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศทั้งการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ เพื่อจะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน และขอให้นักลงทุนมั่นใจว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็จะสานต่อนโยบายที่ดำเนินการไว้ โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปีนี้มาจากการลงทุนภาครัฐที่เดินหน้าได้ต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุน โดยยอดขอรับการส่งเสริมรับการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงสุดในรอบ 50 ปี
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในภาคการส่งออกในระยะยาว และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ตามศักยภาพ โดยรัฐบาลสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต อย่างเช่น อุตสาหกรรมผลิตพลาสติก เนื่องจากมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลาสติกที่อยู่ในประเทศกว่า 3,000 แห่ง รวมถึงไทยยังมีทรัพยากรที่เพียงพอ เช่น การทำเหมืองแร่โปรแตส ซึ่งไทยได้รับการอนุมัติออกอาชญาบัตรให้มีการสำรวจเหมืองแร่โปรแตส สะท้อนให้เห็นไทยมีศักยภาพของแร่โปรแตส ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง เม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง การส่งออกสินค้าและบริการจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนมาขยายตัวร้อยละ 5.4 ฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่าการส่งออกบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 7.9 สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้จ่ายภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น
หม่อมอุ๋ย เชื่อศก.ไทยกลับมาโตตามศักยภาพ หลังปฏิรูปศก.-การเมือง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเสวนา"Thailand moving Forward"ว่า รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศทุกด้านภายใต้การปฎิรูปการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และการปฎิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ เพื่อจะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน และขอให้นักลงทุนมั่นใจว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็จะต้องเดินหน้านโยบายที่รัฐบาลชุดนี้วางไว้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ต่ำเฉลี่ยปีละ 3% เนื่องจากเกิดปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปีที่แล้ว ทำให้เศรษฐกิจในปี 57 ขยายตัวได้เพียง 1% แต่เชื่อว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาละขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากไตรมาส 4/57 ที่เติบโตได้ราว 2% ซึ่งปัจจัยสนับสนุนจะมาจากการลงทุนภาครัฐที่เดินหน้าได้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนในการลงทุน โดยเห็นได้จากยอดขอรับการส่งเสริมรับการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ในปีที่แล้วสูงสุดในรอบ 50 ปี
ขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล(Digital Economy) เพราะดิจิตอลเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะรองรับภาคเศรษฐกิจอื่น ทั้งธุรกิจบริการ การจองโรงแรม และการโอนเงินต่างๆและปฎิรูปภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันภาคการส่งออกในระยะยาว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ตามศักยภาพ เช่น การสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตพลาสติก เนื่องจากมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศกว่า 3000 แห่ง รวมถึงไทยยังมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ เช่น เหมืองแร่โปรแตซ ซึ่งได้รับการอนุมัติออกอาชญาบัตรให้มีการสำรวจ สะท้อนให้เห็นศักยภาพที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ
ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย โดยจะมีการจูงใจทางภาษีเป็นหลัก
อินโฟเควสท์