- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Thursday, 29 January 2015 22:56
- Hits: 2632
นายกฯยันกม.ไซเบอร์ไม่มีล้วงตับ ระบุเข้าถึงข้อมูลต้องมีเหตุผล!
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ผ่านมติ ครม.จะมีผลรวมไปถึงการควบคุมการดูหมิ่นด้านศาสนาอย่างที่เกิดขึ้นกับสำนักพิมพ์ชาลี เอ็บโด ของฝรั่งเศส ว่า ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ยังไม่ออกเป็นกฎหมาย ที่มีการเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปนั้นเป็นร่างคร่าวๆ ไปก่อนว่าควรจะมีกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับกฎหมายอื่นที่ออกไปแล้ว ในการจะปรับเป็นดิจิตอล อีโคโนมี โดยจะต้องมีการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรต้องไปปรับแก้ตรงนั้น สิ่งสำคัญที่ส่งไปถึง สนช.เร็วก็เพื่อให้คนที่รู้ได้พิจารณา และนำคนในแวดวงที่เกี่ยวข้องมาสอบถาม
ส่วนข้อกังวลว่ารัฐบาลจะเข้าไปล้วงตับประชาชนอย่างที่สื่อเขียนนั้น นายกฯ กล่าวว่า จะไปล้วงได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญหาก็ไปล้วงไม่ได้ การจะเข้าไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีเหตุผล เพราะเป็นการผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่อย่านำกฎหมายอย่างหนึ่งไปตีอีกอย่างหนึ่ง การจะไปกล่าวพาดพิงใครโดยไม่ถูกต้องด้วยหลักการจะทำไม่ได้ บางเรื่องไม่ต้องทำเป็นกฎหมาย เพราะมันทำไม่ได้ เช่นเดียวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน ซึ่งฟ้องร้องเองไม่ได้ ประเทศเรามี ประเทศอื่นไม่มี ทำให้ไม่เข้าใจเรา และจะให้มาเขียนกฎหมายอย่างเราเขาก็คงคิดไม่ถึงว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนว่าเราจะป้องกันอย่างไร ที่สำคัญคือต้องสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันว่าเป็นคนละประเด็น แต่แน่นอนว่าต้องมีสาเหตุการออกมาใช้กำลังการต่อสู้ ฆ่าคน ก่อการร้าย บานปลายพันกันไปหมด เราต้องแกะกันให้ออก และอย่าเอาประเทศไทยไปยุ่งเกี่ยว เพราะเราไม่มีปัญหาเช่นนั้น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เราออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความทันสมัย เพื่อให้เกิดการค้าขายการลงทุนที่ต้องแก้ทั้งหมด อย่าง พ.ร.บ.หลายฉบับที่ไม่มีความทันสมัย ขอให้ทำความเข้าใจว่า แม้จะผ่าน ครม.แต่ยังไม่ผ่านในชั้นกรรมาธิการของ สนช.3 วาระ และประกาศใช้จะยังไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสามารถปรับแก้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายยา ภาษีมรดก หรือสาธารณสุข จะออกมาอย่างนั้นหรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะกรรมาธิการต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ถ้าไม่ใช่ก็ปรับแก้ แต่ที่ ครม.ต้องเร่งพิจารณาเพราะมีเวลาจำกัด และกฎหมายมีหลายร้อยฉบับ อะไรที่ผ่านได้ต้องผ่านไปก่อน แล้วไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ จะได้ไม่เกิดความรีบร้อน บางเรื่องเสนอเข้าไปตั้งแต่ คสช.เริ่มมาบริหารประเทศ ตอนนี้ยังไม่ออกมาเลยก็มี