- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Monday, 26 January 2015 07:59
- Hits: 3150
นายกฯแจงความคืบหน้ารถไฟไทย-จีน,เขตเศรษฐกิจพิเศษ,การท่องเที่ยว,ภาคการเกษตร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ"ว่า เรื่องความคืบหน้าการปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้มีการเตรียมการประชุมฝ่ายไทยสำหรับการประชุมร่วมไทย - จีน ครั้งที่ 1 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในเส้นทางหนองคาย - นครราชสีมา - แก่งคอย - ท่าเรือมาบตาพุด และกรุงเทพ - แก่งคอย ที่ได้มีการลงนาม MOU กับจีนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ก็จะมีการลงพื้นที่สำรวจศึกษาออกแบบก่อสร้างในวันที่ 1 มีนาคมนี้ แผนการก่อสร้างตามที่ตกลงกันไว้นั้น จะแย่งเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร (กม.) ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. ช่วงที่ 2 แก่งคอย - มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. ช่วงที่ 3แก่งคอย -นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม.และช่วงที่ 4 นครราชสีมา - หนองคาย 355 กม.ทั้งนี้ เราคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างงานโยธาในวันที่ 1กันยายน 2558 ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ก็ได้เตรียมการสำหรับการพัฒนาเส้นทางเพิ่มเติมในการเจรจาการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผมจะเดินทางไปพบปะกับผู้นำประเทศญี่ปุ่นในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อแสวงหาความร่วมมือร่วมกัน
สำหรับ ในส่วนของการพัฒนารถไฟฟ้านั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้า อาทิ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็เร่งดำเนินการในส่วนที่ยังไม่เรียบร้อย ทุกเส้นทางให้ได้ข้อยุติโดยเร็วด้วย
เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ อันนี้ถือว่าเป็นนโยบายหนึ่งที่จะส่งเสริมในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคของเราได้อย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่มมูลค่าในการค้าขายระหว่างกัน ปัจจุบันนั้นประเทศไทยมีเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนที่สำคัญถึง 13 จุด คิดเป็นมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันเกือบ 8 แสนล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้น ที่มีการค้าขายนั้นยังไม่เพียงพอ รัฐบาลก็จึงได้มีนโยบายที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นที่เรามีโอกาสอยู่แล้วให้เป็นฐานการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและภูมิภาค โดยจะพัฒนาให้มีระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงทั่วถึงกัน มีการวางผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งหลายอย่างก็ได้อนุมัติไปแล้วในรัฐบาลนี้ แล้วก็มี 5 พื้นที่หลักในปี 2558 ได้แก่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
ทั้งนี้ ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ไปศึกษาเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่ที่จะผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 ด้วย ก็จะเป็นชุดเชื่อมผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย หนองคาย กาญจนบุรี นครพนม และนราธิวาส
พื้นที่ในจังหวัดเหล่านี้นั้น นอกจากจะเป็นศูนย์การผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญแล้ว ยังสามารถที่จะพัฒนาพื้นที่ในด้านการลงทุน การท่องเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนสินค้าและอื่น ๆ ด้วย แล้วก็เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ เชื่อมต่อกันในทุกภูมิภาคได้แล้วก็จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยกระจายรายได้ เพิ่มมูลค่าการค้าขายแล้วก็ส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ปี 2558 นั้น เราคงนำร่องได้ใน 5 พื้นที่แรกนี้ก่อน คงต้องใช้เวลาเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย การจัดทำผังเมือง การกำหนดระเบียบต่างๆ ในช่วงนี้ต้องขอความร่วมมือ ซึ่งภาคเอกชนหลายบริษัทก็พร้อมที่จะมาร่วมลงทุนด้วย เพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่คราวนี้เราต้องเร่งให้เกิดให้ได้ ถ้าไม่เกิดปีนี้ปีหน้าก็ช้าไปอีก เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดได้เกิดเลย พื้นที่ตรงไหนจะเอาตรงไหน ตรงไหนมีความพร้อมจะเอาพวงไปก่อนถ้ารองบประมาณที่ต้องปรับสาธารณูปโภคใช้เงินเป็นอีกแสนล้าน ซึ่งผมคิดว่ายังทำไม่ได้ตอนนี้ เพราะฉะนั้น ตรงไหนเกิดได้เกิดก่อนแล้วเราค่อยพัฒนาไปสู่อนาคตให้ได้อย่างรวดเร็ว
เรื่องของการสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตร เราจำเป็นมาก เพราะมีความเดือดร้อนของประชาชนที่มีรายได้น้อย ความมั่นคงของพลังงานของอาหาร การผลิต การตลาด ความเข้มแข็ง การใช้เทคโนโลยี การตลาดกลางการเกษตร เพิ่มความเข้มแข็งสหกรณ์ การจดทะเบียน การขึ้นบัญชี ต่าง ๆ เรายังไม่ค่อยเรียบร้อย ผมก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วย ทุกกระทรวงได้ดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อจะได้ใช้ในการแก้ปัญหาให้ได้ ถ้าเรายังใช้ปัญหาวิธีเดิมแก้ไม่ได้ยังไงก็แก้ไม่ได้แล้วเราก็ต้องหมดเงินไปมหาศาล ก็เห็นใจพี่น้องชาวเกษตรกร ถ้าผมไม่เห็นใจท่านแล้วจะไปเห็นใจใคร แต่วิธีการแก้ปัญหาก็ต้องใช้เวลา ใช้เงินมหาศาล อันนี้ก็ต้องเข้าใจกัน มาพูดคุยกันว่าอันไหนก่อนอันไหนหลัง ถ้าทั้งหมดพร้อม ๆ กันทุกอย่างไม่ได้หรอก เพราะว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลมีหลายส่วนด้วยกัน
เรื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน วันนี้ก็ต้อง ขับเคลื่อนให้ได้ ก็มีหลายอย่างที่ต้องพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ SMEs ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กก็หลายอย่าง ซึ่งมีแนวโน้มที่สูงขึ้นหลายอย่างก็ลดลง ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะส่งเสริมตรงไหนก่อน ตรงไหนก็ไม่ควรจะทำต่อไปอะไรที่มีรายได้ วันนี้เดิมนั้นมีรายได้จากภาคการเกษตร วันนี้เท่าที่ผมดูสรุปจาก สสบ. นั้น ในปี 2556 สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือเรื่องของธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการ และการซ่อมแซมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แต่เกี่ยวกับเรื่องของการเกษตรลดลงมากนี้ แสดงให้เห็นว่าภาคการเกษตรเราไม่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นต้องไปดูมาว่าจะทำอย่างไร
อีกเรื่องที่อยู่เป็นอันดับสองก็คือ เรื่องธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการค้าขนาดเล็กค้าปลีกอะไรทำนองนี้ ก็มีการเจริญเติบโตขึ้นก็คงต้องไปดูกันกำหนดเป้าหมายชัดเจน เราจะแก้ไขตรงไหนอย่างไรจะเข้าถึงกองทุนได้อย่างไร จะแก้กฎหมายตรงไหน ผมว่าต้องกำหนดเป้าหมายชัดเจนในแต่ละเรื่องจะได้จัดลำดับความเร่งด่วนได้ในการเข้ากับไปแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นก็ถ้าเรามองใหญ่อย่างเดียว ตรงกลางตรงเล็กก็ไม่ได้ ถ้ามองรายได้ปานกลาง ผู้มีรายได้น้อยก็ไม่ถึง ก็ต้องไปดูกันให้ถึงข้อสำคัญก็คือว่าทุกคนทุกส่วนต้องร่วมมือกัน และเข้าใจนโยบายของรัฐบาล แล้วก็เผื่อแผ่แบ่งปันกันบ้าง ถ้าทุกคนเอาพร้อมกันไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้ต้องช่วยกัน แล้วก็พ่อค้าคนกลาง วันก่อนเขาให้เรียกมาคุยกันรู้ว่ามีหลายกลุ่ม 10 กลุ่มยอมรับอีก 1 กลุ่มไม่ยอมรับ นี่ก็คือปัญหาอีกแล้วไม่ว่าจะเป็นปาล์ม เป็นยาง ทำไมจะรวมกันไม่ได้ รวมกันเป็นของภาคได้หรือไม่ แล้วก็จดทะเบียนจากรัฐให้เรียบร้อย บางอันก็ไม่ได้จด บางอันก็ทำในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมายเหล่านี้ ทำอย่างไรถ้าจะให้เราช่วยก็ต้องมาเข้าระบบ เข้าระเบียบกับเราด้วย ทุกคนจะได้มีรายได้ เราไม่ไปทำร้ายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากฎหมายก็ต้องใช้ ไม่เช่นนั้นวันข้างหน้าก็ต้องวุ่นวายกันอีก ไม่มีวันจบสิ้น
การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ ก็เร่งดำเนินการหมด ปรับปรุงท่าเรือ ปรับปรุงสนามบิน เรื่องการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการบิน ซึ่งมีผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องของรัฐวิสาหกิจด้วย หลาย ๆ อย่างก็ฟื้นฟูอยู่ อะไรที่ขาดทุนก็ฟื้นฟู ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ต้องรื้อกันทั้งหมด จะเห็นได้ว่างานมีมากในปัจจุบัน
เรื่องของการท่องเที่ยว ก็มีความคิดว่าทำอย่างไรเราจะเพิ่มการท่องเที่ยวทางน้ำได้บ้าง เคยเรียนไปแล้ว เรื่องการจัดที่จอดเรือ ท่องเที่ยวต่างประเทศ เรือครูซ เรือยอร์ช เหล่านี้อาจจะไม่มากมายนัก แต่เป็นความคิดใหม่ ๆ ที่อยากให้เป็นรูปธรรมให้มากขึ้น ถ้าเราไม่ปรับตัวเองวันนี้ ไปไม่ได้วันหน้า ทุกอย่างจะถอยหลังไปเรื่อย ๆ ประเทศรอบบ้านเขาพัฒนา แล้วเราไม่พัฒนาได้อย่างไร
การท่องเที่ยวทางเรือ วันนี้ก็คุยกับประเทศเวียดนามไว้แล้วว่า ปีหน้าเราจะขับรถไปเที่ยวเวียดนามกันได้หรือไม่ หรือว่านั่งเรือท่องเที่ยวไปบริเวณชายฝั่งก็แวะนั้น แวะนี่ไปเรื่อย ๆ เรือไม่ต้องใหญ่โตมากนัก และไปถึงเวียดนามได้ ก็สัญญากันไว้ว่าจะทำให้ได้ในปี 2558 ก็ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งดำเนินการให้เกิดด้วย
นอกจากนั้น การท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็เช่นเดียวกัน อยากจะใช้คำว่า“ไทยเที่ยว และ เที่ยวไทย" ผมคิดง่าย ๆ ไทยเที่ยวก็คือคนไทยก็เที่ยว เที่ยวที่ไหนก็เที่ยวไป จะเที่ยวที่ไหนก็ตามความสมัครใจ และเที่ยวไทย คือ ต่างประเทศก็มาเที่ยวประเทศไทย ใช้คำง่าย ๆ เหล่านี้ก็น่าจะสร้างความรับรู้ให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้ท่องเที่ยว เป็นห่วงโซ่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้ามาดูแลให้ปลอดภัย เมื่อวานก็มีการประชุมกันหลาย ๆ เรื่อง เรื่องของการท่องเที่ยว มีจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวให้ชัดเจนขึ้น เราจะนำการท่องเที่ยวไปอยู่ยุคใหม่ได้อย่างไร เชื่อมโยงกับต่างชาติได้อย่างไร และปรับปรุงเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ตำรวจท่องเที่ยว มีการพูดคุยกันหลายประเด็น อันนี้ก็เป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสนอมา มีการประชุมไปแล้ว ก็คงจะขับเคลื่อนได้ในเร็ววันนี้
เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สำคัญก็มีทั้งป่าต้นน้ำ และบริเวณตอนกลางและตอนล่าง ซึ่งทั้งขาดน้ำ น้ำท่วม เก็บกักน้ำ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ต้องมาดูกันทั้งหมด วันนี้เราอยากจะวางพื้นฐานเหล่านี้ไว้ให้ได้เท่านั้น
เรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ อันนี้ต้องการให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในการใช้บริการอย่างแท้จริง บางอย่างก็มีปัญหามาก ทั้งคณะกรรมการ ทั้งวิธีการ อะไรต่าง ๆ ก็แก้ไปเท่าที่แก้ได้ ขณะนี้ก็เดินหน้าไปได้มากพอสมควร ยังไม่เสร็จ 100%
เรื่องการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมเทคโนโลยีของชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน สร้างความเชื่อมโยงความร่วมมือด้าน ICT กับประเทศอาเซียนและประเทศอื่นในภูมิภาค เมื่อวันก่อนรัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรี ICT อาเซียน มาทุกประเทศ 10 ประเทศบวกกับประเทศคู่เจรจา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็มาด้วยหมด ผมไปเปิดมาเมื่อวาน ทุกคนก็มีความสุขที่มาประเทศไทย เขาชื่นชมและเป็นรัฐมนตรีตัวจริงทั้งหมด ทุกคนมาประเทศไทยหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้มีความสุขมากที่สุด สิ่งที่ชอบขอให้เลี้ยงเขามาก ๆ หน่อย คือทุเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมอนทอง ก้านยาว เลือกด้วย ก็ได้สั่งจัดให้ไปแล้ว ทุกคนก็มีความสุขในการมาประเทศไทย เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับเราด้วย และวันหน้าเราก็ไปค้าขายผลไม้มาก อะไรมากขึ้น และการท่องเที่ยวคงจะดีขึ้น ผมก็ได้บอกเขาทุกประเทศว่า 10 ประเทศ +3 ถ้าเรารวมกันได้ทั้งหมด จะเป็นอาเซียนที่แข็งแรง เข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง ในการกำหนดราคาสินค้า ทั้งนี้ เพื่อจะมีมูลค่าของรายได้ต่อ GDP เข้าประเทศที่ทัดเทียมกันบ้าง จะได้ปรับปรุงไปพร้อม ๆ กับประเทศที่เข้มแข็ง
วันนี้ ประเทศไทยยังค่อนข้างจะมีรายได้น้อย สำหรับประเทศอาเซียนทางเกษตรกรรม แต่สิ่งที่เราได้เปรียบอยู่ในขณะนี้คือเรื่องการเป็นประเทศหรือกลุ่มประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก ก็ต้องรู้ความสำคัญตรงนี้ อยากจะบอกพ่อแม่พี่น้องชาวเกษตรกรด้วยว่า ขอให้ภูมิใจ ได้ทำกุศลไว้ ทำให้คนได้มีอาหารทาน เราก็ต้องพยายามดูแลให้ได้มากที่สุด แต่ต้องจัดระเบียบ ถ้าเราไม่ได้จัดระเบียบกันเลย เราก็ไม่รู้ว่าเราจะปลูกอย่างไร ให้ลดต้นทุนได้ ทำอย่างไรจะมีการตลาดที่เหมาะสม ทำอย่างไรจะไปสู้ต่างประเทศได้ ต้องเข้าใจทั้งระบบเหมือนกัน ถ้าแต่ละส่วนทางภาคการผลิตก็เอาราคาสูงที่สุด ตลาดก็มีคนกลางเข้ามาก็จะเอาสูงสุดอีก ตลาดภายนอกต้องไปขายให้เขา ราคาก็ต่ำลง ผมถามว่าแล้วเราจะทำอย่างไร สิ่งนี้แก้ทีละชิ้นไม่ได้ ต้องแก้ทั้ง 3 ส่วน อยากให้พี่น้องประชาชนนั้น มีรายได้ มีเงินใช้ทุกคน เพราะผมได้กล่าวไปแล้วว่าเราต้องเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ใน 5 ปี อย่างน้อยต้องดีขึ้น
เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างยั่งยืน วันนี้มีหลายคณะกรรมการขับเคลื่อนไปทั้งหมด หลายอย่างก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คงมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ
เรื่องการเตรียมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ได้มีการสั่งการไปมาก ก็เดินหน้าไปเรื่อย ๆ การจดทะเบียน การเตรียมแรงงาน การเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้ที่ยังไม่มีงานทำ เพื่อไปรองรับการขาดแคลนแรงงานประมาณแสนคน ในปีหน้าตอนนี้ประมาณ 6 - 7 หมื่นคน ที่จะเข้าไปทำงานตามโรงงานที่เกิดขึ้นมาจากการที่รัฐบาลสนับสนุนการส่งเสริมโรงงาน การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ก็มีหลายพันโครงการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีก ตอนนี้ต้องหาแรงงานให้ได้ คนไทยก็ไม่ชอบทำด้วย ทำอย่างไร และจะหาจากที่ไหนมา และทำอย่างไรคนไทยจะเข้าไปสู่กระบวนการเรียนรู้เทคโนโลยี เป็นหัวหน้างาน สิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมความพร้อม บางอย่างที่ผมพูดมาแล้วทั้งหมดนั้นดูมาก ที่พูดมา 7 เดือนว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่สำเร็จหมดหรอกครับ