- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Friday, 23 January 2015 21:53
- Hits: 3100
‘ประยุทธ์’สั่งส่วนราชการเร่งเบิกจ่ายงบฯ อัดฉีดเม็ดเงินขับเคลื่อนศก.
แนวหน้า : นายกรัฐมนตรีกำชับส่วนราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ต้องกำหนดราคากลางใหม่ให้สอดคล้องกับราคาดีเซลที่ลดลง ส่วนหน่วยงานใดสำรวจออกแบบไม่ทัน 18 กุมภาพันธ์นี้ มีสิทธิ์วืดรับการจัดสรรงบปี’59 ล่าสุดมีหน่วยงานรัฐแห่ของบลงทุนทะลุ 5.9 แสนล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 จัดโดยสำนักงบประมาณ โดยมีคณะรัฐมนตรี(ครม.) และผู้บริหารจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเข้าร่วม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจัดทำงบประมาณเพื่อให้เกิดการบูรณาการและความพร้อมในการบริหารการใช้จ่ายให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล วันนี้การจัดทำงบประมาณต้องมีประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายทุกคนต้องทราบว่าประเทศต้องการอะไร วันนี้เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งต่อประเทศในทุกมิติ เพื่อเข้าสู่วิสัยทัศน์มั่นคงและยั่งยืน ในช่วงปี 2015-2020
“วงเงินงบประมาณปี 2559 ได้กำหนดไว้แล้วโดยจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบงบประมาณปี 2558 คือคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือคตร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การลงไปตรวจสอบไม่ได้ต้องการจับผิด เพียงแต่จะขับเคลื่อนให้ทำงานให้ดีที่สุด เพราะต้องเร่งรัดให้ทันเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนประเทศภายใน 1 ปี เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี”
สำหรับ แนวทางการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 การบูรณาการระดับกระทรวง หน่วยงานและระดับพื้นที่ การจัดลำดับความสำคัญของภารกิจ โดยให้ความสำคัญตามแผนบูรณาการ 19 งานที่กำหนดไว้ การชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินภารกิจที่มีความสำคัญระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น การพิจารณาการใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ต้องการให้ส่วนราชการเตรียมการเบิกจ่ายงบประมาณงบฯ ปี2559 ให้มีประสิทธิภาพ หลังจากงบฯ ปี 2558 มีปัญหาการเบิกจ่ายได้น้อยมาก โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลให้ความสำคัญความโปร่งใสต่อการจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ ต้องคำนวณราคากลางให้เหมาะสมยอมรับว่าจากการเข้มงวดป้องกันการทุจริตทำให้ประหยัดงบประมาณได้สูงมาก
แม้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 2.525 ล้านล้านบาท ในปี 2558 เป็น 2.72 ล้านล้านบาท ในปี 2559 แต่รัฐบาลยังต้องระวังการใช้จ่ายงบประจำให้คงที่ และที่ต้องใช้งบประมาณแบบขาดดุล เพราะยังต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐยังไม่พอกับรายจ่าย ขอให้ทุกส่วนเน้นการดูแลราคาสินค้าเกษตรผลักดันให้ราคาสูงขึ้น อย่าปล่อยให้สินค้าเกษตรกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และขอเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสการใช้งบประมาณ
ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ กล่าวว่า ขณะนี้มี 20 กระทรวง กับอีก 8 หน่วยงาน ได้ยื่นของบลงทุนในปี 2559 รวม เป็นวงเงิน5.96 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการอย่างแท้จริง เพื่อตัดงบลงทุนให้อยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ 5.44 แสนล้านบาท หรือ 20% ของงบประมาณรายจ่าย
“การพิจารณางบลงทุนของหน่วยงานต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการวางรากฐานการพัฒนาประเทศแล้ว ยังต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมลงทุนจริง ต้องมีรายละเอียดเงื่อนไขการประมูล และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การสำรวจออกแบบแล้ว ถึงจะได้พิจารณา หากไม่มีก็จะตัดออกไม่ได้งบลงทุนในปี 2559 ทันที”
สำหรับ โครงการที่ยังไม่ได้ศึกษาสำรวจออกแบบ สามารถทำเรื่องของบประมาณปี 2558 จากสำนักงบประมาณเพื่อนำไปดำเนินการเรื่องดังกล่าว แต่หากเมื่อถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ แล้วยังสำรวจออกแบบไม่พร้อม โครงการลงทุนดังกล่าวก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนปี 2559 เช่นกัน สำหรับโครงการลงทุนของงบประมาณปี 2559 จะต้องเริ่มทำสัญญากับผู้รับเหมาได้ตั้งแต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2559 ในวาระ 2 และ 3 เพื่อให้การเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้เร็ว ส่วนการกำหนดราคากลางจะต้องปรับราคาให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงต่อเนื่อง โดยกำหนดราคากลางขึ้นใหม่ เพื่อนำราคากลางประกาศใหม่ตามระเบียบพัสดุ สำนักนายกรัฐมนตรี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2559 มีวงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.6% มีการประมาณการรายได้ไว้ 2.33 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท หรือ 2.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุน 5.44 แสนล้านบาท หรือ 20% ของงบประมาณรายจ่าย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 17.5% การเพิ่มงบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้น มีการปรับพื้นฐานด้านสังคมทั้งการศึกษาและสาธารณสุข