- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 13 January 2015 23:01
- Hits: 2651
ประยุทธ์ นำคณะ คสช.หารือภาคเอกชนเสนอแนวทางร่วมขับเคลื่อนศก.ประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในเปิดบ้านพักร่วมกับกรรมการ คสช.หารือตัวแทนองค์กรด้านธุรกิจ และนักธุรกิจภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก การเงินการธนาคารราว 25 คนที่เข้ามาเสนอแนวทางให้รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอีก ซึ่งเป็นผลกระทบจากทั่วโลก โดยยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลในทุกด้าน
"ไม่ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจ แต่พูดคุยถึงปัญหาของแต่ละภาคตธุรกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้วางแนวทางระยะสั้นและระยะยาว 5 ปีไว้แล้ว และรับไปจัดการปัญหาแต่ละธุรกิจในทุกจุด ท่านมีโรดแมพรับจะไปจัดการทุกอย่าง และขอช่วยขับเคลื่อนกับรัฐบาล"นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการหารือ
ทั้งนี้ นายอิสระ กล่าวว่า ในระหว่างการหารือได้เสนอให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายโครงการต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่ และการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวสวนยาง และอยากให้มีความขัดเจนในโครงการบริหารจัดการน้ำที่ยังล่าช้า การจัดโซนนิ่งการเกษตรกรและสนับสนุนให้มีอาชีพเสริม เพื่อแก้ปีญหาด้านการเกษตรในระยะยาว
นอกจากนั้น ภาคเอกชนยังแสดงความเห็นด้วยกับมาตรการการส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย แต่อยากให้เร่งร่างหลักเกณฑ์ปฏิบัติเพื่อรีบประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนต่างชาติรับทราบ พร้อมทั้งส่งเสริมให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายต่อต้านคอรัปชั่น
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลผลักดันให้การส่งเสริม SME เป็นวาระแห่งชาติ โดยเสนอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยดูแลงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ SME มีศักยภาพเข้มแข็งมากขึ้น และเข้าไปช่วย SME เฉพาะกลุ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านอีคอมเมิร์ชและภาคการเงิน
นอกจากนั้น ยังเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อจาก 18% เป็น 40% รวมทั้งเสนอให้ยกเว้นการสอบภาษีย้อนหลังของ SME และแนะนำการเสียภาษีที่ถูกต้อง เพื่อผลักดัน SME ที่มีจำนวนกว่า 2 ล้านรายเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในระบบมากขึ้น
ขณะที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารอยากเห็นคือการผลักดัน กม.หลักประกันธุรกิจ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของธนาคารมีประสิทธิภาพ และกม.ที่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากการรับฟังแนวทางของนายกรัฐมตรีก็เห็นความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้านนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า เสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องขั้นตอนการขออนุญาต EIA ให้มีความรวดเร็ว รวมทั้งอำนวยความสะดวกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างมากกว่า 70% และคงอัตราภาษีที่ดินเพื่อส่งเสริมการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน
ส่วนนางสาวศุกลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ภาคเอกชนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและเห็นความมุ่งมั่นใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยเชื่อว่าหลังจากนี้จะเห็นอนาคตเศรษฐกิจสดใสมากขึ้น จึงได้เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมภาคเอกชนในด้านโครงกสร้างต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยวนั้น นายกรัฐมนตรีก็ระบุว่ากำลังจะพัฒนาให้ท่าเรือภูเก็ตเป็นริเวียร่าฝั่งตะวสันออก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งภาคเอกชนก็เสนอให้รัฐบาลเร่งวางยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเพื่อเข้าสู่ AEC
อินโฟเควสท์