- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Monday, 12 January 2015 09:56
- Hits: 3305
เปิดบ้านถก 20 เอกชนกู้ศก. บิ๊กตู่จิบชา สอท.ชงคสช.ใช้คำสั่ง อุ้มเกษตรกร-สู้วิกฤต ขุนคลังตั้งกก.รื้อภาษี ดันขยายฐาน-ลดทุจริต พณ.บี้ปูน-ปุ๋ยลดราคา
'บิ๊กตู่'สวมหมวกหัวหน้า คสช. เปิดบ้านเกษะโกมลจัดเวทีจิบน้ำชาหารือนักธุรกิจ แลกเปลี่ยนความเห็นด้านเศรษฐกิจ พร้อมรับฟังเรื่องให้ช่วยเหลือ สภาอุตฯหนุนใช้อำนาจ คสช.แก้ปัญหาเร่งด่วน-ช่วยเกษตรกร
@ "บิ๊กตู่"จิบน้ำชาหารือนักธุรกิจ
เมื่อวันที่ 11 มกราคม ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 20 คน เข้ามาพูดคุยหารือในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ที่บ้านเกษะโกมล วันที่ 12 มกราคม เวลา 14.00 น. เป็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมสอบถามถึงปัญหาอุปสรรค โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมหารือด้วย
"สำหรับภาคธุรกิจ อาทิ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยจะมีการจิบน้ำชาและคุยกัน ซึ่งในกรอบของ คสช. ทาง พล.อ.ประยุทธ์ต้องการติดตามความคืบหน้าภาคธุรกิจของไทยว่ามีปัญหาด้านใดที่ต้องการให้ช่วยเหลือ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาสภาพเศรษฐกิจทั้งการค้าการลงทุน ที่ภาคธุรกิจอาจมีปัญหาที่ต้องการให้ คสช.ประสานกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่อไป" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว
@ สอท.หนุนใช้อำนาจคสช.แก้ศก.
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันที่ 12 มกราคมนี้ ส.อ.ท.และตัวแทนภาคเอกชนจะร่วมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง ส.อ.ท.เตรียมข้อมูลการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศควบคู่ไปกับการดูแลราคาสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยปัจจุบันยังมีเอสเอ็มอีนอกระบบมาก ทำให้การดูแลไม่ครอบคลุม และยังมีปัญหาด้านสภาพคล่องและนวัตกรรมที่รัฐควรเข้าไปดูแล
"ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการทำงานของรัฐหลายเรื่องระยะหลังค่อนข้างล่าช้า แม้นายกฯจะมีความตั้งใจก็ตาม ดังนั้นหากมีการใช้อำนาจของ คสช.ก็น่าจะดำเนินการให้รวดเร็วเมื่อเทียบกับอำนาจรัฐบาล อย่างเรื่องเกษตรก็เป็นเรื่องด่วน ถ้าให้รัฐบาลแก้ปัญหาจะเหนื่อยแน่นอน" นายสุพันธุ์กล่าว
@ "พิชัย"ชม"บิ๊กตู่"ลุยแก้ศก.เอง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขอชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลงมาตรวจภาวะเศรษฐกิจด้วยตนเอง โดยจะประชุมร่วมกับเอกชนเพื่อให้ทราบข้อมูลทางเศรษฐกิจ จะได้ทราบว่าเศรษฐกิจฟื้นจริงหรือไม่ เป็นไปตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี บอกหรือไม่ เพื่อจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง
นายพิชัย กล่าวว่า อยากให้เอกชนที่เข้าประชุมให้ข้อมูลแก่ พล.อ.ประยุทธ์อย่างตรงไปตรงมาในทุกเรื่อง นอกจากยอดการส่งออกลดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุน เพราะต่างประเทศหนีไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ยอดส่งเสริมการลงทุนของไทยเหลือแค่ 7 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว จากยอดกว่า 1 ล้านล้านในปี 2556 และผลกระทบจากกฎอัยการศึกต่อการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามา อีกทั้งการใช้จ่ายในประเทศที่ลดลงจนน่าตกใจ
@ "อุ๋ย"สั่งประเมินศก.โลก-น้ำมัน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรสั่งให้ทุกฝ่ายจัดทำข้อมูลเพื่อประเมินผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และให้ประเมินทั้งภาพรวมและเป็นรายภาคว่าผลจากราคาน้ำมันถูกลงจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตคือราคาน้ำมันลดลง นอกจากนี้ การปรับเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีความชัดเจนขึ้น รวมถึงกระบวนการออกใบอนุญาตต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมเร็วขึ้น เอื้อต่อการลงทุนของเอกชนมากขึ้น
"การประชุมครั้งนี้ มีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจแต่ยังไม่ได้ตัวเลขที่ชัดเจน โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนัดหารืออีกครั้งในสัปดาห์นี้" นายปีติพงศ์กล่าว
@ น้ำมันหล่อลื่นจ่อลดราคา
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมจะเรียกผู้ประกอบการกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับลดราคาน้ำมัน มาหารือและขอให้ทบทวนราคาขายใหม่ที่ลดลง โดยสัปดาห์นี้จะหารือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูนซีเมนต์ และปุ๋ย พร้อมกันนี้ กำลังหารือวิธีการจัดการควบคุมสินค้าในภาวะราคาน้ำมันขาลง เพื่อให้เป็นธรรมกับผู้บริโภคและไม่กระทบต่อภาคธุรกิจ
นายสันติชัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้หารือกับผู้ประกอบการน้ำมันหล่อลื่น 20 ราย หลังราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการยินดีจะทบทวนราคาจำหน่าย แต่ขอจัดทำรายละเอียดและประชุมภายในองค์กรก่อน จากนั้นจะส่งโครงสร้างราคาใหม่ให้กรมพิจารณาในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าน้ำมันหล่อลื่นจะเป็นสินค้ากลุ่มแรกๆ ที่จะปรับลดราคาได้ในเดือนมกราคมนี้
"ขอให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นำร่องปรับลดราคาเพื่อให้ยี่ห้ออื่นๆ ลดลงตาม ทั้งนี้ ภาคเอกชนขอเวลาตรวจสอบสต๊อกและต้นทุนใหม่ที่จะมีเรื่องค่าเงินบาทอ่อนที่จะมีผลต่อต้นทุนนำเข้าพิจารณาด้วย จึงยังไม่สามารถลดตามราคาน้ำมันได้ทันที แต่เชื่อว่าต้องลดลงแน่นอน" นายสันติชัยกล่าว
@ เอกชนยังกั๊กลดราคาสินค้า
แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ากล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าตามที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือ หลังราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงเหลือ 26.39 บาทต่อลิตร เนื่องจากที่ผ่านมาช่วงราคาน้ำมันแพง ผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เพราะรัฐบาลเกือบทุกสมัยขอความร่วมมือเชิงบังคับให้ตรึงราคาสินค้าตั้งแต่ 3-6 เดือนเพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชน ส่งผลให้สินค้าหลายชนิดไม่ได้ปรับขึ้นราคามานาน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดวันละ 300 บาทของรัฐบาลชุดที่แล้ว อย่างไรก็ตามกำลังซื้อในต่างจังหวัดที่ลดลงเนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น ยางพารา และข้าว ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เป็นช่วงๆ แทนการประกาศปรับลดราคาสินค้า
"หากปรับลดราคาสินค้าแล้วเมื่อน้ำมันตลาดโลกขึ้นอย่างรวดเร็วผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ สุดท้ายจะยิ่งขาดทุนมากขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว
@ ส.อ.ท.จี้ลดค่าไฟฟ้าลงอีก
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟงวดหน้า (พฤษภาคม-สิงหาคม 2558) มากกว่างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2558 ที่ปรับลด 10.04 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงมาก การปรับลดค่าไฟที่ผ่านมาน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่ลดลง หากปรับลดค่าไฟซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตสินค้ามากกว่านี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากกว่านี้
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ อยากให้กระทรวงพลังงานชะลอการปรับขึ้นค่าก๊าซเอ็นจีวีและก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพลังงานปรับขึ้นราคาตามโครงสร้างราคาพลังงานใหม่อย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแกร่ง การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก ปีนี้ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศรวมทั้งการค้าชายแดน
"ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อสะท้อนทุนที่แท้จริง แต่อยากให้ค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น เพราะตอนนี้ปรับขึ้นราคามาพอสมควรแล้ว ถ้าสะท้อนต้นทุนแท้จริงเร็วจะยิ่งส่งผลกระทบกับกำลังซื้อประชาชน" นายสุพันธุ์กล่าว
@ แจงเหตุลดราคาสินค้าไม่มาก
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือเอกชนลดราคาสินค้าหลังราคาน้ำมันลดลงนั้น คงต้องพิจารณาเป็นรายสินค้า และหากต้นทุนพลังงานขึ้น รัฐต้องชัดเจนว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นได้เช่นเดียวกัน
"แต่ละสินค้ามีต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานต่างกัน ดังนั้นการลดราคาแต่ละรายอาจไม่เท่ากัน ต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาเอกชนมีต้นทุนเพิ่มขึ้นหลายด้าน แต่ราคาสินค้าต้องตรึงไว้เพราะมีการแข่งขันในตลาดที่สูง เนื่องจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวมากทำให้เอกชนไม่สามารถขึ้นราคาได้เช่นกัน ดังนั้นแนวโน้มการลดราคาสินค้าอาจได้ไม่มากนัก" นายวัลลภกล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การที่ระดับราคาสินค้าจะลดลงให้สะท้อนต้นทุนน้ำมันนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลควรดำเนินการก่อนคือปรับลดค่าโดยสารรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา นำร่องก่อน
"ถ้ารัฐลดค่าบริการเหล่านี้ได้จะทำให้ทุกภาคส่วนลดต้นทุนเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง ช่วงน้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น ก็ไม่สามารถจะปรับราคาสินค้าขึ้นได้" นายธนิตกล่าว
@ พณ.เร่งแก้กม.แข่งขันการค้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 มกราคมนี้ ให้ความเห็นชอบบัญชีรายการสินค้าควบคุม 43 รายการ และสินค้าติดตามดูแลอีก 200 รายการ ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นรายการเท่าเดิมเหมือนปี 2557 เพื่อประกาศบังคับใช้ในการออกมาตรการดูแลสินค้าดังกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ภายในเดือนมกราคมนี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะเสนอ ครม.เห็นชอบยกร่างแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่ปรับปรุง 8 เรื่อง อาทิ เกณฑ์อำนาจเหนือตลาด การควบรวมธุรกิจแยกเป็นองค์กรอิสระ และเพิ่มบทลงโทษ จะเร่งดำเนินการเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกมาบังคับใช้โดยเร็ว
@ "สมหมาย"ดันตั้งกก.ปฏิรูปภาษี
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ภาคเอกชนไทย หากยังอยู่ในตำแหน่งอีก 1 ปีตามอายุของรัฐบาล จะปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างเต็มที่
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มาจากการเมือง ขาดความกล้าที่จะปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพราะกลัวสูญเสียฐานการเมือง แต่ผมไม่กลัว เพราะรัฐบาลชุดนี้เข้ามาเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงถือเป็นโอกาสดีของผมที่จะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง" นายสมหมายกล่าว
นายสมหมาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงอัตราภาษีไปหลายรายการ เช่น การเสนอ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก และ พ.ร.บ.ภาษีการรับให้ การลดอัตราภาษีสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท การนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อน การลดอัตราภาษีนำเข้า 1,274 รายการ เป็นต้น ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้กังวลเรื่องการจัดเก็บรายได้ เพราะถือเป็นการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในอนาคต
@ ตั้งเป้าขยายฐานภาษี-ลดโกง
นายสมหมาย กล่าวว่า ปีนี้ตั้งเป้าหมายจะปฏิรูปโครงสร้างภาษีภายใต้นโยบาย 2 ด้าน คือ 1.ขยายฐานภาษีและอุดรูรั่วไหล กระทรวงการคลังจะเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้บังคับใช้ภายในกลางปี 2560 จะเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท ส่วนการอุดรูรั่วไหลของภาษีนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษี 2.ลดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บภาษี กำชับให้นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ลดการทุจริตในกรมศุลกากรให้เหลือน้อยที่สุด หากมีทุจริต 100% ต้องลดเหลือ 5%
"การอุดรูรั่วไหลของภาษีและการทุจริตของกรมภาษีมีการพูดกันมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครลงมือทำ อาจมาจากการขาดเอกสารหลักฐาน เพราะสมยอมทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียภาษี เช่น การโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 4,000 ล้านบาท แต่ถ้ามีคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีก็จะมีความชัดเจน เพราะคณะกรรมการฯชุดนี้จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย" นายสมหมายกล่าว
นายสมหมาย กล่าวว่า กระแสข่าวข้าราชการที่จัดเก็บภาษีทุจริตหรือเรียกเงินใต้โต๊ะมีเรื่องเล่าหนาหู แต่ไม่มีใครกล้าให้หลักฐานทำให้เอาผิดข้าราชการยาก จึงให้มีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อช่วยกันปิดช่องโหว่
@ สุภิญญาฉะรบ.ทำ"กสทช."ถอยหลัง
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากกรณีที่ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับ กสทช.นั้น เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ถ้าจะแก้ ก็ควรแก้ให้ดีขึ้น ไม่ควรแก้ให้ถอยหลังกว่าเดิมเช่นนี้
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ตามหลักสากลแล้ว การแก้กฎหมายหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องจัดสรรคลื่นความถี่อย่าง กสทช. จะเน้นการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค แต่การแก้กฎหมายครั้งนี้ของรัฐบาลกลับแก้ให้ไปเน้นเฉพาะเรื่องความมั่นคงรัฐเป็นหลัก การออกกฎหมายใหม่นี้ควรถามความเห็นจากประชาสังคม ผู้บริโภคด้วยว่าคิดเห็นอย่างไร เรื่องใหญ่ขนาดนี้ รัฐบาลไม่ควรจะสรุปเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่รัฐบาลอนุมัติมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. อาทิ แผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าควรจัดประมูลเชิงพาณิชย์หรือให้แก่รัฐเพื่อใช้งานด้านความมั่นคง แผนแม่บทในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และด้านกฎหมายต่างๆ ของ กสทช. ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล และให้ยุบรวมบอร์ดย่อย กสท.และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้เหลือบอร์ด กสทช.เพียงบอร์ดเดียว
@ ยางจี้ถอดบัญชีท้ายกม.สวนป่า
นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง กล่าวว่า วันที่ 12 มกราคม จะมีการประชุมสมัชชาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ที่อาคารรัฐสภา ตัวแทนสมาคม สถาบันเกษตรกรและแกนนำเครือข่ายชาวสวนยางจากทั่วประเทศ จะไปร่วมกันอย่างพร้อมเพรียงเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีของการทำสวนยางพาราไทย โดยจะหารือเรื่องที่กรมป่าไม้บรรจุไม้ยางพาราอยู่ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.สวนป่า 2535 ฉบับแก้ไข ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่เกษตรกรสวนยางพาราอย่างมาก หลังหารือจะไปยื่นหนังสือต่อนายกฯขอให้ถอนไม้ยางพาราออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ.สวนป่า ก่อนที่ชาวสวนยางจะลุกฮือขึ้น
นายสุนทร กล่าวว่า การตัดโค่นและเคลื่อนย้ายไม้ยางพาราที่ผ่านมาเป็นไปโดยเสรี หาก พ.ร.บ.สวนป่า มีไม้ยางพาราอยู่บัญชีท้าย ชาวสวนยางรายใดไปจดทะเบียนสวนป่าแค่ 1 ไร่ ก็มีผลทำให้สวนยางอีก 21 ล้านไร่กลายเป็นผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ป่าไม้สามารถเรียกตรวจสอบไม้ยางพารา จะเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รีดไถชาวสวนยางได้
นายสุนทร กล่าวว่า นอกจากนี้ จะหารือวิกฤตราคายางตกต่ำ รวมทั้งของบประมาณฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนกรีดยางสัญชาติไทยและชาวสวนยางรายย่อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินกว่า 6 แสนครอบครัว โดยให้รัฐบาลจ่ายเงินฉุกเฉินช่วงฤดูปิดกรีดยาง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2558
@ ชาวสวนย้ำสิ้นม.ค.เจอกันแน่
ด้านนายวัชรพล เพิ่ม ว่าที่เลขานุการ สมาคมผู้กรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยแห่งประเทศไทย (ผยท.) กล่าวว่า ชาวสวนยางชายขอบคงรอไม่ได้อีกแล้ว วันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาเอาใจนายทุน ทุกมาตรการล้วนออกมาเพื่อช่วยเหลือนายทุนแทบทั้งสิ้น ความเดือดร้อนขอชาวสวนยางชายขอบกว่า 80% ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
"เราคุยกับชาวสวนยางทุกกลุ่มเบื้องต้นแล้วว่าจะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งภายในเดือนมกราคมแน่นอน ไม่ได้ขู่ แต่ออกมาสู้เพื่อปากท้องของพี่น้องชาวสวนยางชายขอบ โดยวันที่ 13 มกราคม เราจะออกมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ในการทวงถามเรื่องราคายางพารา แต่สิ้นเดือนนี้พบกันอย่างแน่นอน" นายวัชรพลกล่าว
@ เกษตรฯชงจัดซื้อพัสดุใช้ยางเพิ่ม
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอการใช้ยางธรรมชาติในประเทศมากขึ้นเพื่อดูแลราคายางไม่ให้ต่ำ โดยเฉพาะพัสดุของรัฐที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้าง โดยอาจกำหนดสัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติในวัสดุที่รัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างให้สูงขึ้น หากทำได้จะนำร่องการจัดซื้อจัดจ้างของกรมชลประทานก่อน โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างล้อรถยนต์เครื่องจักรที่เป็นรถขนาดใหญ่ โดยจะกำหนดสเปกให้ใช้ยางธรรมชาติในล้อยางสูงขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ยังมีพัสดุอื่นๆ เช่น พื้นสำหรับรองสัตว์ขนาดใหญ่ และกำลังดูในทางเทคนิคว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะนำยางไปปูพื้นในคลองส่งน้ำแทนการใช้คอนกรีต โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
"ขณะนี้มาตรการต่างๆ ยังดูดซับยางได้ไม่สูงนัก แต่หากใช้ยางในพัสดุที่รัฐจะจัดซื้อจัดจ้างจะช่วยได้มาก ตอนนี้กำลังทำข้อตกลงให้ใช้ยางเพิ่มขึ้นและเปิดประมูลทั่วไปให้ผู้ผลิตต่างๆ เสนอราคา ถ้าสำเร็จก็จะขยายไปจัดซื้อจัดจ้างยางล้อรถยนต์หรือพัสดุภัณฑ์ของหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐต่อไป" นายปีติพงศ์กล่าว
ลึก แต่ ไม่ลับ เปิด ทำเนียบรัฐบาล คุย 'นักธุรกิจ'
ไม่ว่าแนวทาง "เปิดทำเนียบ" เชิญสภา สมาคม และตัวแทนในทาง "ธุรกิจ" เข้าร่วมหารือจะมาจากสมองก้อนโตของใคร
เป็นการต่อยอดจากที่ "พาณิชย์" เคยทำมาแล้ว
แต่ด้วยการเปิดกว้างมากกว่า "เจ้าสัว" เพียง 2-3 คน เป็นนับสิบๆ คนอันเท่ากับเป็นการระดมสมอง ร่วมคิด ร่วมหาทาง
ถือเป็น "เรื่องดี"
อย่างน้อยก็สะท้อนว่า รัฐบาลมิได้ "เก่ง" เพียงฝ่ายเดียว หากแต่พร้อมยอมรับ "แนวคิด" เยี่ยมๆ จากคนที่อยู่ในสนาม
เมื่อหลายๆ หัวมาช่วยกัน "ปราชญ์" ย่อมปรากฏขึ้น
ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้เท่ากับเป็นการยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องหนัก
จำเป็นต้อง "ออกปาก" ให้มาช่วยกัน "แบกหาม"
ปมเงื่อนอยู่ที่ว่า "รัฐบาล" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ทีมเศรษฐกิจ" จะเปิดกว้างสักเพียงใดในการล้างหูน้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากฝ่ายอื่น คนอื่น
ตรงนี้ "สำคัญ" ตรงนี้มี "ความหมาย"
ตลอดระยะ 1 สัปดาห์ภายหลังการเฉลิมฉลองปีใหม่ หยุดยาว เริ่มมีความเห็นในลักษณะ "ร่วม" เด่นชัดมากยิ่งขึ้น
ว่าปี 2558 จะสาหัส
ภาวะในปี 2557 อาจโยนให้กับ 1 นโยบายประชานิยมของรัฐบาลเก่า 1 มาตรการ "ชัตดาวน์" ด้วยความคลุ้มคลั่งของพรรคการเมืองบางพรรค
แต่เมื่อถึงปี 2558 อ้างได้ลำบาก...
เพราะว่าคนที่เคยก่อการ "ชัตดาวน์" อันสร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาทส่วนหนึ่งก็หนีไปบวช
เพราะว่าคนที่เคยสร้างนโยบาย "ประชานิยม" ก็กลายเป็น "คนนอก"
แบกหนักทิ้งปวงจึงตกอยู่บนบ่าของ "คสช." ซึ่งตัดสินใจทำรัฐประหาร แบกหนักทั้งปวงจึงตกอยู่บนบ่าของ "รัฐบาล"
กล่าวสำหรับงานด้านเศรษฐกิจ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ที่เคยเก่งในการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อมาอยู่ในฐานะเป็น "คนทำงาน" เป็น "คนแก้ปัญหา" มีความสามารถมากเพียงใด
"ชาวบ้าน" เริ่มรู้ "ชาวบ้าน" เริ่มเห็น
ลักษณะที่รัฐบาลเปิด "ทำเนียบรัฐบาล" จึงเท่ากับเป็นการยอมรับในความหนักหนาของปัญหาบัตรเชิญที่ยื่นออกไปเท่ากับ "ขอความร่วมมือ"
เหตุผลเพราะหัวรถจักรส่งออก "เดี้ยง"
กล่าวสำหรับภาคการส่งออกมีน้ำหนักมากถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี เมื่อผสมกับอาการ "เดี้ยง" ของภาคการท่องเที่ยว
จึงอยู่ที่ 1 การลงทุนภาครัฐ 1 การลงทุนภาคเอกชน
กระนั้น หากสำรวจสภาพความเป็นจริงของงบประมาณในแต่ละปีที่ร้อยละ 75 อยู่ที่เงินเดือนข้าราชการ และงบดำเนินธุรการตามปกติของแต่ละกระทรวง
เหลือเป็นงบลงทุนร้อยละ 25
ปัญหาอันตามมาจึงมิได้เป็นปัญหาของภาคเอกชน เพราะเสียงที่กระหึ่มอยู่ในขณะนี้ก็คือ สภาพการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ล่าช้า
อืดเป็น "เรือเกลือ"
กระทั่ง "กรมบัญชีกลาง" ก็พูดไม่ออก บอกไม่ถูก
ความหวังที่ฝากไว้กับการลงทุนภาครัฐจึงริบหรี่ เป็นความริบหรี่เหมือนกับแสงแห่งเปลวไฟ ณ ปลายอุโมงค์ ของการส่งออกซึ่งไม่แน่ว่าเป้าหมายร้อยละ 4 จะเป็นจริงได้เพียงใด
"คำตอบ" จะเห็นได้ใน "ทำเนียบรัฐบาล"
จากนี้ จึงเห็นได้ว่า ปัญหาของรัฐบาลและ คสช. มิได้เป็นเรื่อง "การเมือง" หากเป็นเรื่อง "เศรษฐกิจ"
เพราะ "กฎอัยการศึก" สามารถสยบการเมืองได้ ขณะเดียวกัน "กฎอัยการศึก" นั่นแหละที่ส่งผลข้างเคียงให้กับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างล้ำลึก เกินความคาดหมาย
นี่คือ "ปฏิกิริยา" นี่คือ "ผลสะท้อน"....