- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 10 January 2015 00:05
- Hits: 2864
ปรับเกณฑ์ใหม่พ.ร.บ.พีพีพีวางกรอบวงเงิน 3 ระดับแก้ความล่าช้าสร้างความโปร่งใส
บ้านเมือง : 'ปรีดิยาธร'เผยบอร์ดพีพีพี ปรับเกณฑ์ "พ.ร.บ.พีพีพี" เล็งประกาศ 3 แนวทางร่วมลงทุนในกิจการรัฐต้นเดือนหน้า พร้อม เห็นชอบกฎหมายลูกหรือกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ.พีพีพี เพิ่มเติมอีก 5 ฉบับ แก้ปัญหาความล่าช้า และสร้างความโปร่งใส
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ว่า นับว่าเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการพีพีพีตั้งแต่ได้ตั้งรัฐบาลและ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนมีผลบังคับใช้มานานแล้ว จึงต้องการเร่งรัดแผนการลงทุนให้มีความชัดเจน วันที่จึงได้วางกรอบวงเงินลงทุนไว้ 3 ด้าน คือ 1.วงเงินลงทุนต่อกว่า 1,000 ล้านบาท มอบหมายให้กระทรวง ส่วนราชการพิจารณาการลงทุนด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาลงทุนโดยไม่ต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ พีพีพี
2.โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาท ที่ไม่ใช่โครงการบริการสาธารณะ หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ เช่น โครงการเชิงพาณิชย์ โครงการเช่าที่ดิน ทางคณะกรรมการจะพิจารณาให้มอบอำนาจให้แต่ละกระทรวงพิจารณาโครงการเอง เพื่อความคล่องตัวเช่นกัน โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะมีขนาดโครงการตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ พีพีพี เต็มรูปแบบเนื่องจากเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก แนวทางที่3 โครงการลงทุนเกิน 5,000 ล้านบาท ต้องเสนอคณะกรรมการ พีพีพี พิจารณาแผนการลงทุน
โดยจะเสนอแผนศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการพีพีพีในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ในการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในทุกโครงการ จากนั้นคาดว่าเอกชนจะเริ่มตัดสินใจเข้าร่วมลงทุน เพราะหากเป็นการลงทุนที่ให้ผล
ตอบดีในระยะยาว แม้ช่วงสั้นจะขาดทุน มองว่าเอกชนสนในมาร่วมลงทุน เช่น รถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ส่วนมอเตอร์เวย์มองว่าคงลำบาก รัฐบาลจึงต้องลงทุนเอง และมองว่าหากโครงการใดเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างสัดส่วนสูงจะเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐบาลไปได้อีกด้านหนึ่ง โดยภาครัฐจะคอยควบคุมค่าบริการให้เป็นธรรมกับผู้โดยสาร
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า คณะกรรมการพีพีพีได้มีมติเห็นชอบกฎหมายลูกหรือกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ.พีพีพี เพิ่มเติมอีก 5 ฉบับ จากที่ก่อนหน้านี้มีการพิจารณาเห็นชอบแล้ว 8 ฉบับ รวมเป็น 13 ฉบับ และเหลือกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับ ที่จะมีการพิจารณาในครั้งต่อไป โดยกฎหมายลูกที่คณะกรรมการเห็นชอบอีก 5 ฉบับในวันนี้เพื่อให้การดำเนินการตาม พ.ร.บ.พีพีพี มีความคล่องตัวมากขึ้น ประกอบไปด้วย 1.กฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ เพื่อให้เกิดความชัดเจนของการคำนวณมูลค่าของโครงการที่มีปัญหามามากกว่า 20 ปี โดยจะรวมมูลค่าเงินลงทุนที่ทำให้โครงการเกิดขึ้น และหากมีการใช้ทรัพย์สินของรัฐจะรวมมูลค่าทรัพย์สินของรัฐด้วย 2.กฎหมายว่าด้วยกระบวนการประกาศเชิญชวนและการคัดเลือกเอกชน จะคงหลักการเดิมของกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่แต่มีการปรับให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น 3.กฎหมายว่าด้วยข้อกำหนดมาตรฐานสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดมาตรฐานของสัญญาร่วมลงทุน ทำให้ไม่เกิดความลักลั่นระหว่างโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาลักษณะของลักษณะของสัญญาร่วมลงทุนจะมีความหลากหลาย ซึ่งยากต่อการกำกับดูแลและมีปัญหาจำนวนมาก
สำหรับ กฎหมายอีก 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อให้เกิดมาตรฐานว่า การแก้ไขสัญญาลักษณะใดเป็นเรื่องนโยบายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนทำให้ลดปัญหาในการกำกับดูแลสัญญาร่วมลงทุน และเพิ่มความโปร่งใสในการแก้ไขสัญญา และ 5.กฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนสำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมอบอำนาจให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีมูลค่าโครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท สามารถดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้โครงการขนาดเล็กจะยังคงต้องยึดหลักการของประโยชน์ของรัฐและประชาชน รวมทั้งการคัดเลือกเอกชนต้องมีความโปร่งใส
โครงการและกิจการที่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐมีหลายประเภท ซึ่งขณะนี้ได้ให้กระทรวงต่างๆ เสนอโครงการที่เข้าข่ายให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้ เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ซึ่งคณะกรรมการพีพีพี จะสามารถประกาศได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ตัวอย่างของโครงการ ได้แก่ โครงการที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล โครงการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ โครงการรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน โครงการท่าเรือ โครงการขยายสนามบิน และโครงการเกี่ยวกับด้านสังคม หากภาครัฐมีการตัดสินใจว่าเป็นโครงการที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและมีการกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรก็จะมีการบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ด้วย