- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Thursday, 08 January 2015 01:10
- Hits: 2920
อุ๋ยลั่นไม่ดองหนี้จำนำข้าว ธปท.ยืนกรอบเงินเฟ้อ 2.5%
ไทยโพสต์ : พระรามหก * ถกงบปี 59 ไม่จบ หลังมีประเด็นจ่ายหนี้จำนำข้าว คาดมีสิทธิขาดดุลสูงถึง 3 แสนล้านบาท ฟาก ธปท.ยันเงินเฟ้อปี 58 ไม่ต่ำกว่า 1% ชี้แนวโน้มดอก เบี้ยนโยบายยังผ่อนคลาย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมร่วม 4 หน่วยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ เพื่อกำ หนดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ว่า ในเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ให้กลับไปทบ ทวนตัวเลขงบประมาณ 2 เรื่อง คือ 1.งบรายได้ ที่ยังเสนอต่ำเกินไป เนื่องจากมีการปรับขึ้นภาษีหลายตัว เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ก็น่าจะทำให้รายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น และ 2.การกำหนดงบ ชำระหนี้โครงการรับจำนำข้าว ที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม เนื่องจากไม่ต้องการให้ต่างชาติมองว่ารัฐบาลไทยหมกหนี้จำนำข้าว
ทั้งนี้ ในส่วนของงบลงทุนและงบรายจ่ายประจำ เบื้องต้นจัดทำไว้หมดแล้ว และมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าปีงบประมาณ 2558 ที่ 2.575 ล้านล้านบาท เพราะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจจะต้องมีการทำงบประมาณแบบขาดดุลสูงถึง 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การทำงบประมาณปี 2559 วางสมมุติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 ไว้ที่ 4% ขณะที่ปี 2559 อยู่ที่ 4.2%
"ขอกลับไปดูตัวเลขทั้ง หมดอีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของการชำระหนี้โครงการจำนำข้าว เมืองไทยไม่ควรหมกหนี้ให้ต่างชาติเห็น ทั้งที่จริงๆ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแรง และมีงบประมาณเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ ก็ต้องไปดูว่าจะเอางบส่วนไหนมาใช้ ซึ่งมีวิธีอยู่ เชื่อมือผม ซึ่งจะมาหารืออีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค.2558" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
นายประสาร ไตรรัตน์วร กุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.5% ในช่วงคาดการณ์ 1-4% หรือบวกลบไม่เกิน 1.5% ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนถึงทิศทางนโยบายการเงินในปี 2558 โดยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่ต่ำกว่า 1% แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจ ซึ่ง กนง.เห็นว่าที่ผ่านมานโยบายการเงินมีความผ่อนคลายและเอื้อสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศเพียงพอแล้ว.