- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Thursday, 27 November 2014 23:51
- Hits: 3319
ไทยพร้อมร่วมมือทาง ศก.กับลาว เล็งรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม-หนุนเอกชนเข้าไปลงทุน
รายงานข่าว แจ้งว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ได้เข้าหารือกับนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ซึ่งทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์ไทย-ลาวที่มีความใกล้ชิดในทุกด้านบนพื้นฐานของสังคมวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน และยินดีร่วมกันผลักดันให้ทั้งสองประเทศเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างเท่าเทียม(Partnership for Equitable and Shared Prosperity)
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายผลักดันการพัฒนาพื้นที่ชายแดนแบบครบวงจร และได้เห็นชอบให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นโครงการนำร่องที่ จ.มุกดาหาร ซึ่งจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อพัฒนาทั้งการค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเพื่อประสานงานการเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ จ.มุกดาหาร กับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาแบบคู่ขนาน
ไทยมีนโยบายสนับสนุนลาวให้เป็นจุดเชื่อมโยง(land link) เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการที่จะขยายเส้นทาง EWEC ให้ครอบคลุมเส้นทาง R8 และ R12 และจะเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้การขยายเส้นทางดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีหวังให้มีการส่งเสริมให้มีการจัดส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ joint package ที่เชื่อมโยงสถานที่ของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน เนื่องจากลาวมีสถานที่ท่องเที่ยวงดงามมากมาย ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมหารือกับฝ่ายลาวเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่เกี่ยวข้อง เช่น สนามบิน ยานพาหนะ ถนน รวมทั้งขยายเส้นทางการบิน และเส้นทางเดินรถประจำทาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ของลาว
ด้านพลังงาน ไทยพร้อมที่จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวมากขึ้น และยินดีสนับสนุนโครงการนำร่องสำหรับการศึกษาในเรื่องการซื้อขายไฟฟ้าข้ามแดนระหว่าง ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์(LTMS PIP) เพื่อศึกษาถึงศักยภาพ และพิจารณาความเป็นไปได้ในการซื้อขายไฟฟ้าจากลาวไปยังสิงคโปร์ ผ่านโครงข่ายที่มีอยู่เดิมของไทยและมาเลเซีย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีลาวเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม GMS ระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการหารือเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีของไทยและนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการพัฒนาโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว ระยะที่สอง 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 3.สัญญาให้ความช่วยเหลือทางการเงินโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน(เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง)
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.ท.จูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว โดยหลังเสร็จสิ้นการหารือ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว สอบถามถึงพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีความยินดีที่ทราบว่าทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง และขอถวายพระพรมา ณ โอกาสนี้
ประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว ยินดีที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้มีการหารือถึงความก้าวหน้าในความร่วมมือ และการลงทุนระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ เชื่อว่าการพัฒนาเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมต่อกันระหว่างไทยและลาวนั้น จะปูทางไปสู่การพัฒนาของทั้งสองประเทศร่วมกัน
นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และร่วมมือกับสปป.ลาวอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ ด้าน บนพื้นฐานของสังคมวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ไทยให้ความสำคัญแก่ความร่วมมือโดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยและสปป.ลาว ซึ่งจะอำนวยความสะดวกต่อการไปมาหาสู่ระดับประชาชนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน และหวังว่าไทยและลาวจะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น
พร้อมเห็นว่า เส้นเขตแดนเป็น "เส้นแห่งความร่วมมือ" ไทยและ สปป.ลาวสามารถช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกันและกัน โดยต่างเป็นจุดเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญของภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดน นอกจากนี้ ไทยยังยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกด้วย
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสภาแห่งชาติ สปป.ลาว เพื่อเข้าหารือกับนางปานี ยาท่อตู้ ประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว โดยในระหว่างการหารือประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว ได้หยิบยกความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมสินค้าเกษตรที่ผลิตโดยเกษตรกรลาวตามแนวบริเวณชายแดน เช่น ข้าวโพด ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน และขอให้ไทยช่วยดูแลสวัสดิภาพสำหรับแรงงานลาวในไทย โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นสตรี และขอให้มีการส่งเสริมนักธุรกิจไทยเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะรับข้อห่วงใยของประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันหารือต่อไป
อินโฟเควสท์