- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 18 November 2014 22:51
- Hits: 3270
'ประยุทธ์'ไอเดียพุ่งกระฉูด ดึงเศรษฐีไทยลงทุน 5 เขตศก.พิเศษ
แนวหน้า : ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2557 ว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่วางไว้มี 12 เขต แต่เบื้องต้นจะจัด 5 เขต อาทิ เขตเศรษฐกิจแม่สอด คลองลึก ประดังเบซาร์ หนองคาย ซึ่งต้องใช้งบประมานสูง 4-5 หมื่นล้านบาท โดยระยะต้นได้ให้ใช้งบประมานประจำปีวงเงิน 800 ล้านบาท และปีต่อๆ ไปก็ต้องมีการตั้งงบประมาณกันเอง เพราะต้องเตรียมการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้า โดย 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตนได้สั่งการให้ไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นก่อน โดยจะต้องกำหนดพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาเรื่องที่ดิน อาจจะเป็นพื้นที่ราชพัสดุ หรือพื้นที่ทางราชการ ที่สามารถจะตั้งโรงงานขนาดเล็กได้โดยเร็ว และชักชวนนักลงทุน ผู้ประกอบการหรือเศรษฐีในประเทศเข้ามาดำเนินการ เช่น การสร้างโรงงานแปรรูปด้านการเกษตร โรงงานทำอาหารสัตว์ โรงงานน้ำดื่ม
ทั้งนี้ ตนได้คุยกับนักธุรกิจไทยไปแล้วเมื่อครั้งเดินทางไปเยือนประเทศจีน ซึ่งเขาก็สนใจ หากเราดำเนินการส่วนนี้ได้เราจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อว่าน่าจะดีในอนาคต และจะทำให้เกิดเมืองใหม่ขึ้นมาตามแนวชายแดน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันต้องให้สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟ และเส้นทางถนนที่เรากำลังก่อสร้างด้วย ตรงนี้เป็นการวางแผนเพื่ออนาคต
นายกฯ นำร่องพัฒนา 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษปีนี้ใช้งบ 800 ลบ.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2557 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นว่า จะเริ่มโครงการนำร่องในปีนี้ 5 แห่ง คือ ด่านสะเดา จ.สงขลา, ด่านแม่สอด จ.ตาก, ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด, ด่านอรัญญประเทศ จ.สระแก้ว และด่านชายแดน จ.มุกดาหาร โดยเน้นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการตั้งโรงงานขนาดเล็กในพื้นที่ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร น้ำดื่ม อาหารสัตว์ โดยเชิญชวนให้นักลงทุนขนาดใหญ่ของไทยเริ่มดำเนินการก่อน เพื่อเป็นการรองรับอนาคตการเกิดเมืองใหม่ตามแนวชายแดน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะสอดคล้องกับการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการนำร่อง 800 ล้านบาท ขณะที่ทั้ง 12 โครงการทั่วประเทศ ต้องใช้งบประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท โดยจะอนุมัติการดำเนินการอย่างต่อเนื่องลักษณะปีต่อปี
ส่วนแนวทางการแก้ไขหนี้โครงการรับจำนำข้าว นายกรัฐมนตรี ระบุว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยยังไม่ได้รับคำยืนยันว่า จะใช้วิธีการออกพันธบัตรจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ รอให้ทางกระทรวงการคลังเสนอมาก่อน
ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ชาวนานั้น นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการให้แนวทางความช่วยเหลือโดยจะให้เกษตรกรชาวนาที่มีปัญหาเรื่องหนี้มาขึ้นทะเบียน เนื่องจากชาวนามีหนี้หลายส่วนทั้งหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือหนี้ของธนาคารต่างๆ แต่ทางรัฐบาลคงไม่ใช้วิธีการหาเงินเพื่อมาชำระหนี้ให้กับชาวนา แต่จะหาแนวทางการพักชำระหนี้แทน
อินโฟเควสท์