- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 12 November 2014 19:05
- Hits: 2847
' นายกฯ'โชว์วิสัยทัศน์เวทีอาเซียน ผลักดันร่วมมือ'ศก.-ความมั่นคง' (ชมคลิป)
แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 25 ร่วมกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศ พร้อมด้วยเลขาธิการอาเซียน โดยมี นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นประธานการประชุม โดยเป็นการทบทวนพัฒนาการการสร้างประชาคมอาเซียน ให้นโยบายเกี่ยวกับการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 และผลักดันประเด็นความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ
ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของเมียนมา และแสดงความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอาเซียน และได้เข้ามาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรก และหวังว่าจะได้มีโอกาสเยือนประเทศสมาชิกครบทุกประเทศในไม่ช้า พร้อมกับกล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และยืนยันว่าไทยยังคงให้ความสำคัญต่ออาเซียนและจะยึดมั่นต่อพันธกรณีต่างๆ ในการสร้างประชาคมอาเซียนในภูมิภาค เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค
ในเรื่องการสร้างประชาคมอาเซียน นายกฯ กล่าวเสนอว่า ในปี 2558 อาเซียนควรให้ความสำคัญกับประเด็นเร่งด่วนที่ควรดำเนินการให้เกิดผล 4 ประการ ได้แก่
1.ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อเป็นการสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียน เพื่อความเชื่อมโยงจะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าการลงทุนที่แนบแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งไทยให้ความสำคัญและสนันสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในภูมิภาค เพื่อกระจายความเจริญ ลดช่องว่างการพัฒนา เพิ่มการจ้างงานและห่วงโซ่ด้านการผลิตสินค้า และทำให้ประชาชนตามจุดเชื่อมต่อมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหวังว่า ความเชื่อมโยงจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงในภูมิภาค
2.อาเซียนต้องมีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาข้ามชาติมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ ไทยจึงให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคและอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ให้แล้วเสร็จในปี 2558 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างรอบด้าน ทั้งการป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองช่วยเหลือ การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการสร้างหุ้นส่วนในภูมิภาค นอกจากนี้ ต้องร่วมกันสร้างอาเซียนเป็นประชาคมที่ปลอดจากยาเสพติดภายในปี 2558 โดยใช้ ปปส.อาเซียนเป็นกลไกเพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปราม
3.เนื่องจากเพิ่งกลับจากการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งมีหัวข้อสำคัญ คือ การรวมกลุ่มเศรษฐกิจและเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก นายกรัฐมนตรีจึงเห็นว่า อาเซียนควรเร่งการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ให้แล้วเสร็จในปี 2558 ตามที่ได้เคยประกาศไว้ เพื่อช่วยขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของประเทศในภูมิภาค
4.ปีนี้ ครบรอบ 4 ปีสึนามิ และที่ผ่านมาเห็นได้ว่า ภูมิภาคอาเซียนมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติมาก ไทยจึงเห็นว่า อาเซียนต้องร่วมกันรับมือกับภัยพิบัติ เพื่อมิให้กระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค ดังนั้น ต้องทำให้คณะทำงานร่วมของอาเซียนด้านการบรรเทาภัยพิบัติสามารถปฏิบัติงานได้จริงและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้อาเซียนช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ในการบรรเทาและลดผลกระทบจากภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับ ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 นายกฯ กล่าวว่า การสร้างประชาคมอาเซียนเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ดังนั้น วิสัยทัศน์ของอาเซียนต้องมองไปข้างหน้าเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งมีความยินดีที่อาเซียนได้จัดทำเป้าหมายหลักของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 เสร็จสิ้น และจะมีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อร่างวิสัยทัศน์ภายหลังปี 2558 ต่อไป
อย่างไรก็ดี นายกฯ กล่าวว่า ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนจากภายใน ดังนั้น อาเซียนจึงควรให้ความสำคัญกับวาระของประชาชน โดยการยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชนในเรื่องต่างๆ อาทิ การศึกษา สาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดช่องว่างการพัฒนา การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ และการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร และให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ ภาคเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงการพัฒนาภาคการเกษตรในเวทีเอเปค จึงอยากเสนอให้อาเซียนพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรและส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับภูมิภาคและโลกด้วย ดังนั้น เราควรพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจทางเกษตรให้แก่เกษตรกร และเพิ่มศักยภาพทางการเกษตรเพื่อยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร
"อาเซียนกำลังจะเปิดเสรีมากขึ้น ทุกประเทศจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงชายแดนมากขึ้น และจะต้องบริหารจัดการชายแดนอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง และเศรษฐกิจ ประเทศมหาอำนาจจึงสนใจและพยายามเข้ามามีบทบาทและแข่งขันกันมากขึ้น รวมทั้งพยายามเข้ามากำหนดระเบียบในภูมิภาค อาเซียนจึงต้องรักษาความเป็นหนึ่งเดียว และส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ในสถาปัตยกรรมภูมิภาค โดยอาเซียนต้องมีบทบาทนำในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่อาเซียนเป็นผู้ริเริ่มและมีความคิดและบทบาทเชิงรุก เพื่อให้อาเซียนสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในภูมิภาคต่อไป
การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรือ EAS เป็นเวทีหารือในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ระดับผู้นำ ที่มีประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเข้าร่วม เราจึงควรส่งเสริมให้ EAS เป็นเวทียุทธศาสตร์อย่างแท้จริง สามารถมีบทบาทและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม จึงควรให้เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนศึกษาทิศทางในอนาคตของ EAS ให้เป็นเวทีที่มีบทบาทและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ นายกฯ กล่าวว่า อาเซียนต้องแสดงท่าทีร่วมกันในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกภูมิภาค ที่จะมีผลกระทบต่ออาเซียน อาทิ ปัญหาความรุนแรงในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้ง ตะวันออกกลาง ปัญหาโรคระบาด และปัญหาในภูมิภาค
สำหรับ อีโบลา เป็นวิกฤตระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องเฝ้าระวังและป้องกันและแก้ไข ไทยจึงเห็นว่าในกรอบอาเซียนบวกสาม ควรมีการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในระดับภูมิภาคและสร้างกลไกเฝ้าระวังโรคร่วมกัน ซึ่งไทยพร้อมจะเป็นจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม ซึ่งอาจจัดขึ้นในเดือนธันวาคม เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน
ในเรื่องทะเลจีนใต้ ต้องแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า อาเซียนและจีน สามารถแก้ปัญหากันได้และมีความคืบหน้าในกระบวนการการเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) นอกจากนี้ อาเซียนและจีนจะต้องพยายามรักษาสถานการณ์ในพื้นที่ให้มีความสงบและไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งอย่างเช่นในอดีตโดยการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) อย่างเต็มที่เพื่อช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและเร่งรัดการจัดทำ COC โดยเร็ว ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเรื่อง DOC ซึ่งที่ประชุมได้ตกลงในสาระสำคัญของ COC หลายเรื่อง รวมทั้งจัดตั้งมาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น อาทิ การมีโทรศัพท์ hotline หน่วยงานกู้ภัยและหน่วยงานด้านการต่างประเทศ การฝึกซ้อมร่วมในห้องปฏิบัติการเพื่อร่วมกันกู้ภัยและปฏิบัติการทางทะเลร่วมกัน