- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 06 January 2021 18:37
- Hits: 7304
ครม. เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ภายใต้กรอบจีดีพี ปี 65 โต 3-4% เงินเฟ้อ 0.7-1.7%
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 65 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลง 5.66% หรือ 185,962.5 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 64 ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปี 65 ขยายตัว 3-4% อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในช่วง 0.7-1.7%
ทั้งนี้ โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2,354,403.3 ล้านบาท สัดส่วน 75.95% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท สัดส่วน 0.02% ของวงเงินงบประมาณ
รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินทุนสำรองจ่าย 25,000 ล้านบาท สัดส่วน 0.81% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 620,000 ล้านบาท สัดส่วน 20% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท สัดส่วน 3.22% ของวงเงินงบประมาณ
นายอนุชา กล่าวว่า แม้รายจ่ายเพื่อการลงทุนปี 65 จำนวน 620,000 ล้านบาท จะมีจำนวนเงินลดลงจาก ปี 64 ที่ 29,310.2 ล้านบาท แต่สัดส่วนเพิ่มขึ้น 20%ของวงเงินงบประมาณ 65 ซึ่งครม. ยังมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาการลงทุนให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งจากเงินงบประมาณของรัฐ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และการลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุน เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) และการลงทุนจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกันกำชับการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่น การให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับผู้ถูกเลิกจ้างหรืออยู่ระหว่างหางานทำ ต้องเน้นฝึกอบรมทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการหางานทำต่อไป รวมทั้งชะลอรายจ่ายประจำที่สามารถดำเนินการได้เน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้การใช้ง่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
สาระสำคัญ
- วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สมมติฐานทางเศรษฐกิจ
- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Real GDP) ร้อยละ 3.0 – 4.0
- อัตราเงินเฟ้อ (GDP Deflator) ร้อยละ 0.7 – 1.7
วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
1) งบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.66 ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,354,403.3 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 183,249 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7.22 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.95 ของวงเงินงบประมาณ
(2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.02 ของวงเงินงบประมาณ
(3) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 25,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.81 ของวงเงินงบประมาณ
(4) รายจ่ายลงทุน จำนวน 620,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.00 ของวงเงินงบประมาณ
(5) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.22 ของวงเงินงบประมาณ
2) รายได้สุทธิ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 277,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 10.35
3) งบประมาณขาดดุล จำนวน 700,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.95 คิดเป็นร้อยละ 4.04 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
- การมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้
1) การลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ควรพิจารณาให้ครอบคลุมการลงทุนจากทุกแหล่งเงิน ประกอบด้วย การลงทุนจากเงินงบประมาณของภาครัฐ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และการลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุน เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) และการลงทุนจากต่างประเทศ
2) ควรมีการกำหนดเงื่อนไขของการใช้ง่ายเงินงบประมาณ โดยเฉพาะการใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการโอนเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เช่น การให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับผู้ถูกเลิกจ้างหรือผู้ที่อยู่ระหว่างหางานทำ ควรมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการฝึกอบรมทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ถูกเลิกจ้างในการหางานทำต่อไป และทำให้การใช้ง่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3) เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพของประเทศและความยั่งยืนในระยะต่อไปตามแผนการคลังระยะปานกลาง จึงเห็นควรให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนมากขึ้น และชะลอรายจ่ายประจำที่สามารถดำเนินการได้
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ