- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 25 October 2014 10:19
- Hits: 3128
คำกล่าว'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' รายการ'คืนความสุขให้คนในชาติ' (ฉบับเต็ม)
แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.15 น.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์บ้านเมืองไทยในปัจจุบัน ดังนี้
สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ?เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็น “วันปิยะมหาราช” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นานัปการ และทรงเป็นที่รักของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งข้าราชการ และภาคเอกชนต่างร่วมวางพวงมาลาสักการะพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 5 รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการเชิงวิชาการเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ในโอกาสพิเศษนี้ ผมก็ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกท่าน ได้ร่วมน้อมจิตอธิษฐาน และแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการรู้รักสามัคคี มุ่งมั่นปรองดอง และร่วมสร้างอนาคตของชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมกันในการปฏิรูปประเทศ “เดินหน้าประเทศไทย” ในบทบาทและหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสมต่อไปครับ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ได้มีโอกาสให้ผมในฐานะเป็นผู้นำรัฐบาลได้ถวายการต้อนรับเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ซึ่งถือว่าเป็นมิตรเก่าแก่และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดของไทย ในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยท่านนายกรัฐมนตรีบาห์เรนเอง ก็ทรงเล่าว่าได้มาเยือนเมืองไทยบ่อยครั้ง และเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ได้ทรงชื่นชมว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัย ทรงเห็นว่าประชาชนชาวไทยนั้นดำรงชีวิตอย่างมีความสุขเป็นปกติทรงให้ความเห็นว่าความปลอดภัย ความมั่นคง เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ บาห์เรนมีความต้องการที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกับเราในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่บาห์เรนพร้อมจะรับซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งข้าวจากไทย โดยเห็นพ้องที่จะสร้างกลไกความร่วมมือในทุกระดับ และจะเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องของอาหารและเกษตรกรรม ในโอกาสเดียวกันนี้ ผมก็ได้เน้นย้ำการให้ความสำคัญ ในการร่วมมือดูแลภาคเกษตรกรรมในภูมิภาคเอเชียให้เข้มแข็ง เพื่อใช้ในการต่อรองทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีบาห์เรนก็ทรงขานรับ ได้ทรงกล่าวว่าบาห์เรนพร้อมเป็นประเทศผู้ประสานงาน ระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ ในแถบตะวันออกกลาง และสนับสนุนบทบาทของไทยในเวทีโลกอีกด้วยครับ
ในการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ 10 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ห้วงวันที่ 16 - 17 ตุลาคม 2557 ผมและคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม “ผู้นำเอเชีย - ยุโรป (ASEM)” ครั้งที่ 10 ณ นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี การประชุมครั้งนี้ มีผู้นำประเทศและผู้แทนองค์กรภูมิภาค เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งสิ้น 53 คณะ โดยผมในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้มีโอกาสกล่าวต่อที่ประชุมถึงความพร้อม และศักยภาพของประเทศไทย ในการที่จะเป็น “ศูนย์กลางแห่งอาเซียน” และได้ผลักดัน ประเด็นสำคัญ 3 ประการ ต่อที่ประชุม ASEM ได้แก่
หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยจะใช้โอกาสที่ไทยจะรับหน้าที่ผู้ประสานความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป ปี 2558 - 2561 เพื่อจะผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไปสู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน ในปี 2558 บนพื้นฐานของการลดช่องว่างการพัฒนา การส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างกัน และการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลภาคเกษตรกรรม และการพยุงราคาสินค้าเกษตร ซึ่งผมได้กล่าวให้ที่ประชุมรับทราบถึงความสำคัญในการจะร่วมมือกันระหว่างสหภาพยุโรปและเอเชีย โดยให้สหภาพยุโรปได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลภาคการเกษตรในเอเชียบ้าง และให้เอเชียช่วยผลิตสินค้าเกษตร ทั้งพืชอาหารและพลังงานทดแทนแก่สหภาพยุโรป อันจะช่วยลดปัญหาความยากจนในเอเชีย และลดความขัดแย้งจากการขาดแคลนอาหารและพลังงานที่อาจจะเป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศโลกได้อีกด้วย
ข้อเสนอต่อไปคือริเริ่มให้มีการประชุม เพื่อวางทิศทางการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนการลดอุปสรรคทางการค้า ผ่านการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ตลอดจนข้อตกลงทางการค้า การลงทุน ผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคี ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) การระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย เช่น โครงการรถไฟทางคู่ และการขยายช่องทางติดต่อชายแดน 5 ช่องทาง เชื่อมต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยมีประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลาง (HUB)” และ การกระชับความร่วมมือและการสนับสนุนการถ่ายโอนองค์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเรื่องต่อไปคือการบริหารจัดการความเสี่ยงร่วมกัน ซึ่งวันนี้เป็นสิ่งท้าทายระดับโลก ประเทศไทย เอเชีย และอียู จะต้องร่วมกันขบคิดในประชาคมระหว่างประเทศ เช่น ในเรื่องของโรคระบาดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ลัทธิสุดโต่งกับการก่อการร้าย ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการเข้าร่วมการประชุม ASEM ผมได้มีโอกาสพบปะ เพื่อแนะนำตัว และทำความเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย กับผู้นำหลายท่าน จากประเทศต่างๆ ซึ่งก็ได้รับสัญญาณที่ดีกลับมา ผู้นำหลายท่านได้แสดงความเข้าใจ และชื่นชมข้อเสนอเชิงรุกของเราในการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งผมได้มีโอกาสเข้าหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย กัมพูชา สิงคโปร์ และเวียดนามซึ่งผลการหารือก็จะเป็นประโยชน์ร่วมกันมากในอนาคต นอกจากนั้นจะนำไปสู่ความร่วมมือที่จะช่วยพัฒนาประเทศร่วมกัน ซึ่งผมได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจและความจริงใจ ในการปราบปรามคอรัปชั่นของรัฐบาล ซึ่งผู้นำทุกท่านก็ได้ชื่นชม และให้กำลังใจในการทำงานของพวกเรา อีกทั้งได้มีการพูดคุยหารือกันในหลายเรื่อง เช่น ในเรื่องของการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการค้าการลงทุน โดยการลดขั้นตอนหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การจัดตั้ง Single Window หรือ One Stop Service เพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจของนักลงทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการดูแลนักลงทุน การบังคับใช้กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ของ BOI ที่เหมาะสมกับนักลงทุน ผมได้เชิญชวนนักลงทุนหลายประเทศเข้ามาลงทุนในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และการแปรรูปสินค้าการเกษตร หลายๆ ประเทศก็ตอบรับเป็นอย่างดีครับ
ในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค อันเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทย กับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผมได้หารือถึงการลงทุนร่วมกันในโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ เรื่อง ทั้งระบบราง รถไฟ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม และให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ในการทำการเกษตร ซึ่งทางญี่ปุ่นและจีน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังได้มีการเชิญชวนอินเดียและสิงคโปร์ เข้าร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งมีท่าทีตอบรับที่ค่อนข้างดี รวมทั้งหารือความเป็นไปได้ ในการลงทุนร่วมกันในด้านอื่นๆ อีกหลายประเทศ เช่น ด้านดาวเทียม หรืออะไรก็ตามที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ด้านพลังงานถ่านหินที่มีคุณภาพ พลังงานสะอาด ด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาแปรรูปสินค้านวัตกรรม และที่สำคัญคือการลงทุนร่วมกันในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
การค้าชายแดนและการดูแลแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ผมได้เสนอแนวความคิด คือให้ “เส้นเขตแดนนั้นเป็น เส้นแห่งความร่วมมือ” ในทุกมิติ เพื่อจะส่งเสริมการพัฒนาและแสวงประโยชน์ร่วมกัน อย่าให้เขตแดนเป็นอุปสรรค ได้มีการจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ให้มีสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งการค้า โรงแรม สถานประกอบการ เช่น ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชาตรงข้ามปอยเปต ก็สามารถพัฒนาให้มีโรงงานบริเวณชายแดน เพื่อให้ชาวกัมพูชาสามารถข้ามเข้ามาทำงานได้สะดวก ใกล้บ้าน และทางการกัมพูชาอาจพิจารณาจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในลักษณะเดียวกัน แบบคู่ขนาน - เป็นเมืองคู่แฝด อันนี้ก็คงรอบๆ บ้าน ไปทั้งหมดทุกประเทศด้วย สำหรับในพื้นที่ติดกัน เช่น บริเวณชายแดนประเทศลาว ไทยกับลาวก็จะได้ร่วมมือกันพัฒนาสร้างเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย - ลาว เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค เช่น บริเวณชายแดนประเทศลาว ไทยกับลาวเพราะจะได้ร่วมมือกันพัฒนาสร้างเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย ลาว เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค การคมนาคมเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณผู้นำทุกๆ ประเทศที่ให้เกียรติกับผม ให้เกียรติกับคนไทย ประเทศไทยได้มีโอกาสพบปะหารือและเชิญให้ผมได้ไปเยือนประเทศของท่าน ซึ่งผมคงหาเวลาที่เหมาะสมเพื่อไปเยือนในเร็ววันนี้ เพราะบางครั้งก็ไม่ตรงกัน
เรื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ กระทรวงคมนาคมได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 เป็นแผนยุทธศาสตร์ 8 ปี ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อแบ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งหมด 5 ด้าน อันนี้ก็เป็น 8 ปี เราจะทำเมื่อไรอย่างไรก็ว่ากันอีกครั้งหนึ่ง อันนี้ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และการพัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางอากาศ ผมขอขยายความเล็กน้อยเพื่อให้พ่อแม่พี่น้องได้เข้าใจพอสังเขป ดังนี้
เรื่องการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง จะมีการปรับปรุงระบบอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ที่จะแยกเป็นโครงการระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวม 903 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2561 และโครงการระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 อีก 8 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวม 1,626 กม. นอกจากนั้น จะพัฒนาทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1.435 เมตร อีก 3 เส้นทาง ที่จะเน้นการขนส่งเชื่อมโยงไปยังเขตอุตสาหกรรมและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กรุงเทพฯ - นครราชสีมา - มาบตาพุด กรุงเทพฯ - ระยอง และ นครราชสีมา - หนองคาย คิดเป็นระยะทาง 705 กม.
นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมจะเร่งการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในพื้นที่ ระยะแรกจะเร่งรัดการก่อสร้างใน 4 สาย ได้แก่ สายสีม่วง บางใหญ่ - บางซื่อ จะรีบดำเนินการให้เสร็จก่อนปี 2560 สายสีน้ำเงิน บางซื่อ - ท่าพระ หัวลำโพง - บางแค สายสีแดง บางซื่อ - รังสิต จะเร่งให้แล้วเสร็จในปี 2562 สายสีเขียว แบริ่ง - สมุทรปราการ จะให้เสร็จในปี 2563 ทั้งนี้ รัฐบาลจะเร่งกระบวนการประกวดราคา และศึกษารายละเอียดอีก 7 เส้นทางเพิ่มเติม โดยจะพยายามเร่งการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การเดินทางของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตปริมณฑลได้สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ผมได้สั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาในเรื่องของรถรางไฟฟ้า ในเขตปริมณฑลที่เชื่อมโยงพื้นที่ทำมาหากินของประชาชน ซึ่งไม่น่าจะใช้เงินลงทุนมาก และจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีทางเลือกในการสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น สำหรับแผนการก่อสร้างและบูรณะขยายช่องการจราจรทางถนน ทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสานตอนบน และภาคตะวันออก จะพัฒนาให้เชื่อมโยงไปทุกภูมิภาค และจะเชื่อมต่อไปยังจุดผ่านแดนต่างๆ โดยจะเร่งให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560
ในเรื่องของการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะให้มีการรองรับเรือได้มากยิ่งขึ้น และจะพัฒนาให้เป็น “ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ” จะเริ่มดำเนินการในปีหน้าจะให้แล้วเสร็จในปี 2560 นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ จะพัฒนาตลิ่งท่าเทียบเรือและร่องน้ำในเขตแม่น้ำป่าสัก ให้สามารถขนส่งสินค้าทางเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิจะให้มีพื้นที่ Terminal ลานจอดเครื่องบิน และอุโมงค์เชื่อมต่อทางวิ่งสำรองและอาคารจอดรถที่พักผู้โดยสารเพิ่มเติม ซึ่งจะดำเนินการในปี 2558 นี้ และการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ โดยการสร้างหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มอีก 15 หลุม ซึ่งจะให้แล้วเสร็จในปีหน้า และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมที่มีแผนจะเริ่มดำเนินการในปีหน้าเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้นั้น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย ช่วยให้การคมนาคมขนส่งสะดวกรวดเร็วขึ้น พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ก็จะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศและเป็นการเชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจภูมิภาคด้วย ทั้งนี้ ผมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การดำเนินงานนั้นต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส การจัดสรรงบประมาณประจำปีต้องทำตามแผนงานและต่อเนื่อง
เรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกร ในวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เริ่มดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องชาวนาตามมติที่ ครม.อนุมัติ ก็จะทยอยจ่ายเงินพี่น้องชาวนาให้ทั่วถึง หากท่านใดยังไม่ได้ไปลงทะเบียน ก็ขอให้ไปตรวจสอบลงทะเบียนให้เรียบร้อย หากท่านใดลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับเงิน ก็ขอให้อดใจรอสักเล็กน้อย เพราะทาง ธ.ก.ส.เองจะทยอยจ่ายเงินให้ท่านให้ครบทุกคนแน่ครับ ก็ขอให้มั่นใจและก็ช่วยกันแก้ไขในเรื่องของการทุจริตต่าง ๆ ด้วยอย่าไปเชื่อใครทั้งสิ้นท่านต้องรับเงินด้วยมือของท่านเอง สำหรับผู้ที่ทำนาจริง
สำหรับ พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุด ครม.ได้อนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางขั้นต้นตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ ใน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยจะช่วยรับซื้อยางในราคาเป้าหมายที่ 60 บาท ต่อกิโลกรัม ในชั้นต้น โครงการชดเชยรายได้พี่น้องชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวสวนยางพารารายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริม รายละไม่เกิน 1 แสนบาท และ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง ทั้งนี้ ผมได้สั่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแล ศึกษารายละเอียดในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น และโปร่งใส คาดว่าอีกไม่นานนี้ ความช่วยเหลือต่างๆ เหล่านั้น คงจะถึงมือพี่น้องชาวสวนยางแน่ๆ นะครับ
โครงการพักหนี้เกษตรกร หรือปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เป็นปัญหาสำคัญสำหรับพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน แต่ก็ไม่สามารถที่จะไปกู้ยืมเงินผ่านธนาคารทั่วไปได้ ผมก็อยากให้ทุกท่านทราบว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่พร้อมให้การสนับสนุนและสามารถช่วยเหลือท่านได้เป็นอย่างดีในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการเงินชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ในพื้นที่ ในสัปดาห์นี้ ครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบการจ่ายดอกเบี้ยชดเชยให้กับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรตามโครงการพักหนี้เกษตรกร รายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท โครงการนี้ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เป็นลูกหนี้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรในการพักชำระหนี้ในปี 2557 ทั้งนี้ ก็เพื่อบรรเทาภาระหนี้ของพี่น้องประชาชน เราจะใช้งบกลางของปี 2556 จากกรอบวงเงินเดิมที่เหลืออยู่ จำนวน 610 ล้านบาท และงบประมาณปี 2558 ที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมอีกประมาณ 89.8 ล้านบาท ไปชดเชยดอกเบี้ย รัฐบาลจะพยายามเต็มที่เพื่อจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ ก็อยากจะขอความร่วมมือ ขอให้ระมัดระวังการใช้จ่ายเงินอย่าได้ไปกู้ยืมเงินจากนายทุนนอกระบบไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นนอกจากจะเสียเงินดอกเบี้ยสูงแล้ว รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะเข้าช่วยบรรเทาภาระท่านได้ ขณะนี้ รัฐบาลโดยฝ่ายเศรษฐกิจก็กำลังเร่งพิจารณารายละเอียดในการจัดตั้ง “นาโนไฟแนนซ์” ซึ่งก็ต้องพิจารณากันว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ตรงความต้องการหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้พี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนั้น ก็คาดว่าจะถูกกว่าการกู้ยืมนอกระบบมาก พร้อมทั้งการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้วเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 2 แล้ว ก็คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหลังจากที่กฎหมายผ่านแล้ว ท่านที่จะทำธุรกิจทวงหนี้ ก็จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง และหากท่านมีการข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ หรือมีการทวงหนี้ยามวิกาล มีการระรานไปยังที่ทำงานหรือทวงหนี้กับญาติพี่น้อง ท่านก็อาจจะมีความผิดในทันที บทลงโทษสูงสุดก็คือการจำคุก
ก็ขอเตือนนายทุนนอกระบบทั้งหลายว่า กรุณาอย่าได้ข่มขู่หรือทำการใด ๆ ที่รุนแรงกับลูกหนี้ ให้ความเมตตา ให้ความเข้าใจกับผู้ที่มีรายได้น้อยด้วย อย่าเอาแต่ประโยชน์อย่างเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันเรื่องที่เกี่ยวกับหนี้สินนอกระบบนั้นมีกฎหมายอยู่หลายฉบับ ต่อไปนี้จะใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นด้วย นอกจากกฎหมายใหม่แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า วันนี้เราต้องมีชีวิตอยู่อย่างเพียงพอตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย เพราะฉะนั้นทั้งพ่อแม่ ลูกหลาน ก็ต้องช่วยกัน วันนี้หนี้สินส่วนใหญ่เกิดมาจากลูกหลานทั้งสิ้น ไปเรียนหนังสือบ้าง ซื้อของที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์บ้าง ฉะนั้นถ้าเรามีเงินน้อยเราก็ซื้อของใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องทันสมัยมากมายนักหรือเป็นของที่มียี่ห้อ มีชื่อเสียงมากนัก เราต้องเห็นใจพ่อแม่ ถ้าเราเรียกร้องมากๆ พ่อแม่ก็ไปเป็นหนี้เป็นสินเขา ถึงเวลาเรียนหนังสือก็ต้องไปกู้เงินมาเรียนหนังสืออีก วันหน้าที่ทางต่างๆ ก็ต้องขายหมด เพราะฉะนั้นต้องนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำรงชีวิตด้วย เมื่อท่านแข็งแรงมีเงินมาก ท่านก็ใช้มากไปไม่มีใครว่าอะไร
สำหรับ การจัดระเบียบพื้นที่ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า Zoning นั้น ในที่ประชุม ครม. ผมได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมมือกันในลักษณะของการบูรณาการ จะต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนใน 2 เรื่อง (1) ก็คือในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ใด มีสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ เหมาะสมกับพืชชนิดใด หน่วยงานของรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ และการฝึกอบรม อย่ารอให้เกิดปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดขณะนี้ก็คือพื้นที่ที่แล้งซ้ำซาก น้ำก็น้อย ดินก็ไม่ดี แต่ก็ยังคงต้องเพาะปลูกพื้นที่ทางการเกษตร เช่น ข้าว ก็ไม่ได้ผลทุกปี ฉะนั้นต้องเร่งเข้าไปดำเนินการตั้งแต่การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูก ไปจนถึงการดูแลตลาดให้กับเกษตรกรด้วย กรณีที่เปลี่ยนเป็นพืชอย่างอื่น และเราก็ไม่ได้บังคับใครทั้งสิ้น เราเป็นห่วง นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาคนหรือชาวนาให้มีอาชีพเสริมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า พื้นที่น้อยผลผลิตมาก อะไรทำนองนี้
(2) การแยกพื้นที่เพาะปลูกกับนิคมอุตสาหกรรมนั้นมีความจำเป็น เพราะบางพื้นที่นั้นไม่เหมาะจะไปตั้งโรงงาน ก็เหมาะจะใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า มีน้ำ มีดินดี ใกล้การขนส่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ขัดแย้งกันมาตลอด วันนี้ต้องขอความกรุณา ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับในส่วนของภาคการผลิตพืชผลทางการเกษตร แหล่งน้ำกินน้ำใช้ สิ่งนี้จะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใด ๆ จะต้องไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตในชุมชน ต้องดูแลชุมชนด้วย โครงการพัฒนาต่างๆ ในอนาคตนั้น ต้องมองในภาพรวม ต้องพิจารณาเรื่องเส้นทางคมนาคมขนส่งด้วย ทั้งหมดนี้อย่าตื่นตระหนก ไม่ใช่เราจะไปเปลี่ยนอาชีพอะไรของท่าน เพียงแต่จะเข้าไปดูแลท่านให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และไม่ได้เป็นการบังคับ แล้วแต่ความสมัครใจเพราะฉะนั้นต้องการให้ประชาชนที่เป็นภาคเกษตรกรรมนั้นทราบว่า พื้นที่ใดของประเทศไทยเหมาะสมจะปลูกพืชอะไร ทั้งนี้ก็แล้วแต่ท่าน
เรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำ ผมต้องขอความร่วมมือและขอทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวนาในพื้นที่ภัยแล้งทุกท่าน ตามที่คาดการณ์ว่าปัจจุบันจนถึงกลางปีหน้า เราจะมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เพียงพอต่อการอุปโภค - บริโภค ผลิตน้ำประปา การเกษตร และใช้สำหรับการผลักดันน้ำทะเล เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนั้น จำเป็นต้องสร้างสมดุลในทุกมิติ แม้ว่าการระงับการส่งน้ำเพื่อการทำนาปรัง ก็มีความจำเป็น รัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหา มีมาตรการเสริมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย การประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งการจ้างแรงงานในการขุดลอกคูคลอง หรืออะไรก็ได้ที่จะเกิดผลประโยชน์กับประชาชน และการสร้างแหล่งน้ำใหม่ให้มากขึ้น ต้องใช้เวลา ฉะนั้นปีหน้าอยากจะขอความร่วมมือตรงนี้ อย่าตื่นตระหนก ปัญหาที่ผมเป็นห่วงก็คือน้ำประปาของเราจะขาด เพราะน้ำทะเลจะเข้ามา น้ำทะเลเข้ามาน้ำก็จะกร่อย การทำน้ำประปาก็มีปัญหา ก็ขอให้ทุกท่านได้เข้าไปใช้บริการ ขอข้อมูล รับคำแนะนำ และความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมได้ทุกแห่ง รวมไปถึงศูนย์อื่น ๆ ด้วย ทั้งการเกษตรก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์มา 800 กว่าศูนย์แล้ว
เมื่อวันอังคารที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ประธานชมรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดแห่งประเทศไทย และคณะได้เดินทางมาพบผมก่อนเข้าประชุม ครม.ได้มอบเข็มที่ระลึก เนื่องใน “วันไม้เท้าขาวสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี โดยขอให้รัฐลบาลส่งเสริมและพัฒนาการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และการเคลื่อนไหว เพื่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเภทความพิการทางการมองเห็น ในที่ประชุม ครม. ผมก็ได้สั่งการให้ทุกกระทรวง ที่มีโครงการใดๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ด้อยโอกาสทางร่างกายทุกประเภทด้วยครับ ทั้งนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมของเรา
สำหรับ เรื่องในการกีฬา ซึ่งขอให้ทุกคนได้ร่วมกันส่งแรงใจไปกับผมด้วย ไปเชียร์กองทัพนักกีฬาไทย ในการแข่งขันกีฬา “เอเชียน พารา เกมส์ 2014” (16 - 24 ต.ค. 57) ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ทั้ง 217 ท่าน ขอขอบคุณที่สร้างความสุขให้กับคนไทย มีการชิงเหรียญรางวัลมากมาย ก็คงจะนำมาฝากพี่น้องชาวไทยของเราให้ชื่นใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ นักกีฬาทุกท่านนั้น เป็นสัญลักษณ์ของ “ผู้ที่ไม่พ่ายแพ้” กับใครในการกีฬา ก็ขอให้รักษาแนวคิดเหล่านี้ไว้ เพื่อเราจะได้เพิ่มศักยภาพในเรื่องด้านการกีฬาของเรามากขึ้น
มีอีก 2 เรื่อง ผมต้องการจะเพิ่มเติมด้วยความห่วงใย เมื่อเช้าผมติดตามเห็นข่าวออกมาทางสื่อว่า เอกอัครราชทูตหลายประเทศของ EU ได้พูดถึงประเด็นการเสนอข่าวของสื่อไทย ซึ่งบางครั้งก็เป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นของผู้เสียหาย หรือผู้กระทำก็ตาม ที่ผ่านมาผมเห็นมีการพูดคุยกันระหว่างคณะทูตกับผู้แทนของสมาคมผู้สื่อข่าวประเทศไทย ก็ขอให้ระมัดระวัง เพราะเป็นการสร้างการรับรู้ไปยังต่างประเทศ นี้ก็มีผลต่อเนื่องไปหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน เช่น ในส่วนของเรื่องการสมัครสมาชิก UN ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ถึงแม้เราจะไม่ได้รับการคัดเลือก ขอให้ทุกคนได้ภูมิใจว่าเราไม่ได้แพ้มากมาย สูงสุดก็ 162 ก่อนหน้าเราก็ 142 ของเราก็ 136 ประเทศสนับสนุน ผมถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เข้ามาพิจารณาด้วยก็คือ ในส่วนของสถานการณ์ในการเดินหน้าประเทศเราตอนนี้ ก็อาจจะมีประเด็นหลักๆ อยู่บ้าง
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ถ้าสื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่เคยเป็นปัญหา ในสิ่งที่เราแก้ไข ผมว่าเขาก็เข้าใจได้ สิ่งนี้ผมก็ไม่ไปก้าวล่วงท่าน เพราะฉะนั้นท่านก็ไปพิจารณาว่าท่านควรจะต้องแก้ไขหรือทำอะไรอย่างไรต่อไป เพื่อช่วยประเทศไทยในการเดินหน้า และสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศให้เราด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือในส่วนของการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลในเวลานี้ ผมก็เรียนว่าเราก็พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ในทุกๆ มิติ ก็ขอให้ทุกคนได้ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันกับการทำงานของเรา ถ้าเราไม่ร่วมมือกันวันนี้ก็เดินหน้าไปไม่ได้ และเราแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน และให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ยังไม่ดีไม่เข้าใจ ผมยินดีน้อมรับทุกเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไข แต่หลายๆ อย่างก็คงต้องใช้เวลา ไม่สามารถจะแก้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตามก็ขอขอบพระคุณในกำลังใจที่ให้กับพวกเราเสมอมา เราก็จะทำหน้าที่ของพวกเราให้ดีที่สุด ขอบคุณ สวัสดีครับ…