- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 01 July 2020 22:40
- Hits: 10048
นายกรัฐมนตรี แถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎรวงเงินไม่เกิน 3,300,000,000,000 บาท เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือผลักดันแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
พร้อมย้ำว่า ฐานะการเงินต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง มีเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวน 235,708.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.8 เท่า ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น โดยเป้าหมายสำคัญของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ รักษาความสงบภายในประเทศ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ เตรียมพร้อมระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ได้แก่ การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค สร้างมูลค่าการเกษตร ความมั่นคงทางพลังงาน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพการกีฬา เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เสริมสร้างพลังทางสังคม กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างหลักประกันทางสังคม สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีแผนงานทั้งการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รัฐบาลดิจิทัล พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรายจ่ายงบกลางเพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงและภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ รวมทั้งบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรวมทั้งการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบครอบและกรอบระเบียบกฎหมาย เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงินรวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลังด้วย
นายกฯ เสนอร่างฯ งบปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านลบ.-ย้ำหนี้สาธาณะยังอยู่ในกรอบ
นายกฯ เสนอร่าง พ.ร.บ.งบปี 64 ต่อรัฐสภา กรอบวงเงิน 3.3 ล้านลบ. บนสมมติฐาน GDP ปี 63 ติดลบ 5 - 6% ส่วนปีหน้าคาดโต 4-5% ย้ำบริหารเงินอย่างเหมาะสม - สถานะคงคลังแข็งแกร่ง ย้ำหนี้สาธารณะที่ 41% ต่อจีดีพี อยู่ในกรอบวินัยการคลัง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ต.ค.63-ก.ย.64) วงเงินรายจ่าย 3.3 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิ 2.67 ล้านล้านบาท บนสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ติดลบ 5 ถึงติดลบ 6% จากปัญหาสงครามการค้า, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบการท่องเที่ยว
โดยงบประมาณ ปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล โดยแบ่งเป็นรายได้สุทธิ 267,700 ล้านบาทและเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณจำนวน 623,000 ล้านบาท
วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 2,526,131.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 76.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 674,868.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.5% ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 99,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.0% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 64 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ 4-5% จากฐานต่ำในปี 63 - แนวโน้มอุปสงค์จากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลาย - การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าคาดการณ์ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมถึงมาตรการกีดกั้นทางการค้าที่รุนแรงขึ้น แต่หากการระบาดโควิด-19 สามารถยุติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
"รัฐบาลจะบริหารการเงินการคลังให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยยืนยันว่าสถานการณ์การเงินของไทย อยู่ในสภาวะที่แข็งแกร่ง การจัดทำงบประมาณมีเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนมีเศรษฐกิจดี ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโควิด-19 ควบคู่กับการสร้างรายได้"นายกรัฐมนตรีกล่าว
สำหรับ สถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวนประมาณกว่า 7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.7% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในกรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 60%
โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 6,517,617.1 ล้านบาท
ทางด้านฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 512,955.1 ล้านบาท ส่วนฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 มีจำนวน กว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3.8% เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายจำแนกได้ดังนี้
1.งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวน 614,616.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.6% ของวงเงินงบประมาณ
2.งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,135,182 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.4% ของวงเงินงบประมาณ
3.งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 257,877.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.8% ของวงเงินงบประมาณ
4.งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 776,887.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23.6% ของวงเงินงบประมาณ
5.งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 221,981.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.7% ของวงเงินงบประมาณ
6.งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 293,454.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.9% ของวงเงินงบประมาณ
นอกจากนี้ รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรของสิ่งแวดล้อม ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ