- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Friday, 17 October 2014 12:54
- Hits: 3407
หม่อมอุ๋ย เชื่อ ศก.ปีหน้ารุ่งแน่,ดันธุรกิจไทยขยายฐานตปท.-เร่งดึงต่างชาติตั้งศูนย์กลางภูมิภาคในไทย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานทิศทางประเทศไทยในหัวข้อ'เศรษฐกิจไทย จะไปรุ่งหรือไปยุ่ง'โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจปี 58 จะเติบโตได้ถึง 4% แม้ภาคส่งออกอาจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ทั้งนี้ เป็นผลจากการเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างเต็มที่ และมีการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ส่วนเศรษฐกิจในปีนี้ต้องยอมรับว่าคงเติบโตได้ไม่เกิน 2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว
“ปีหน้าถ้าเทียบกับปีนี้อย่างไรก็รุ่ง ปีนี้มีการประท้วงต่อเนื่องเศรษฐกิจเดินไม่ได้ ประกอบกับโลกทั้งโลกชะลอตัว ไม่แปลกใจที่เศรษฐกิจจะโตไม่ถึง 2% เมื่อปีนี้ฐานต่ำแน่นอนปีหน้าอย่างไรก็ขึ้น...ปีหน้างบพัฒนาเต็มที่ การลงทุนภาคเอกชนบีโอไอเริ่มมีผล การใช้จ่ายภาครัฐลงเต็มมือ การส่งออกที่ชะลอตัวลงก็ขึ้นมาบ้าง ทำให้ปีหน้าโตได้4%"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นรัฐบาลได้เน้นการเดินหน้างานที่ค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว โดยเฉพาะงานซ่อมและสร้างต่างๆ เมื่อมีการเซ็นสัญญาจ้างงานพร้อมๆกันก็จะมีส่วนช่วยในการทำให้เกิดการจ้างงานและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมทั้งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งทางรางและการปรับปรุงระบบถนนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ
ขณะที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในด้านอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันมีหลายบริษัทของไทยที่สามารถเป็นผู้ผลิตและขายสินค้าเป็นอันดับ 1 ของโลก และกระจายไปทั่วภูมิภาคอาเซียน จึงไม่กังวลต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 58
แต่สิ่งที่ยังคงมีปัญหาคือ บริษัทคู่ค้ารายใหญ่ของไทยยังไม่เข้ามาตั้งศูนย์กลางทางการค้าในประเทศไทยมากนัก ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการกำหนดกฎเกณฑ์ เรื่องของภาษี และใบอนุญาตทำงาน เพื่อขจัดอุปสรรคในเรื่องดังกล่าว โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาตั้งศูนย์กลางในประเทศ
"สิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทุกๆด้านขับเคลื่อนไปพร้อม และไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลเก่ง แต่เป็นการเตรียมความพร้อมในแนวทางที่ถูกต้องว่าในช่วง 1 ปีจากนี้ ทั้งโครงการที่จะมีการสานต่อและที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
นอกจากนั้น รัฐบาลก็จะแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยในด้านสินค้าเกษตร จะให้ความสำคัญกับการดูแลปัญหาราคายางพารา ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เช่นเดียวกับที่ให้ความช่วยเหลือกับชาวนาที่รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือต้นทุนการผลิต 1,000 บาท/ไร่ และจากการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว พร้อมกับเร่งระบายข้าวในสต็อก โดยขณะนี้สามารถขายข้าวได้แล้ว 8 ล้านตัน และคาดว่าจะขายได้ถึง 10 ล้านตัน
อีกทั้งจะมีการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน เนื่องจากมองว่าปัจจุบันมีการใช้พลังงานเชื้อเพลิงสูงถึง 19% ต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)สูงกว่าหลายประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงเพียง 9% ต่อจีดีพี ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างให้มีความสมดุลและเน้นการประหยัดพลังงานให้มากยิ่งขึ้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังจะเร่งผลักดันร่างกฎหมายภาษีมรดกและภาษีที่ดินฯ โดยยืนยันจะมีการเรียกเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม และไม่กระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย พร้อมทั้งเดินหน้าเรื่องของดิจิตอล อีโคโนมีให้เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมาย และถือเป็นการทำงานร่วมกันของทุกกระทรวงมากกว่า 10 กระทรวง และถึงแม้อาจจะไม่แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ก็จะวางรากฐานให้กับรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการระดับชาติ
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)กล่าวในหัวข้อ"ประชาธิปไตยไทย ประชาธิปไตยโลก"มองทิศทางประเทศหลังจากนี้ว่า แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะพยายามสร้างความปรองดองสมานฉันท์และเดินหน้าปฏิรูปประเทศ แต่ไม่มั่นใจว่าจะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารได้อีกหรือไม่
“แม้ คสช. หรือรัฐบาลพยายามสร้างความสมานฉันท์ แต่บ้านเมืองอาจไม่กลับสู่ความสงบสุขได้ง่ายๆ หลายคนแน่ใจว่าการเมืองไทยไม่มีทางปลอดจากการแทรกแซงของทหาร รัฐประหารครั้งที่ผ่านมาอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย"นายเอนก กล่าว
ทั้งนี้ นายเอนก ได้หยิบยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของประเทศที่หลายคนมองเป็นต้นแบบ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้เวลาไม่น้อย200 ปี แต่ก็ผ่านทั้งการต่อสู้ การประนีประนอม กว่าจะได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และหากมองกลับมาที่ประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นประชาธิปไตยมา82 ปี ยังถือน้อยกว่ามาก แต่ก็ควรหาแนวทางทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้ได้และสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ต้องมีการให้ความรู้อย่างถูกต้อง
อินโฟเควสท์