WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

11313

สมคิด จ่อชงแผนเร่งลงทุนเข้าครม.28 ม.ค.นี้-ยันงบ 63 ล่าช้าไม่กระทบ EEC

   สมคิด  เตรียมจัดแพ็กเกจกระตุ้นเอกชนลงทุน ชงครม. 28 ม.ค.นี้ นำรายจ่ายซื้อเครื่องจักร ลดภาษี 2.5 เท่า คาดรัฐสูญรายได้ 9,000 ลบ. พร้อมเร่งรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกเข้าครม.เร็วๆนี้ ยันงบ 63 ล่าช้าไม่กระทบ EEC 

     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการลงทุนรองรับปี 2563 ปีแห่งการลงทุนว่า  เตรียมจะออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน ประกอบด้วย มาตรการของกระทรวงการคลัง ที่จะให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องจักร สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้ 2.5 เท่า ซึ่งมากกว่าเดิมที่เคยให้ 1.5 เท่า

   รวมถึงจะมีมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วย โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 28 มกราคมนี้

  สำหรับ การลงทุนของกระทรวงคมนาคม จะเร่งรัดผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และฝากกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมแผนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอให้ครม.อนุมัติ ในเร็วๆนี้เช่นเดียวกัน

  ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน เห็นชอบมาตรการด้านการเงินการคลังสนับสนุนการลงทุน ในปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย มาตรการหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรได้ 2.5 เท่า สูงที่สุดที่เคยให้มาที่ 2 เท่า และยกเว้นอากรขาเข้าเพื่อการนำเข้าเครื่องจักร โดยมาตรการมีผล 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2563 หลังจากนี้จะเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบต่อไป

  “มาตรการนี้ เบื้องต้น คาดว่า จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษี 9,000 ล้านบาท แต่ได้ผลกลับคืนมาที่คาดว่าจะมีการเร่งลงทุนได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยเทียบจากมาตรการหักลดหย่อน 2 เท่า ที่มีการลงทุน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อต้องการสนับสนุนการลงทุนในประเทศ และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการเป็นหลัก ดังนั้นจึงถือว่าคุ้มค่า” นายอุตตม กล่าว

  ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้ซื้อเครื่องจักร จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่ง วงเงินรวมเป็น 120,000 ล้านบาท เช่น มาตรการสินเชื่อพิเศษเอส่งเสริมผู้ส่งออกของธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ที่เตรียมวงเงินสำหรับเปลี่ยนเครื่องจักร ในการผลิตเพื่อส่งออก อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 5,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน สินเชื่อ Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท สินเชื่อสำหรับลงทุนในพื้นที่ EEC 20,000 ล้านบาท สินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) 20,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย 60,000 ล้านบาท

 นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เตรียมจัดประชุม CEO Forum เพื่อจัดทำแผนเร่งรัดงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2563 และเสนอแผนให้คณะกรรมการเห็นชอบ รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดทำแผนโรดโชว์นักลงทุนต่างประเทศ แต่เป็นแผนที่มียุทธศาสตร์และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการดึงดูดให้มาลงทุนชัดเจนขึ้น ส่วนกระทรวงคมนาคม ก็ยืนยันว่าจะเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ในปี 2563 ด้วย

  นายอุตตม กล่าวถึง การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อรับมือปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น รวมถึงโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขต EEC ด้วย โดยหลังจากนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ EEC และครม.ต่อไป

  อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า แม้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่จะไม่กระทบกับการลงทุนใน EEC เพราะส่วนใหญ่การลงทุนดังกล่าว จะมาจากการร่วมทุนตามแผน PPP ซึ่งจะมีเม็ดเงินลงทุนเริ่มต้นจากภาคเอกชน

 ทั้งนี้ ในระยะสั้นได้ขอความร่วมมือให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนใช้น้ำลดลง 10% ช่วงเดือนม.ค.– มิ.ย. 2563 แต่หากฝนตกล่าช้าจากปกติเดือนมิ.ย.ออกไปอีก ก็ได้วางแผนลดความเสี่ยงด้วยการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร

 พร้อมทั้งสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต - บางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งดำเนินการเสร็จทั้ง 3 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 170 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อุตสาหกรรม EEC และเพียงพอต่อการใช้ของประชาชนในพื้นที่แน่นอน

 ส่วนในระยะยาวได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 2563 – 2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) วงเงินลงทุน 52,797 ล้านบาท และแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน 38 โครงการ วงเงินลงทุน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน - อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น

  รวมถึงจัดทำแผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ 9 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น และมาตรการอื่นๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท

 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขต EEC ตามที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เสนอ โดยให้มีการศึกษา พัฒนา ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่อีอีซี และส่วนขยาย ให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30

  พร้อมเร่งรัดการลงทุน ร่วมกับภาคเอกชน ให้มีการผสมผสานระหว่างการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในพื้นที่ รวมทั้งให้ศึกษาความเหมาะสม และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยรักษาเสถียรภาพ และบริหารความต้องการไฟฟ้าสูงสุดช่วงเวลากลางคืน

`อุตตม`เตรียมถกสำนักงบฯ รับมืองบ 63 ล่าช้า ยันไม่มีแผนออกพ.ร.ก.กู้เงิน

   คลังเตรียมถกสำนักงบฯ รับมือเบิกจ่ายงบล่าช้า ยันไม่มีแผนออกพ.ร.ก.กู้เงิน วงในชี้เบื้องต้นอาจเบิกงบปี 62 มาใช้ก่อน หรือเพิ่มเพดานงบผูกพัน ส่วนการใช้งบฉุกเฉินย้ำจะเป็นแนวคิดสุดท้าย

   นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลัง จะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อเตรียมแผนรองรับหากเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ล่าช้าควรจะมีแนวทางออกอย่างไรบ้าง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด

   อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถระบุในรายละเอียดได้ เพราะส่วนหนึ่งต้องรอกระบวนการพิจารณาเรื่องงบประมาณให้สิ้นสุดเสียก่อน แต่ยืนยันยังไม่มีแนวคิดที่จะต้องออกพ.ร.ก.เงินกู้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวแน่นอน

   แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ ระบุว่า แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีงบประมาณปี 2563 เบิกได้ล่าช้าจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้จริง ในเบื้องต้นรัฐบาลคงจะใช้วิธีการเบิกจ่ายด้วยการใช้งบปี 2562 ไปพรางก่อน ซึ่งการเบิกใช้งบประมาณประจำ เช่น การเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ การเบิกจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค หรือที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำยังสามารถเบิกใช้ได้อยู่ ทำให้การบริหารงานของราชการประจำจะไม่สะดุดและมีปัญหาอะไร

   “ที่เป็นห่วงว่าการเบิกจ่ายล่าช้าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบตาม ซึ่งอาจปรับเงื่อนไขการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ผูกพันไว้แล้ว ให้สามารถเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันในกรณีที่งบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า สำนักงบฯได้กำหนดเพดานงบรายจ่ายด้านลงทุนที่ผูกพันข้ามปีไว้เพียง 50 % เท่านั้น  ดังนั้นอาจจะปรับเพิ่มเพดานเบิกจ่ายงบลงทุนที่มีการผูกพันได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำได้สูงสุดถึง 100% เพื่อให้มีเงินลงทุนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ก่อนในช่วงนี้”แหล่งข่าวระบุ

   ส่วนข้อเสนอให้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน คงจะทำไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุไว้ว่าหากรัฐบาลจะทำจะต้องเป็นพ.ร.บ.เท่านั้น ซึ่งในกระบวนการออก พ.ร.บ. ก็ต้องใช้เวลาพิจารณาและผ่านขั้นตอนอีกพอสมควรจึงไม่เหมาะช่วงนี้

   ขณะที่แนวทางการใช้งบฉุกเฉิน หรือเงินทุนสํารองจ่าย ที่ครม. สามารถใช้อำนาจกฎหมายของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 อนุมัติได้สูงถึง 50,000 ล้านบาทนั้น มีเงื่อนไขว่าจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน หรือกรณีงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นไม่เพียงพอเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์คงยังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีนี้ และอาจเก็บไว้เป็นวิธีท้ายสุด

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!