- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 03 November 2019 17:55
- Hits: 9954
นายกรัฐมนตรี เปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 มุ่งสร้างอนาคต มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 โดยมีผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ เข้าร่วม ภายหลังเสร็จสิ้น
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิดหลัก'ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน' (Advancing Partnership for Sustainability) โดยเป็นการประชุมในระดับผู้นำครั้งสุดท้ายของปี ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยนอกจากผู้นำอาเซียนแล้ว ยังมีผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี และรัสเซีย
รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ ที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 นอกจากนี้ ยังมีผู้นำจากภาคีภายนอก และองค์การระหว่างประเทศที่ได้รับเชิญเป็นแขกของประธาน (Guest of the Chair) เข้าร่วมด้วย ได้แก่ กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)
นายกรัฐมนตรียินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงเทพฯ และนนทบุรี ซึ่งเกิดจากความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพกับประชาคมโลก อันจะช่วยยกระดับภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้า
เมื่อพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเนื้อร้องเพลงดิอาเซียนเวย์ 'We dare to dream, we care to share'เพื่อเป็นการทบทวนความกล้าฝันจากรุ่นสู่รุ่น และหารือแนวทางร่วมกันในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต
ภายใต้แนวคิดหลัก 'ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน'ด้วยความร่วมมือครั้งนั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ การรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เพื่อสานต่อผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 นายกรัฐมนตรีขอกล่าวเนื้อร้องอีกท่อนหนึ่ง คือ 'ASEAN we are bonded as one. Looking out to the world.''อาเซียนเราผูกพันกันเป็นหนึ่ง มองออกไปสู่โลก'ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่ไม่เพียงความร่วมมือร่วมใจเฉพาะในภูมิภาค
แต่ยังให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ซึ่งถือเป็น 'กัลยาณมิตร' ที่ช่วยสนับสนุนให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายที่วาดฝันไว้ และขยายผลสู่นอกภูมิภาคอาเซียน
ในปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนและโลกต่างเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำที่สุดในรอบสิบปีจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)การแข่งขันทางภูมิยุทธศาสตร์ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของความขัดแย้งทางการค้าและปัญหาอื่น ๆ ระหว่างบางประเทศ ความท้าทายต่อระบบพหุภาคีนิยม ปัญหาอาชญกรรมข้ามชาติ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และขยะทะเล ดังนั้น ความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพ อันแน่นแฟ้นจึงมีความสำคัญที่จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียพร้อมรับมือ และก้าวผ่านความท้าท้ายเหล่านี้ไปได้
ในช่วงการประชุมระหว่างวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2562 นี้ ถือว่าเป็นวาระสำคัญที่จะสะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับประชาคมโลก เพื่อร่วมมือร่วมใจ สานต่อผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 และวางแนวทางร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากความเป็นแกนกลางและจุดเด่นของภูมิภาคอาเซียนที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ และไม่เป็นศัตรูกับใคร เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก และสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ
โดยดำเนินการในสองแนวทาง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในระยะยาว ไปพร้อมกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งสองมิตินี้ถือว่าเป็น 'สองด้านของเหรียญเดียวกัน' ที่จะนำมาซึ่งภูมิภาคที่ยั่งยืน
ประการที่หนึ่ง การสร้างภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ ต้องมุ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของหลักการ 3M คือ การเคารพซึ่งกันและกัน การไว้เนื้อเชื่อใจ และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างกัน
นอกจากนี้ ต้องมุ่งวางรากฐานด้านกฎกติกา ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือสำคัญที่ภูมิภาคอาเซียนมี ทั้งการนำหลักการสำคัญของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) นำมาใช้ในบริบทที่กว้างมากกว่าภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่เราได้ต้อนรับอัครภาคีของสนธิสัญญาฯ เพิ่มเติม สะท้อนให้เห็นถึงการที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับในหลักการพื้นฐานและกฎกติกาของการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค รวมไปถึงการมีกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน การมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็งและมีภูมิภาคอาเซียนเป็นแกนกลาง อาทิ การประชุมสุดยอดอาเซียนตะวันออก อาเซียนบวกสาม เออาร์เอฟ
และความร่วมมืออาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการจัดทำประมวลการปฏิบัติ (COC) ในทะเลจีนใต้ระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับจีน และการฝึกผสมทางทะเลระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับสหรัฐ เป็นต้น
ประการที่สอง คือ การสร้างภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืน ผ่านการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ดำเนินการให้เสร็จในปีนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกไปพร้อมกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ทั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคในอนาคต
นอกจากนี้ ยังต้องมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในภูมิภาคอาเซียนด้วยการสร้างความเกื้อกูลระหว่างยุทธศาสตร์ ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ทั้งภายในอาเซียนและนอกภูมิภาค ตั้งแต่การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ระหว่างประชาชน ทางการเงิน และด้านดิจิทัล รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค 4IR เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ MSMEs เกษตรกร กลุ่มธุรกิจสตาร์ท-อัพ รวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องมี 'กระบวนทัศน์' ใหม่สาหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัต มีความยั่งยืน และครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ทิ้งใครข้างหลัง โดยต้องให้ความสำคัญกับ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการรักษาสภาพแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทะเล ด้วยการดำเนินการตามกรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ปัญหามลพิษทางอากาศ ด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และปัญหาประมง IUU ด้วยการพัฒนาเครือข่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง IUU ซึ่งทั้งหมดต้องพึ่งพาความร่วมมือกับหุ้นส่วนอาเซียนและมิตรประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความมั่นคงที่ยั่งยืนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ดังนั้น การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประชาชน ผ่านการส่งเสริมอัตลักษณ์ของภูมิภาคอาเซียนและสายใยทางวัฒนธรรมระหว่างกัน จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอก
ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือร่วมใจของประเทศสมาชิกอาเซียนและประชาชนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราบรรลุเป้าหมายและร่วมสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ศูนย์อาเซียนทั้ง 7 แห่งในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่จะได้ร่วมเปิดตัว 3 ศูนย์สุดท้าย จากทั้งหมด 7 ศูนย์ ให้เป็นมรดกของการลงทุนจากความร่วมมือร่วมใจเพื่อประโยชน์ต่อทุกคนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อลูกหลานของพวกเรา และเพื่ออนาคตของภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีขอเชิญชวนทุกคน ร่วมมือ ร่วมใจ และจับมือกับหุ้นส่วนให้แน่นขึ้น เพื่อร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนที่จะสร้างภูมิภาคที่มีสันติภาพ มีเสถียรภาพ และมีความไพบูลย์ เพื่อวางรากฐานประชาคมอาเซียนที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่คนรุ่นนี้และคนรุ่นหน้า โดยให้ประชาคมอาเซียนของพวกเราที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต สามารถเป็นพลังสำคัญ ในการบรรลุความฝันนี้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อประโยชน์ต่อไป
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน