- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 30 September 2014 23:17
- Hits: 3810
หม่อมอุ๋ย เข็นแพ็คเกจกระตุ้นศก. ชงเรื่องให้ครม.เคาะ 1 ตุลาคมนี้
แนวหน้า : นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี จะเสนอแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบ เป็นมาตรการจากหลายส่วน ในการเร่งการลงทุน การบริโภค และการช่วยเหลือภาคเกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ โดยจะไม่ใช่การใช้งบประมาณในลักษณะโครงการประชานิยม เบื้องต้นจะใช้งบประมาณที่เหลือจากโครงการไทยเข้มแข็ง 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จะเป็นการจัดสรรจากงบค้างท่อ งบเหลื่อมปี และงบท้องถิ่น
“งบส่วนที่เหลือจากไทยเข้มแข็ง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง จะต้องไปพิจารณาเก็บกวาด เอาจากงบค้างท่อ งบเหลื่อมปี งบท้องถิ่นในปี 2557-2558 ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทมาได้อย่างไร”นายสมหมาย กล่าว
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 ได้มีการหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยแนวทางดังกล่าวจะนำไปรวมกับแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในส่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอมาในวงเงินช่วยเหลือเกษตรกร 1 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังก็จะพยายามหาแหล่งเงินมาสนับสนุนโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางช่วยจะเป็นไปในลักษณะใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายรังสรรค์ได้ประเมินเม็ดเงินที่จะใช้แพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะประมาณ 250,000 ล้านบาท มาจากงบค้างท่อกว่า 200,000 ล้านบาท โครงการไทยเข้มแข็งที่เบิกจ่ายไม่ทัน 15,000 ล้านบาท และวงเงินงบประมาณก่อนปี 2557 อีกกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ก่อหนี้ นำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโครงการที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ก็เดินหน้าได้ทันที
นายสมหมาย ยังกล่าวถึง การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าทางสำนักงานสลากฯยังไม่ได้มีการเสนอมาให้พิจารณา แต่ขณะนี้ยังมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการก่อน เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสรรพาสามิตกล่าวว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ยังไม่ได้เรียกให้กรมสรรพสามิตเข้าไปหารืออย่างเป็นทางการ เพราะต้องรอการพิจารณาของฝ่ายนโยบายว่าจะดำเนินการทันทีหรือไม่
คลอดแผนกระตุ้น 1 ต.ค.นี้ทีม ศก.เครียดพบสัญญาณเครื่องยนต์เศรษฐกิจอ่อนแรง
บ้านเมือง : "หม่อมอุ๋ย" เสนอแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเข้า ครม.พุธนี้ ทั้งการลงทุน การบริโภค และการช่วยเหลือภาคเกษตรกร คลัง เผยศก.ส.ค. 57มีสัญญาณแผ่ว หลังบริโภค-ลงทุน-ส่งออก-ท่องเที่ยวหดตัว สศค. คาด GDP ช่วงครึ่งปีหลัง โตไม่ถึง 4% ปรับลดคาดการณ์ ทั้งปี 57 เหลือ 1.6-2% จากเดิม 1.5-2.5%
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยจะเป็นมาตรการหลายส่วนทั้งการลงทุน การบริโภค และการช่วยเหลือภาคเกษตรกร โดยยืนยันว่าไม่ใช่การใช้งบประมาณในลักษณะโครงการประชานิยม
ทั้งนี้ เบื้องต้นงบประมาณที่จะนำมาใช้มาจากงบประมาณที่เหลือจากโครงการไทยเข้มแข็ง 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จะเป็นการจัดสรรจากงบค้างท่อของปีงบประมาณ/57, งบเหลื่อมปี และงบประมาณส่วนท้องถิ่น ซึ่งในส่วนนี้ปลัดกระทรวงการคลังจะต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการจัดสรรงบอย่างไร นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะหารือแนวทางการช่วยเหลือลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยจะนำไปรวมกับแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเช่นกัน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะยังไม่มีการเสนอร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ เพราะต้องหารือกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลังอีกครั้งก่อน เนื่องจากยังมีความเห็นที่แตกต่างกันบางจุดในเรื่องข้อยกเว้นและอัตราภาษี อีกทั้งการกำหนดอัตราภาษียังต้องเชื่อมโยงกับการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์ครบทั้ง 30 ล้านแปลง โดยปัจจุบันดำเนินการไปแล้วเพียง 7 ล้านแปลง ซึ่ง รมว.คลังเร่งให้ทางกรมธนารักษ์ไปดำเนินการประเมินให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีฯ จะมีบทเฉพาะกาลเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้เวลาประชาชนปรับตัว
ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ส.ค.57 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2557 มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีการชะลอตัว สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวเช่นกัน ขณะที่การผลิตในภาคเกษตรกรรมสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี
โดยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดพบว่า การบริโภคภาคเอกชนในเดือน ส.ค.57 มีสัญญาณหดตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ส.ค.57 หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย
เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์พบว่า หดตัวทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -14.1 ต่อปี และหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -4.5 ต่อเดือน เช่นเดียวกับยอดขายปูนซิเมนต์ที่หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -0.1 ต่อเดือน ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ-21.2 ต่อปี
อย่างไรก็ดี พบว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์สามารถกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ด้านอุปสงค์ต่างประเทศหดตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน ส.ค.57 มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกที่หดตัว ได้แก่ สินค้าในหมวดยานพาหนะ และหมวดเกษตร ในสินค้ายางพารา เป็นสำคัญ
สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วงครึ่งปีหลังอาจเติบโตไม่ถึง 4% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวได้ดีอย่างที่คาดหวัง ดังนั้น จึงปรับลดคาดการณ์ GDP ทั้งปี 57 เหลือเติบโตในช่วง 1.6-2% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ 1.5-2.5% หลังจากประเมินว่าการส่งออกคงจะเติบโตไม่ถึง 1% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ในครั้งนี้ยังไม่รวมปัจจัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเตรียมจะประกาศ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่คงค้างจ่ายในปี 57 และรายจ่ายช่วงต้นปีงบประมาณ 58