- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Monday, 05 November 2018 18:37
- Hits: 3598
'ประยุทธ์' เชื่อ บีซีจี โมเดลมี ประโยชน์ อ้อนประชาคมวิจัยลงพื้นที่ ทำความเข้าใจประชาชน
ประชาคมวิจัยครึ่งพัน เข้าพบนายกฯ ยื่นข้อเสนอโมเดลเศรษฐกิจ 3 ฐานหลัก ชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว ใช้จุดแข็งความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรไทยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้าน ‘ประยุทธ์’ ชี้หากทำสำเร็จไทยรวยแน่ เชื่อมีประโยชน์ วอนประชาคมวิจัยลงพื้นที่ช่วยรัฐบาล ทำความเข้าใจประชาชน ชมเปาะ ‘อีสานโมเดล’สุดยอด เชื่อลดจำนวนคนจนภาคอีสานเหลือไม่เกินร้อยละ 4 ภายใน 5 ปี สวทน. อาสาผลักดันสมุดปกขาว สู่ยุทธศาสตร์วิจัยของชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้นำประชาคมวิจัยทั้งภาครัฐเอกชน และมหาวิทยาลัย รวม 500 คน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พร้อมนำเสนอและมอบสมุดปกขาว ‘BCG in Action: การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)’
ผู้แทนประชาคมวิจัย ประกอบด้วย รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ให้ข้อมูลว่า BCG Model เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการนำองค์ความรู้มาต่อยอดฐานความเข้มแข็งภายในของประเทศไทย คือ ความหลากหลายทางชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมกับปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบ ความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าว ยังเป็นการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแนวคิดนี้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บีซีจี ที่ครอบคลุม 4 เป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและเคมีชีวภาพ การแพทย์และสุขภาพ
รวมถึงการท่องเที่ยว โดยมีเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ต้องถูกนำไปใช้กับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าใน 3 เรื่อง คือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ สุดท้ายคือการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ทั้งนี้ เมื่อเกิดการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ จะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สมบูรณ์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล กล่าวเสริมในฐานะผู้แทนประชาคมวิจัยว่า ประชาคมวิจัยได้ร่วมขับเคลื่อน BCG Model ผ่านโครงการ Inno Hub โดยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาได้สนับสนุน SMEs และ Startups พัฒนาสินค้าและบริการนวัตกรรมทางด้านเกษตรและอาหาร สังคมผู้สูงอายุ พลังงานชีวภาพ เมืองอัจฉริยะ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ข้อเสนอ BCG in Action จะต่อยอดการดำเนินงานของ Inno Hub ให้ขยายผลได้กว้างขึ้น
ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ข้อเสนอ BCG in Action ที่ประชาคมวิจัยร่วมกันจัดทำมานี้ จะส่งเสริมการนำ วทน. ไปยกระดับผลิตภาพของผู้ผลิตส่วนฐานของปิระมิด คือ ผู้ประกอบการในระบบการผลิตเดิมซึ่งใช้เทคโนโลยีไม่สูง แต่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือชุมชน เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศทั้งระบบให้สูงขึ้น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมผู้ประกอบการส่วนยอดปิระมิด ที่มีความพร้อมผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสูง มีกำลังลงทุนในเทคโนโลยี พร้อมรับความเสี่ยง แม้มีจำนวนน้อยแต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง และจะเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ให้สามารถผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมสูงขึ้นหรือเป็นผู้สร้างนวัตกรรม มุ่งเป้าสู่การเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม แทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตร 3 - 5 เท่า รวมถึงจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจชีวภาพจากมูลค่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของ จีดีพี ในปี 2559 และเพิ่มเป็น 4.3 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 25 ของจีดีพีในปี 2566
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ประชาคมวิจัยทั้งรุ่นเก่าใหม่เดินทางเข้าพบ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานงานวิจัยทั้งเก่าใหม่แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตนได้ศึกษาบีซีจีโมเดล ตั้งแต่ช่วงวันหยุด อ่านทุกหน้าอย่างละเอียด และเห็นว่าถ้าทำได้ตามที่ท่านเสนอประเทศชาติรวยแน่ อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องเพื่อให้ปรับปรุงระบบ ระเบียบงบประมาณเพื่อความคล่องตัวในการทำงานนั้น รัฐบาลได้เขียนไว้แล้วยุทธศาสตร์ชาติ อยากให้พวกท่านไปศึกษาให้ครอบคลุม แล้วดูว่าจะร่วมกันต่อยอดอย่างไร เนื่องจากเรารต้องทำงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ
“ตามที่ท่านเสนอมาในรูป บีซีจี โมเดลนั้น รัฐบาลได้ทำไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังติดขัดที่ประชาชนไม่เอา ทำให้หลายโครงการเดินหน้าไม่ได้ พวกท่านต้องช่วยรัฐบาลโดยการลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ทีจะได้รับ นักวิจัยคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าใคร ท่านต้องช่วยผม อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องให้การศึกษา สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ทุกภาคส่วนต้องสร้างเครือข่ายของตัวเอง ไม่แยกกันทำ นอกจากนี้ยังขอให้วางโรดแมปการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 1-3 ปี รัฐบาลจะได้ซอยงบประมาณ และนำบรรจุในแผนแม่บทต่อไป”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังแสดงความห่วงใย ถึงเกษตรกรระดับฐานราก โดยบอกว่า การแก้ปัญหาต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยกตัวอย่าง การเลี้ยงจิ้งหรีด หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัรฑ์ ตอนนี้เราอย่าคิดแต่ว่าจะเพิ่มราคาสินค้าให้ได้ราคาสูง เนื่องจากประเทศทั่วโลก คำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร จึงทำการเกษตรในประเทศของตัวเอง หรือจ้างปลูกในประเทศที่ค่าแรงถูก ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดควบคู่กันไป คือ คำนึงถึงความต้องการของตลาด รวมถึงงานวิจัยที่คิดมานั้นต้องรองรับทั้งตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมนิทรรศการอีสานที่ 4.0 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และเครือข่าย มาจัดแสดง โดยหยิบยกงานวิจัยเด่น เช่น ไก่ไร้เกาต์ อีสานวากิว ซึ่งเป็นการพัฒนาเนื้อโคขุนให้นุ่มน่ารับประทาน ข้าวเปลือกเพาะงอก โปรตีนจิ้งหรีดแปรรูปเพื่อสุขภาพ น้ำนมคุณภาพสูงเอ็มมิลค์ โดยได้แสดงความชื่นชม และย้ำว่า ขอให้พัฒนาและขยายเครือข่ายไปสู่เกษตรกรในวงกว้างเพื่อลดพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำเนื่องจากผลิตออกมาล้นตลาด พร้อมตั้งเป้าจะลดจำนวนคนจนไม่เกินร้อยละ 4 ของจำนวนประชากรในภาคอีสาน ภายใน 5 ปี
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอ บีซีจี โมเดล จะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระบบการผลิตที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีมากนัก ให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น ไปพร้อมกับการพัฒนาผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถอยู่แล้ว ให้มีศักยภาพในระดับโลก โดย สวทน. จะผลักดันสมุดปกขาว บีซีจีโมเดล นี้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศต่อไป