- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 07 September 2014 09:32
- Hits: 3620
'ปนัดดา'น้อมนำแนวคิดพอเพียง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
แนวหน้า : ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวอร์เจน กรุงเทพฯ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นวิทยากร ขึ้นบรรยายในหัวข้อเรื่อง "ชี้แจงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มีเนื้อหาใจความตอนหนึ่งว่า บริบททางความคิดของฝ่ายปกครอง เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่มีวันสิ้นหายไปได้ คือ สิ่งที่ในหลวงได้ประทานมาให้ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมากำหนดเป็นกรอบความคิด กรอบความคิดพระองค์ท่าน ล้วนเป็นความรอบคอบ ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และได้ขยายไปหลายหน่วยงาน
แต่บทสรุปที่ได้รับมา ตัวเลขไม่น่าพอใจ บางหน่วยงานก็น่าพอใจ หน่วยงานฉาบฉวย สิ่งที่พระราชทานสอนแทนที่จะนำไปประกอบใช้ให้เกิดผลจริง เน้นพื้นที่ ที่เรียกว่า area approach เลยมักเกิดผลแต่ในบางเรื่อง เรามีอำเภอทั้งหมด 878 แห่ง มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน ชุมชน การจัดการน้ำ เพื่อนำไปสู่การจัดแผนชุมชน ตามเป้าหมายหมู่บ้าน ที่ร้อยละ 25 หรือไม่ และได้มีการนำหลักพอเพียงไปใช้ประกอบมากน้อยมากเพียงใด ซึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนามียุทธศาสตร์อยู่ทั้งหมด 7 ด้าน
ด้านที่ 1 การส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภาคเกษตร ชนบท ต้องให้เกิดความชัดเจนได้ รับฟังปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร
ด้านที่ 2 ภาคการศึกษา มุ่งพัฒนาการจัดการศึกษา เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน มีการพัฒนาอย่างเป็นเลิศ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ยกตัวอย่าง พื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ กรณีศึกษา มีเสน่ห์ทำให้คนอยากมาเรียน เช่น ม.พายัพ ม. โดยปรับความคิดจากในหลวงมาใช้ทั้งนั้น โดยปลูกฝังปรัชญาพอเพียงในวัยรุ่น
ด้านที่ 3 ภาคธุรกิจ บริการ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม หลายภารกิจตอนนี้รวมอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดธุรกิจภาคเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย การสร้างภาคีเครือข่าย
ด้านที่ 4 ด้านการต่างประเทศ อยากให้ทำความเข้าใจกับคนต่างชาติว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ การกลัว แต่เป็นการมีความสุขอย่างเพียงพอ
ด้านที่ 5 เพิ่มบทบาทการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก เพื่อเผยแพร่เศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้าง สามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ประชาชนได้ถูกต้อง เพื่อนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ทั้งภายในและต่างประเทศ
ด้านที่ 6 ด้านความมั่นคง โดยมุ่งบูรณาการขับเคลื่อนระหว่างกองทัพกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงเป็นอย่างมาก อันจะส่งผลต่อเสถียรภาพความมั่นคงในภาพรวมของประเทศ
และด้านที่ 7 สร้างกลไกการบริหารจัดการ ไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมกัน มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้นในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นศูนย์กลางประสานติดตาม และส่งเสริมให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ มีการเชื่อมโยงและสนับสนุนกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน