- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 10 March 2018 23:03
- Hits: 6558
IMF แนะ'สมคิด'ใช้เงินทุนสำรองจำนวนมหาศาลให้เกิดประโยชน์
แนวหน้า : เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 Mr. Markus H.Rodlauer รอง ผู้อำนวยการกรมเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ(IMF) หารือกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสคณะทำงาน IMF เดินทาง มาเก็บข้อมูลหลายประเทศ
โดยตัวแทนไอเอ็มเอฟเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมากถึง 214,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) จึงแนะนำให้ไทยนำทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่จำนวนมาก ตั้งกองทุนออกมาหาผลตอบแทนหรือหาประโยชน์เพิ่มเติม เหมือนกับหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายสมคิดได้ตอบตัวแทนไอเอ็มเอฟ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ศึกษาแนวทาง ดังกล่าวเหมือนกัน แต่การนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ประโยชน์ เป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับสังคมไทย จึงต้องศึกษาเรื่องนี้ให้รอบคอบ
ส่วนประเด็นอัตราเงินเฟ้อของไทยขยายตัวต่ำ นายสมคิดชี้แจงว่า รัฐบาลได้มุ่งแก้ปัญหาและออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายด้าน จึงดึงอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา แต่หากสูงเกินไปจะดึงลงกลับมาลำบาก อีกทั้งไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเน้นเก็บออมเงินรองรับการเกษียณมากกว่าการใช้จ่าย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลัง Mr.Markus H. Rodlauer รองผู้อำนวยการกรมเอเชียและแปซิฟิก IMF และคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund:IMF) เข้าพบว่า ทาง IMF ได้มีการหารือเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น แต่ IMF กลับแปลกใจว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งได้ชี้แจงไปว่าเป็นเพราะการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ดี
นอกจากนี้ IMF ยังสอบถามถึงทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งพบว่าไทยมีเงินทุนสำรองถึงกว่า 2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 10% ของจีดีพี ทาง IMF จึงแนะนำให้ไทยน่าจะควรใช้ประโยชน์จากเงินส่วนนี้ ซึ่งทางการไทยมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดูในเรื่องนี้ โดยนายสมคิดได้ยกตัวอย่างในต่างประเทศว่า จะใช้วิธีการตั้งกองทุนชาติแล้วนำเงินไปลงทุนในเรื่องดีๆ แต่ในไทยนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นก่อน
"การที่จะนำเงินสำรองไปลงทุน คนไทยบางทีไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่ง IMF แนะนำว่า ควรใช้เงินกองทุนนี้ไปใช้ก่อให้ประโยชน์ เช่นไปลงทุนในกองทุน เพื่อใช้เป็นสวัสดิการในวันข้างหน้า หรือไป set up เป็น Fund ซึ่งไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้ได้รีเทิร์นสูงๆ ไม่ใช่เก็บออมอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้แบงค์ชาติทราบและศึกษาอยู่ แต่ต้องค่อยๆ เพราะบางทีเมืองไทยไม่เข้าใจ เพราะบางทีคิดว่ายิ่งเก็บมากยิ่งดี"นายสมคิด กล่าว
อย่างไรก็ตาม IMF กังวลว่าหากไม่มีการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปใช้ประโยชน์ หากค่าเงินบาทแข็ง อาจส่งผลต่อการส่งออกได้ ซึ่งนายสมคิด เชื่อว่า หากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย เงินจะไหลออกทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งขึ้น
นายสมคิด ยังได้ชี้แจงถึงการดำเนินงานของรัฐบาลไทยว่า ขณะนี้กำลังเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลได้ทำควบคู่กันไปทั้งในเรื่องของการส่งเสริมเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ส่วนด้านอุตสาหกรรม ได้เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ โดยมีโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นโครงการสำคัญ และการพัฒนาดิจิทัล โดยเชิญให้ IMF มาช่วยสนับสนุนในแนวทางนี้
พร้อมกันนี้ ทาง IMF ได้ชื่นชมไทยที่มีพัฒนาการและมีโครงการที่เป็นประโยชน์ พร้อมยืนยันไปว่า ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯจีน ญี่ปุ่น หรือ อินเดียก็ตาม
นอกจากนี้ ได้มีการหารือเรื่องปัญหาผู้สูงวัย ซึ่งทาง IMF มีความเป็นห่วงว่าไทยมีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางการไทยได้มีมาตรการในการดูแลทั้งในเรื่องของการออก พ.ร.บ.เงินออม และการจัดสวัสดิการต่างๆ และหาเงินทุนเพื่อออกมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อไป
อินโฟเควสท์