- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 04 February 2018 19:52
- Hits: 1122
นายกฯ แจงทำงบรายจ่ายเพิ่มเติมยังคำนึงวินัยการเงินการคลัง ปัดรัฐกระตุ้นศก.แบบไม่ลืมหูลืมตา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 1.5 แสนล้านบาทว่า เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะนำไปใช้จ่ายใน 2 ส่วนที่สำคัญ กล่าวคือ ส่วนแรกเป็นการนำไปใช้จ่ายในโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ในปี 61 ตามแนวทางสำคัญใน 3 ด้าน คือ 1.ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 2.ด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน และ 3.ด้านการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ และส่วนที่สองเป็นการนำไปใช้ชดเชยเงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายในการรักษาวินัยการคลังของประเทศ
โดยยืนยันว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมยังคงคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างของประเทศลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจจุบัน โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างในปี 2557 คิดเป็น 47.18% ต่อ GDP และล่าสุดได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 41.67% ในเดือนพ.ย.60 ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 60% อันเป็นสัดส่วนที่สากลกำหนดไว้
"ยืนยันว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่ใช่ว่ารัฐจะเร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่คำนึงถึงวินัยทางการคลัง เพราะในรอบ 4 ปีงบประมาณที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลมาโดยตลอด แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้พยายามรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด" นายกรัฐมนตรีกล่าว
พร้อมระบุว่า การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมมีการจัดทำอย่างมีขั้นตอน และมีแผนงานใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ ก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลักด้วย
"อยากให้ทุกท่านรับรู้และเข้าใจว่าการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ผมตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะวางรากฐานที่สำคัญให้กับประเทศ วางระบบและแนวทางการปฏิรูปให้นโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายเชิงโครงสร้าง ที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการจัดทำและให้ความเห็น ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องง่าย และจะทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ ที่จะปรับถางสร้างทางเดินใหม่ให้กับประเทศ ทั้งในเรื่องการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ และการจัดตั้งหรือปฏิรูปองค์กรที่มีความสำคัญของรัฐ แต่รัฐบาลมีความตั้งใจจริง และหลายฝ่ายก็ได้ร่วมมือร่วมใจ" นายกรัฐมนตรีกล่าว
อินโฟเควสท์