WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaAOT

'วิษณุ เครืองาม' แจงกรณี สปท. เสนอ 'บิ๊กตู่' ปลดบอร์ด AOT- ยกเลิกสัญญาฯ คิงเพาเวอร์

        นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ก่อนที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะสิ้นสุดวาระการทำหน้าที่เสนอแผนการปฏิรูปประเทศต่อนายกรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท. ได้สรุปผลการศึกษาโครงการของรัฐที่เสียเปรียบเอกชน เรื่อง “การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรให้แพร่หลายมากขึ้น” พร้อมข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ส่งให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา ปรากฏว่าเรื่องนี้เงียบหายมานานหลายเดือน

      ในช่วงที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดงาน “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ภายหลังการแถลง “แผนปฏิรูปประเทศไทย” สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำประเด็นข้อเสนอแนะของ สปท. ที่ทำถึงนายกรัฐมนตรีมาสอบถาม ดร.วิษณุ เครืองาม ถึงความคืบหน้าอีกครั้ง

     ดร.วิษณุกล่าวว่า สิ่งที่ สปท. นำเสนอ หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลได้ส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 11 คณะ นำไปพิจารณาทั้งหมด เนื่องจากกฎหมายบังคับไว้ด้วยว่าต้องนำมาพิจารณาและสานต่อ แต่ สปท. ได้นำเสนออะไรบางอย่างที่อาจจะไม่ได้อยู่ในขอบเขตของการปฏิรูปประเทศ แต่ว่าแตะปฏิรูปเล็กน้อย พร้อมกับเสนอแนะว่าเมื่อมีปัญหาอย่างนี้ ควรดำเนินการอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่เป็นเรื่องของการปฏิรูป แต่มันเป็นกรณีเฉพาะ เช่น คนนั้น นายนั้น เจ้านั้น บริษัทนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยินดีที่จะรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สปท. บางเรื่องนายกรัฐมนตรีส่งให้ตนพิจารณา ในฐานะที่ที่กำกับดูแลงานด้านกฎหมาย และในบางเรื่องก็ส่งให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รับไปพิจารณา

       ที่ผ่านมา ตนได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เช่น กระทรวงการคลัง, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้งตนได้เชิญ พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป และนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ สมาชิก สปท. มาประชุมด้วยหลายครั้ง ซึ่งมีการโต้เถียงกันหลายประเด็น

      ดร.วิษณุ กล่าวต่อว่า สปท. หยิกยกประเด็นว่าเรื่องนี้ภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการ ตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ชี้แจงว่าได้ดำเนินการแล้ว เรื่องนี้ภาครัฐยังดำเนินการไม่ครบถ้วน ตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐก็ชี้แจงว่าได้ทำครบแล้ว มีบางประเด็นที่ สปท. บอกว่ายังทำไม่ครบ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็ยอมรับว่าจริง จึงรับไปดำเนินการต่อ ซึ่งผมสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว มีบางประเด็นที่นายกได้สั่งการว่า เรื่องใดที่ยังไม่ได้ทำ ให้กระทรวงการคลัง, กรมสรรพากร, กรมศุลกากร และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไปปรับปรุงแก้ไขและให้รายงานกลับมาเป็นระยะๆ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานมาว่าอย่างไรผมไม่ทราบ เพราะเขารายงานต่อนายกรัฐมนตรี ความคืบหน้าก็เป็นอย่างนี้

       “แต่พอถึงจุดหนึ่ง หากนายกรัฐมนตรีบอกว่าให้นำเรื่องทั้งหมดนี้กลับมาดู เพราะว่ามันมีปัญหา ก็เอามาดู แต่วันนี้เราจะไปเรียกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (สปท.) มา มันไม่มีคู่กรณีแล้ว เพราะสลายตัวไปหมด ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 11 คณะ ก็ไม่ได้รับเรื่องนี้ไปพิจารณา เพราะเขาทำแต่เรื่องที่เป็น Plan ไม่ทำเรื่องที่เป็น Case หรือเป็นกรณี แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเป็นคนทำ เรื่องไหนต้องส่ง ป.ป.ช. ก็จะได้ส่ง ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการนั้น บางส่วนผมทราบ บางส่วนผมก็ไม่ทราบ เล่าให้ฟังได้แค่นี้” ดร.วิษณุกล่าว

      อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี โดยมี สปท., สตง., ป.ป.ช., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กระทรวงการคลัง, กระทรวงคมนาคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพากร และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ สปท. ดังนี้

     1. ควรปลดผู้อำนวยการ ทอท. คนปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ทอท. เพื่อให้ผู้บริหารชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าบริหารงาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ขณะเดียวกัน เพื่อการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่ถูกปกปิดมาโดยตลอดเวลา

     2. ควรทำการยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เพราะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

     3. ควรบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งของ ทอท. กรมศุลกากร และกรมสรรพากร เพื่อ ทอท. จะได้รับส่วนแบ่งอย่างครบถ้วน รัฐโดยกรมสรรพากรจะได้มีข้อมูลที่จะเรียกเก็บภาษีอากรอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรจะได้ใช้ข้อมูล เพื่อควบคุมป้องกันการลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษี

     4. ควรพิจารณาศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ป้องกันการทุจริตและเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เอกชน และการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ราชการและรายได้ของรัฐ

     5. ควรกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส เปิดเผย เป็นธรรม ไม่ให้ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ

29 มกราคม 2018

 

https://thaipublica.org/2018/01/kingpower-22/

 

https://drive.google.com/file/d/1CdJ7yy4WqCVDjsjIX0JYLy_RDLQ0brSm/view

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!