- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 24 January 2018 10:36
- Hits: 6133
รัฐบาลจัดกลุ่มงานประชารัฐใหม่ 3 ด้าน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน-พัฒนาคน-ลดความเหลื่อมล้ำ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เปิดเผยภายหลังการประชุมแผนงานปี 2561 ว่า ในการประชุมวันนี้คณะทำงานได้จัดกลุ่มงานใหม่ โดยแบ่งกลุ่มงานออกเป็น 3 กลุ่ม จากเดิม 12 คณะ เพื่อให้การผลักดันการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มงาน คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหัวหน้าคณะภาครัฐ และมีนายกานต์ ตระกูลฮุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย เป็นหัวหน้าคณะภาคเอกชน 2.กลุ่มพัฒนาคุณภาพคน มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะภาครัฐ และมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นหัวหน้าคณะภาคเอกชน 3.กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ มีนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นหัวหน้าคณะภาครัฐ และมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นหัวหน้าคณะภาคเอกชน โดยจะให้แต่ละคณะทำงานไปวางแผนงานร่วมกัน ก่อนที่จะมีการเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบในเดือนก.พ.นี้
ทั้งนี้ ในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือ Thailand 4.0 จะต้องผลักดัน BigBrother เพื่อให้เอกชนรายใหญ่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ SMEs เป้าหมาย 300 ราย เพื่อให้ SMEs ที่มีรายได้เฉลี่ย 50 ล้านบาทต่อรายให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมถึงการตั้งบริษัทเพื่อทำ Online Booking Platform คิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่าต่างชาติไม่เกิน 10% ขณะที่ต่างชาติคิดค่าธรรมเนียม 15-30%
การจัดกิจกรรมการส่งเสริม Mice จัดประชุมสัมนาในเมืองรอง 9 พื้นที่ จูงใจให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้า ด้วยแนวทาง Tax Refund Counter ในเมืองเพื่อคืนภาษี Vat เป็นเงินสด และเดินหน้าแผนเนรมิตอยุธยาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของโลก เป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอยุธยาขยายตัว 10 เท่า ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า และมุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวริมฝั่งโขง 7 จังหวัด เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในอีสานติดกับ สปป.ลาว เพื่อดึงรายได้เข้าท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ โดยแผนงานที่จะดำเนินการจะมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมาย การตั้งโรงงานใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบหลักทุกพื้นที่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลราย นำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช้น้ำตาลทราย และจัดสรรวัตถุดิบให้เพียงพอต่ออุตสาหกรรมชีวภาพ
นอกจากนี้ จะส่งเสริมการตั้งเขตอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท ระหว่างปี 2560-2564 เขตอุตสาหกรรมชีวภาพภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร เงินลงทุน 62,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2560-2569 เขตอุตสาหกรรมชีวภาพภาคอีสานเตอนกลาง (ขอนแก่น) เงินลงทุน 35,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2560-2569 การผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเคมีชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเป็นเงินลงทุนระยะ 10 ปี ประมาณ เกือบ 400,000 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรกว่า 2 เท่าตัว เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 85,000 บาทต่อคนต่อปี
ส่วนด้านการพัฒนาบุคคลากร มุ่งพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนา การจัดสรรที่ดินทำกินให้เพียงพอ ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากปัจจุบัน 85 แปลง ลดต้นทุนการผลิต 20% ผลิตนักเรียนอาชีวะ 1 แสนคนต่อปี การปั้นนักเรียนต้นแบบอัจฉริยะ 4,000 คนต่อปี เพื่อรองรับความต้องการแรงงานคุณภาพจำนวนมากของ EEC
สำหรับ เป้าหมายการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นทุกจงหวัดที่มี Story อย่างน้อยภาคละ 4 จังหวัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น ผ่านแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม เพิ่มเติมจากวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น โครงการ Amazing thai Host ด้วยการจ้างผู้เกษียณอายุในท้องถิ่น อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 1,700 ราย ช่วยกระจายรายได้ 195 ล้านบาทสู่ท้องถิ่น
อินโฟเควสท์