- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Monday, 28 December 2015 08:33
- Hits: 9124
ย้ำต้องมี'กลไกแก้วิกฤต'กรธ.นัดถก ร่างแรกรธน.เกือบ 100% ยังเหลือสรุปความเห็น จากทุกเวทีในภูมิภาค ดิเรกห่วงไม่ผ่านโหวต ปมนายก-สว.ขัดสากล
โฆษก กรธ.แย้มตั้ง กก.ผ่าทางตัน ให้การบ้านทุกคนไปคิดสูตร นัดหารือสัปดาห์หน้า 'นิพิฏฐ์'เชื่อ'มีชัย'ไม่ตั้งองค์กรใหม่ ใช้วิธีเพิ่มอำนาจหน่วยงานใน รธน. สงสัยร่างรัฐธรรมนูญมีธงล่วงหน้า
@ รธน.ร่างแรกเกือบเสร็จ 100%
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาบทบัญญัติเป็นรายมาตราตามที่ได้วางหลักการไว้เป็นร่างแรก เพื่อนำไปรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่างๆ เสร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังเหลือการพิจารณาส่วนของข้อเสนอที่ได้จากส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคประชาชนตามที่อนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะของ กรธ. ที่มีนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรธ. เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้รับฟังจากการจัดเวทีใน 3 ภูมิภาค
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป อนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะจะเสนอความเห็นที่ได้ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยมีสาระสำคัญคือ นำความเห็นในทุกประเด็นมาเรียบเรียงและเรียงตามรายหมวดและรายมาตรา เพื่อให้เห็นความชัดเจนว่าประชาชนหรือหน่วยงานภาครัฐเสนอความเห็นมาอย่างไรบ้าง จากนั้นจะให้ที่ประชุมพิจารณาไปทีละประเด็น หากเห็นว่าข้อเสนอใดที่แตกต่างจากบทบัญญัติที่ กรธ.วางไว้ จะมีการพิจารณาเพื่อดูรายละเอียด ส่วนจะปรับตามความเห็นของผู้ที่เสนอหรือยืนยันตามหลักการของ กรธ. ที่ประชุมจะพิจารณากันอีกครั้ง และเมื่อพิจารณาส่วนดังกล่าวเสร็จแล้ว กรธ.จะนำเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดไปพิจารณารายมาตราอีกครั้งในการประชุมนอกสถานที่ระหว่างวันที่ 11-17 มกราคม 2559 ที่ จ.เพชรบุรี
@ รับฟังความเห็นประชาชน 4 ภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่ กรธ. ได้วางกำหนดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ในวันที่ 29 มกราคม 2559 แล้ว กรธ.ได้กำหนดช่วงเวลารับฟังความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 พ.ศ.2558 เป็นเวลาประมาณ 15 วัน คือตั้งแต่วันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2559 โดยในส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ทางอนุกรรมการรับฟังฯ เตรียมทำแผนเพื่อจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนและส่วนราชการที่ต่างจังหวัด ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จ.เชียงใหม่, จ.ขอนแก่น, จ.สุราษฎร์ธานี และ กทม. ระหว่างวันที่ 30 มกราคม-14 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อนำความเห็นที่ได้มาพิจารณาประกอบกับการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำประชามติต่อไป
@ 'อุดม'ป้อง'มีชัย'ลิ่วล้อเผด็จการ
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.กล่าวถึงกรณีนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาวิจารณ์นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ที่ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องบัญญัติการนิรโทษกรรมให้กับ คสช.ว่าเป็นเนติบริกรรับใช้เผด็จการว่า ไม่แปลกใจที่นักการเมืองค่าย พท. ไม่ยอม กรธ. เพราะมีอคติตั้งแต่ต้น แต่เข้าใจได้ว่า ทำไมถึงเกิดความไม่ไว้ใจ เพราะฝ่ายเขาคิดว่าตนเองถูกตลอด โดยไม่คิดปรองดองและทำบุญร่วมกันเพื่อประเทศจริงๆ ถ้ามีหลักว่า กรธ.เป็นพวกกับ คสช.ตั้งแต่ต้นก็คงไม่ต้องมานั่งอธิบายกันแล้ว ทำไมถึงไม่คิดบ้างว่า กรธ.เป็นนักวิชาการที่คิดทำเพื่อสังคมบ้างหรือ จึงขอให้วิจารณ์ด้วยหลักการ ไม่ใช่มาจินตนาการและใช้อคติแบบนี้
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีคนออกมาระบุว่า กรธ.จะซ่อนรูปคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น เท่าที่รู้ยังไม่ได้พูดกัน เพราะกำลังหาแนวทางการปรองดองกันอยู่ และอยากชี้แจงว่า กรธ.ไม่ได้นำความคิดของ คสช.มาเป็นตัวตั้งหลักก่อนความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มอื่นๆ และขอให้นักการเมืองอย่ามาดักทางสร้างเรื่องให้ กรธ.ต้องมาแก้ตลอด
"ยืนยันว่า เราไม่ได้ซ่อนรูป คปป.และไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งนั้น เพราะหลังจากร่างรัฐธรรมนูญต้องถูกเว้นวรรค 2 ปี จึงอยากให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อได้ โดยที่ไม่ได้เป็นเนติบริกรรับใช้เผด็จการตามที่กล่าวหา" นายอุดมกล่าว
@ แย้มตั้งคณะกรรมการผ่าทางตัน
นายอุดม ยังกล่าวถึงข้อเสนอของ สนช.ที่ให้มีองค์กรหรือคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้วิกฤตของประเทศ ในกรณีที่ไม่มีบัญญัติไว้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารประเทศได้ ว่าขณะนี้ กรธ.ยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ แต่ยอมรับว่า มีการคุยกันและฝากไปเป็นข้อคิดว่า จะทำอย่างไรในประเด็นนี้ จะแก้ทางตันอย่างไร ทั้งนี้ กรธ.คงต้องมีการหารือกัน โดยอาจจะเป็นสัปดาห์หน้า เพราะปัญหาตรงนี้ต้องมีการแก้ไข
"เรายังไม่อยากพูดว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการฯ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ ส่วนจะเป็นแบบ คปป. หรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ เพราะเราต้องคิดเชื่อมโยง จะทำอย่างไรให้สังคมยอมรับ ดังนั้นจึงต้องคิดหลายๆ ทาง เพราะที่ผ่านมา คปป.มีปัญหาว่า มีอำนาจไปครอบรัฐบาลอยู่ ทำให้หลายฝ่ายคิดว่า การมี คปป.เป็นการสืบทอดอำนาจ ดังนั้นหากจะมีองค์กรต้องเป็นองค์กรที่มีการยอมรับ คนที่เข้ามาสังคมก็ต้องยอมรับ" นายอุดมกล่าว
@ หวังให้"ส.ว."เป็นสภาการเมือง
นายอุดมกล่าวถึงประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายต้องการให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งว่า กรธ.ต้องการให้วุฒิสภาเป็นสภาการเมือง ฝ่ายที่ไม่ต้องการระบบสรรหาก็จะมองว่า กรธ.ไปเลือกใครมา มีความเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างไร ซึ่งก็จริงไม่ตอบโจทย์ จึงให้ชาวบ้านเลือกกันเอง แต่มีการตั้งคุณสมบัติไว้พอสมควร โดยคนที่จะเข้ามาเป็นต้องมีประสบการณ์ ไม่ต้องการให้มีการเมือง จึงแยกออกจากการเลือกตั้ง ไม่ให้เป็นการเลือกตั้งทางตรง
นายอุดมกล่าวว่า ในส่วนที่มีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งนั้น ในทางความเป็นจริง กรธ.ไม่ได้คิดว่านายกรัฐมนตรี มีความจำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ เพียงแต่บอกว่าในระบบรัฐสภาคนที่จะเป็นคนคัดเลือกจริงๆ คือรัฐสภา เป็นคนตั้งนายกรัฐมนตรี และแม้ว่า สภาจะเป็นคนตั้งแต่รายชื่อนายกรัฐมนตรีก็มาจากนักการเมืองและพรรคการเมืองจะเลือกใคร ก็ต้องให้ประชาชนเป็นคนรับรู้ ทำให้ กรธ.ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชนรับรู้รับทราบตั้งแต่ต้น
@ "อำนวย"ค้านที่มาส.ว.ลากตั้ง
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการได้มาของ ส.ว. ที่ให้มีการเลือกตั้งจากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม โดยเป็นการเลือกกันเองหรือเลือกแบบไขว้ ถ้าจะให้ดีต้องเสนอตัวแทนของแต่ละกลุ่มขึ้นมาแล้วให้ประชาชนเลือก นั่นถือว่ามีความยืดโยงกับประชาชนที่สุดและเห็นได้ชัด เพราะสิ่งที่ กรธ.เสนอนั้นมีผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้เกิดปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยที่ ส.ว.ไม่มีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย เพราะ ส.ว.ควรมีหน้าที่ตรวจสอบช่วยกันดูแลกฎหมายซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประชาชน หากกฎหมายใดมีข้อถกเถียงกันมากก็ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมขึ้นมาพิจารณา ส่วนประเด็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจาก ส.ส.นั้น ยังพอสามารถรับได้ แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่หากเถียงกันไปเถียงกันมาก็จะมีความขัดแย้งมากขึ้น
"มองในภาพรวมแล้วเจตนาเขาต้องการที่จะใช้อำนาจควบคุมรัฐบาล เช่น อาจจะมีคณะกรรมการพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะทำอะไรต้องไปขออนุญาต องค์กรเหล่านี้เขาจะเอามาไว้ในกฎหมายลูกที่ไม่ได้บรรจุในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสภาจะเป็นสภาง่อย อยากให้ กรธ.ทบทวนในเรื่องนี้" นายอำนวยกล่าว
@ พท.ลั่นถ้าไม่ผ่านอย่ามาโทษ
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พท. กล่าวถึงกรณี สนช.มีข้อเสนอเรื่องนายกฯไม่ต้องเป็น ส.ส.และมีองค์กรแก้วิกฤตประเทศว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาดการณ์อยู่แล้ว ที่ผ่านมาได้ทัดทานไปว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักประชาธิปไตยเป็นสำคัญ หากเขียนอะไรที่นอกเหนือครรลองประชาธิปไตย ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะประชาธิปไตยหัวใจคือประชาชน ถ้าเขียนอะไรที่ไม่ให้ความนับถือศรัทธากับประชาชนไปไม่ได้แน่นอน
"ขอร้องเวลาประชามติไม่ผ่าน อย่ามาโทษกันว่าเราไปยุยงส่งเสริมประชาชน รัฐธรรมนูญไม่ควรมีบทบัญญัติที่จะให้มีอำนาจอื่นที่ครอบงำประชาชน มีปัญหาอะไรต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาร่างแรกที่จะออกมาปลายเดือนมกราคม 2559 นี้ หากมีการบิดเบือน เราก็จำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าผิดหลักการ โดยเมื่อร่างออกมาคงเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความเห็น ในฐานะพรรคการเมือง เราก็ต้องแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ คงไม่มีใครมาห้ามได้ ทั้งนี้อาจทำในรูปแบบให้อดีต ส.ส.ลงพื้นที่ ส่วนพรรคจะมีแถลงการณ์ออกมา" นายสามารถกล่าว
@ อดีตส.ว.นนท์หนักใจแทนรบ.
นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี กล่าวถึงภาพร่วมของร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังคงมองไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือระบบเลือกตั้ง นายกฯคนนอก และที่มา ส.ว. ซึ่งเท่าที่ดูหนักใจแทนรัฐบาลว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ เพราะตอบโจทย์ตอบสังคมไม่ได้ว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทำไมถึงร่างรัฐธรรมนูญเพี้ยนๆ ออกมา การให้คนนอกเป็นนายกฯได้ถือว่าย้อนยุค เพราะนายกฯมาได้ 2 ทางคือ เลือกโดยตรงโดยเสนอชื่อให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้เลือกและมาจาก ส.ส.โดยสภาเป็นคนเลือก และเมื่อครั้งที่ตนเป็น สปช.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ได้เคยเสนอไว้ว่าถ้าบ้านเมืองไม่มีทางออกแล้ว ก็ให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล โดยให้สภาเสนอคนนอกเป็นนายกฯได้ ดังนั้น กรธ.อย่าไปทำอะไรนอกกรอบประชาธิปไตยเลย
นายดิเร กกล่าวว่า ถ้าทำประชามติไม่ผ่านรัฐบาลก็จะต้องมาพิจารณาตัวเอง ซึ่งถือว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรมแล้ว ก็ต้องหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ แล้วจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แม้ยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก็ตาม แต่นายกฯสามารถใช้มาตรา 44 ทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย แล้วเข้าสู่การเลือกตั้ง หากไม่แก้ปัญหาก็ไม่จบ
@ แนะร่างรธน.แก้โกงเลือกตั้ง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกมาแก้ธุรกิจการเมืองไม่ได้ แก้การโกงการเลือกตั้งไม่ได้ แก้การเมืองมีเสถียรภาพไม่ได้ ก็เหมือนเดิม ควรมีรัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นหลักสำคัญคือต้องมีกระบวนการจัดการแก้รูปแบบสร้างรัฐธรรมนูญที่มีหลักการสำคัญ ให้ทันสมัย เหมาะทุกกาลเวลาคือ การวางระบบโครงสร้างเป็นหลักสำคัญ รัฐธรรมนูญจึงต้องสั้น ส่วนรายละเอียดไว้ในกฎหมายประกอบและกฎหมายลูก นี่คือรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ปัญหาบ้านเมืองได้ตามสถานการณ์
นายเสรีกล่าวต่อว่า หากทำได้ตามนี้รัฐธรรมนูญก็น่าจะผ่าน แต่หากแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้แล้วนำรูปแบบเก่ามาก็มีแต่ปัญหาประชาชนต้องตัดสินใจ หากของเก่าไม่เปลี่ยนแปลงจะเอาไหม อยู่ที่ประชาชนตัดสินใจ ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าต่อไป รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ความรับผิดชอบบ้านเมืองเป็นของประชาชน ต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
@ "นิพิฏฐ์"สงสัยกรธ.มีธงล่วงหน้า
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ว่า ในประเด็นหลักๆ กรธ.คงมีธงมาก่อน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่การเข้ามารับหน้าที่ประธาน กรธ.ของนายมีชัย จะคิดร่างให้เหมือนกับกระบวนการร่างของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน จึงคิด ว่า ประเด็นที่ต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญคงมีการตกลงกันล่วงหน้าแล้วว่า จะใส่ประเด็นอะไรลงไปบ้าง ใครจะแสดงความเห็นต่างอย่างไร กรธ.คงไม่เปลี่ยน
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เรื่องบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี เคยเข้าไปแสดงความเห็นต่างในที่ประชุม กรธ. ในวันนั้น กรธ.รับฟัง แต่ท้ายที่สุดก็ยืนเรื่องดังกล่าวไว้ในร่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เช่นเดียวกับประเด็นอื่นๆ อาทิ นายกฯคนนอก ที่มา ส.ส. รวมไปถึงที่การเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมจากกลุ่มอาชีพด้วย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะแสดงความเห็น เพราะ กรธ.คงยากที่จะเปลี่ยน นอกเสียจากประเด็นที่ กรธ.ลังเลเองอาจจะมีการปรับแก้ได้
@ เชื่อ"มีชัย"ไม่สร้างองค์กรใหม่
"เชื่อว่า กรธ.จะไม่บัญญัติองค์กรแปลกๆ เช่น คปป.เหมือนกับสมัยนายบวรศักดิ์อย่างแน่นอน แต่ กรธ.จะใช้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมมาแก้ไข โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่อะไรบางอย่างเพื่อเอาไว้ใช้สำหรับแก้ไขตอนเกิดวิกฤตทางตัน อีกทั้งยังเชื่อว่านายมีชัยจะไม่สร้างองค์กรใหม่ในรัฐธรรมนูญแน่ เพราะเคยให้สัมภาษณ์ไว้แล้ว" นายนิพิฏฐ์กล่าว
นายนิพิฏฐ์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าจะรับผิดชอบเองหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องรับผิดชอบเต็มๆ คนเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ เพราะถ้า คสช.กับรัฐบาลไม่ได้เป็นคนร่างโดยตรงเองทั้งหมด ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ และพูดบ่อยๆ ว่าการทำงานเป็นอิสระ ฉะนั้นหากจะมีคนมารับผิดชอบแทนถ้าร่างไม่ผ่านประชามติ นายมีชัยคงไม่ยอม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารอบนี้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำในชั้นประชามติ คสช.คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาประกาศใช้
@ สปท.ลุยขับเคลื่อนปฏิรูป
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้ สปท.ได้ส่งแผนปฏิรูปประเทศชุดแรกของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 คณะ ที่ผ่านการประชุมของที่ประชุม สปท. เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคมที่ผ่านมา ให้คณะกรรมการประสานงานวิป 3 ฝ่ายเรียบร้อยแล้ว จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) จะกำหนดแผนดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในปี 2559 โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2559 จะต้องเป็นปีที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จึงจะเริ่มพิจารณาแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศ ที่เป็นประเด็นที่สำคัญเร่งด่วนในวันที่ 7-8 มกราคม 2559 โดยเมื่อที่ประชุม สปท.ลงมติเห็นชอบแผนดังกล่าวเรียบร้อยแล้วในวันที่ 8 มกราคม 2559 จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ หรือจะปรับปรุงแก้ไขต่อไป
@ เต้นแนะแถลงสอบที่ราชภักดิ์
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงกลาโหมจะแถลงผลสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ว่า รัฐบาลต้องการใช้เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนใช่หรือไม่ สัญญาณแบบนี้พอคาดการณ์ได้ว่า ผลสอบของกระทรวงกลาโหมคงออกมาทิศทางเดียวกับของกองทัพบก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าหลังขึ้นปีใหม่รัฐบาลคงพบกับความจริงว่า กรณีอุทยานราชภักดิ์เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่จะใช้เทคนิคทางการเมืองมากลบเกลื่อนได้
"เมื่อเลือกวันสิ้นปีเป็นวันแถลงข่าว ขอเสนอให้ใช้วาระนี้แสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยการเชิญสื่อมวลชนเข้ารับฟังการแถลง ณ สถานที่จริง บริเวณอุทยานราชภักดิ์ พร้อมทั้งนำเยี่ยมชมจุดต่างๆ ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เชื่อว่ารูปแบบนี้จะทำให้ทุกฝ่ายสัมผัสความจริงใจของรัฐบาลได้ ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลว่าผมจะแฝงตัวปะปนไปด้วย เพราะเมื่อผู้มีอำนาจไม่ให้ไปผมก็ไม่ไป" นายณัฐวุฒิกล่าว และว่า ยืนยันว่าไม่ใช่เล่นไม่เลิก แต่รัฐบาลต้องเข้าใจว่า ถ้าไม่กระจ่าง เรื่องนี้ก็ไม่จบง่ายๆ
@ ทนาย"ปู"ชี้นายกฯยุ่งคดีข้าว
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ระบุว่าพร้อมเอาผิดโครงการรับจำนำข้าวโดยไม่ผ่อนปรน ระหว่างการแถลงผลงานของรัฐบาลว่า คดีเรื่องจำนำข้าวถูกนำไปเป็นผลงานเด่นของรัฐบาล ทั้งที่คดีความทั้งหลายเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นกระบวนการของศาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าในเรื่องคดีจำนำข้าว คดีทั้งหมดไม่ผ่อนผันใดๆ ทั้งสิ้นนั้น ถือเป็นการก้าวก่ายคดี โดยเฉพาะในส่วนคดีความรับผิดในทางแพ่ง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนชุดของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
นายนรวิชญ์กล่าวว่า หากคณะกรรมการยึดตามคำพูดของนายกฯ คงไม่มีการไต่สวนพยานที่เหลืออีกต่อไป ถือได้ว่าคณะกรรมการไม่ได้ให้โอกาสแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม จึงร้องขอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์อย่าได้ก้าวก่ายการไต่สวนคดีของคณะกรรมการ ควรให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม
@'ไก่อู'ชี้'บิ๊กตู่'ยัวะสื่อเสนอข่าว
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้สึกไม่สบายใจต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนบางฉบับ บางสังกัด ที่นำเสนอข่าวโดยปราศจากการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ อาทิ การนำเสนอข่าวผลการพิจารณาคดีฆาตกรรมบนเกาะเต่า ที่สื่อบางฉบับเสนอข่าวโดยใช้การคาดการณ์และเอาอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดอำนาจและขาดความเคารพต่อกระบวนการพิจารณาคดีของศาล
"ท่านนายกฯยังรู้สึกกังวลต่อแง่มุมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางสังกัดที่มีพฤติกรรมเลือกข้างอย่างชัดเจน มุ่งโจมตีนโยบายและการทำงานของรัฐบาลแทบทุกเรื่อง โดยไม่สนใจในสาระข้อเท็จจริง ในทางตรงกันข้ามก็พยายามปกปิดกลบเกลื่อนความผิด ความเสียหายที่รัฐบาลเก่าทำไว้กับประเทศชาติ โดยละเลยที่จะนำเสนอความจริงให้ประชาชนได้รับทราบ อาทิ โครงการจำนำข้าว ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องเข้ามาบริหารจัดการปัญหาหนักนับล้านๆ ตันที่รัฐบาลชุดเก่าก่อไว้" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ เตือนปชช.ระวังการบริโภคข่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า หากเร่งระบายข้าวออกมาจะกระทบกับราคาข้าวในท้องตลาด กระทบต่อเกษตรกร แต่หากไม่ระบายเสียเลย ข้าวเน่าข้าวเสื่อมคุณภาพก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าข้าวจะยิ่งลดลง สร้างความเสียหายให้แก่งบประมาณแผ่นดินที่จะต้องใช้จ่ายดูแลพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ไม่เคยได้รับการนำเสนอให้พี่น้องประชาชนรับทราบ ทั้งนี้รัฐบาลเข้าใจดีว่าสื่อมวลชนมีข้อจำกัดในการนำเสนอข่าว เพราะต้องแข่งกับเวลาโดยเฉพาะในข่าวที่มีความซับซ้อน หรือเรื่องยังไม่ถึงที่สิ้นสุด การเสนอที่มาที่ไปและการวิเคราะห์เหตุการณ์ให้ครบถ้วนอาจยังทำได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่หากมีเจตนาทำถูกให้เป็นผิด ขณะที่ผิดกลับจงใจเสนอข่าวให้เป็นเรื่องถูก เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และประชาชนควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกบริโภคข่าวสารจากสื่อสังกัดนั้นๆ
"รัฐบาลคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องรู้เท่าทันสื่อ และเลือกรับข้อมูลจากสื่อที่ทำหน้าที่อย่างซื่อตรง ปราศจากเจตนาเคลือบแฝง ขณะที่หากเป็นข้อมูลที่นำเสนอโดยสื่อที่ขาดความเป็นกลาง หรือมีแรงจูงใจในการเสนอข่าวเพื่อประโยชน์ของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดเป็นการเฉพาะ ควรหารสองข้อมูลเหล่านั้น เข้าทำนองฟังหูไว้หู พร้อมกันนี้อยากขอร้องและเชิญชวนสื่อมวลชนที่รู้ตัวว่าปัจจุบันยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณสื่อที่เหมาะสม ก็ขอให้กลับตัวกลับใจ หยุดใช้อาวุธในมือของท่านคือปลายปากกาทิ่มแทงทำร้ายสังคมและประเทศชาติ แต่ขอให้ใช้เพื่อร่วมกันสร้างประเทศ วาดภาพประเทศไทยในอนาคตที่ควรจะเป็นร่วมกัน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว