- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Sunday, 20 December 2015 18:19
- Hits: 9280
กมธ.ปราบทุจริต สปท. ชง 19 ข้อ พิมพ์เขียวป้องโกงในรธน.
หมายเหตุ - ข้อเสนอเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เสนอต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อให้นำไปบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
1.ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่ในการป้องกัน ปฏิเสธ และต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งเป็นผู้เสียหายในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอันส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
2.ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิดังกล่าวไม่อาจกระทำได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น
3.รัฐต้องจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารงานของรัฐ ให้มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สาธารณะ
4.กำหนดให้องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐหรืองบประมาณแผ่นดินต้องเปิดเผยแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ ผลการดำเนินงาน การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงรายการงบการเงินและสถานะทางการคลังให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยไม่ชักช้า
5.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกประเภทและทุกระดับ รวมทั้งผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี หากไม่แสดงหรือแสดงอันเป็นเท็จให้สมาชิกภาพหรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ทั้งนี้ให้เปิดเผยเอกสารดังกล่าว รวมถึงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชนโดยเร็ว
6.ห้ามมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือกระทำการให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม หรือให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ รวมถึงบุคคลซึ่งเคยถูกปลดออก ไล่ออกหรือให้ออกจากราชการเนื่องจากกระทำการทุจริต กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเข้าสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง
7.ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำงบประมาณที่ลดหรือตัดทอนจากการแปรญัตติไปจัดสรรเป็นงบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
8.กำหนดให้สามารถจับกุม คุมขัง หรือออกหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในระหว่างสมัยประชุมได้ ในกรณีเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาอันเกี่ยวด้วยการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งหรือการสรรหา (เอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุม ไม่รวมถึงกรณีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่)
9.ให้สมาชิกฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการสามัญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และทำหน้าที่กำกับติดตามเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
10.ให้มีศาลชำนัญพิเศษคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นการเฉพาะ โดยให้เป็นระบบไต่สวนสามารถอุทธรณ์ได้ และมีเขตอำนาจในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
11.ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันวิญญูชนพึงเห็นได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณและให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า
12.กระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ รวมทั้งมีคุณธรรมและจริยธรรมอย่างแท้จริง
13.กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีองค์ประกอบที่หลากหลาย มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยคดีทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับบริหาร (ระดับสิบขึ้นไป)
ให้กำหนดระยะเวลาในการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ให้ล่าช้า สามารถมอบหมายให้กรรมการ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. หรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทำการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานแทนได้
14.กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นอิสระ และทำงานร่วมกับ ป.ป.ช.อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากคดีทุจริตมีความเกี่ยวพันกับข้าราชการหลายระดับ
15.กำหนดให้มีกลไกหรือระบบบูรณาการการทำงานขององค์กรที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้โดยเร็ว
16.การสอบสวนคดีทุจริตคอร์รัปชั่นและประพฤติมิชอบที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการไต่สวนข้อเท็จจริงและฟ้องดำเนินคดีโดยเร็ว และผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายในกรณีที่ล่าช้า และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยเป็นระยะ
17.ให้มีเนื้อหาว่าด้วยการกระทำเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในรัฐธรรมนูญตามแนวทางในหมวดที่สอง ส่วนที่สองของร่างรัฐธรรมนูญปี 2558
18.เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมต้องไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน รวมทั้งไม่เป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งในลักษณะเดียวกัน
19.ให้มีการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล สร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้กลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางในมาตรา 12 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ