- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Sunday, 11 October 2015 11:05
- Hits: 9553
'มีชัย ฤชุพันธุ์'คุมทีมเขียน รธน. ขอเป็นร่างสุดท้าย (อีกครั้ง)
มติชนออนไลน์ :สัมภาษณ์พิเศษ
หมายเหตุ - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'มติชน' เปิดใจหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนกระทั่งเข้ารับตำแหน่งประธาน กรธ. พร้อมชี้แจงทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญ
มองเหตุรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อย่างไร
ผมอยู่เมืองนอก พอทราบข่าวเกิดเหตุรัฐประหาร ผมก็รู้สึกว่า เอาอีกแล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเข้ามาทำตรงนี้ คิดแต่ว่าเราจะหลบเลี่ยงอย่างไร เป็นความเคราะห์ร้ายของผม ยากที่คนจะเข้าใจ หลายคนมองว่ามันดี แต่ผมว่ามันไม่ดี เพราะผมไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง ไม่มีความอยากทางการเมือง ทั้งหมดที่เข้ามาเป็นเพราะวิถีชีวิต ความรู้และความสามารถมากกว่า ที่ผ่านมาเมื่อพ้นไปแล้วผมรู้สึกว่าชีวิตมีความสุขดี ไม่อยากจะเข้ามายุ่ง จะเห็นว่าผมเข้าไปยุ่งกับเขาน้อยที่สุด ที่มาทำก็ทำในฐานะเป็นกรรมการร่างกฎหมายกฤษฎีกา ตอนที่รัฐบาลเขาส่งรัฐธรรมนูญมาให้ทำก็ทำ เพราะเป็นหน้าที่
เหตุผลที่ตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่เป็นประธาน กรธ.
ก่อนที่จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมนั้นไม่มีเลย มีอยู่อย่างเดียวคือไม่อยากทำ เพราะว่าชีวิตก็สบายดี หากมาทำตรงนี้งานหนักและอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง สิ่งสำคัญคือโจทย์มันยาก การจะมาคิดเพียงคนเดียวไม่ได้ ต้องคิดร่วมกันหลายๆ คน แม้ว่าจะตั้ง กรธ.จำนวน 20 คน หรือ 30 คน มันก็ยังไม่เพียงพอ เพราะไม่ใช่งานง่ายๆ แต่ว่าเมื่อได้พบกับนายกฯแล้ว ท่านบอกว่ามีความจำเป็น มันก็เลี่ยงไม่ได้ เมื่อเราเป็นคนไทยคนหนึ่งก็ต้องร่วมมือ หากถามว่าหนักใจหรือไม่ จะบอกว่าไม่หนักใจคงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเมื่อรับเข้ามาทำหน้าที่แล้วต้องตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิก กรธ.
ส่วนใหญ่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมายตากันไว้ แล้วนำชื่อมาให้ผมพิจารณาซึ่งก็ดูแล้วเห็นว่าดี มีเปลี่ยนแปลงบ้างเนื่องจากเห็นว่ามีความซ้ำซ้อนกัน หนักไปทางใดทางหนึ่งก็ขอให้เปลี่ยน ส่วนตัวรู้สึกพอใจกับทีมงานทั้งหมด เท่าที่ร่วมประชุมและทำงานกันรู้สึกดี ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทุกคนก็ช่วยกันคิดทำงานกัน
กรธ.ชุดนี้มีบุคคลที่มาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายคน เล็งเห็นความสำคัญกับการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร
การร่างรัฐธรรมนูญคือการเขียนกฎหมาย ภาระหนักที่สุดคือตอนที่เขียน ดังนั้น ต้องหาคนมาเขียน ซึ่งมีจำนวน 3 คน เป็นอดีตคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 1 คน และปัจจุบันอีก 2 คน ขึ้นมาเป็นเลขาฯและผู้ช่วยฝ่ายเลขานุการยกร่างรัฐธรรมนูญ เหตุผลที่ต้องมาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเพราะว่ามีความชำนาญและทำงานไม่มีเวลา ไม่มีวันหยุด อยู่ที่ใดก็ทำงาน ดังนั้น ก็จะสะดวกหน่อย แต่ถ้ามาจากที่อื่นก็เกรงว่าจะไม่คุ้น เวลา 16.00 น. เลิก เราก็เจ๊งแล้ว
ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ อ.บวรศักดิ์ถูก สปช.โหวตคว่ำ ได้คุยกันหรือไม่
ไม่ได้คุย วันที่เขาโหวตกันผมก็อยู่ต่างประเทศ ครั้งแรกที่เขาปฏิวัติ ผมตั้งใจหลบ แต่ครั้งโหวตร่างรัฐธรรมนูญ ผมติดภารกิจไปทำกฎหมายต้องไปชี้แจงอียู แต่เมื่อได้ข่าวว่าถูกคว่ำ ก็น่าเสียดาย เสียดายว่าเขาทำงานมาหนักหนาสาหัส
แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ มาประกอบการพิจารณาหรือไม่
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2517 มาจนร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 มีบางบทบัญญัติที่เขียนเหมือนกันหมดเลย ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็เหมือนกันหมด แปลว่า มันคงที่แล้ว สามารถนำมาใช้ได้ ถามว่าเหตุใดจึงต้องย้อนกลับไป เพราะนักวิชาการระบุว่ารัฐธรรมนูญปี 2517 เป็นประชาธิปไตยที่สุด ดังนั้น คงจะไปทิ้งไม่ได้ ซึ่งต้องดูว่ามีแนวคิดอย่างไรบ้างจะได้มาผสมผสานกับของใหม่ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะพยายามร่างรัฐธรรมนูญให้มีเนื้อหาครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดไว้ในมาตรา 35 จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เรื่องหลักๆ ก็เหมือนกัน เพียงแต่วิธีจะเปลี่ยนไปตามแนวความคิดขณะนั้น เราก็ต้องพิจารณาดูว่าขณะนั้นคิดอะไรและได้ผลอย่างที่ต้องการให้เป็นหรือไม่ รัฐธรรมนูญ 2517 สมัยนั้นเป็นที่ยอมรับในส่วนหนึ่ง เมื่อต้องมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน คิดว่าสิ่งใดต้องเป็นปัจจุบันและให้ประชาชนยอมรับ
การนำมาพิจารณาไม่ใช่เป็นการลอก เอามาดูเพื่อให้รู้ว่ามีบทบัญญัติใดบ้างที่เป็นหลัก ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หลักนั้นก็ยังสามารถใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ใดจะแบ่งแยกไม่ได้ รัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็เขียนเหมือนกันหมด เท่ากับว่าเราจะได้ไม่ต้องไปคิดใหม่ สามารถนำมาใส่ได้เลย
ระบบเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ อ.บวรศักดิ์ มีการใช้แบบเยอรมัน แล้วฉบับนี้จะมีแนวทางเช่นนี้อีกหรือไม่
ตอนนี้ กรธ.กำลังตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อให้ศึกษาปัญหาเรื่องการบริหารและนิติบัญญัติ ว่ามีกี่แบบ ทั้งที่แบบที่เราทำมา และต่างประเทศทำ แล้วจะนำไปวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ และวิเคราะห์ต่อไปว่าถ้าเอามาใช้กับประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น หรือถ้าจะต้องปรับเปลี่ยน จะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เข้ากับคนไทย จากนั้นเมื่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเสร็จสิ้น ก็จะเลือกให้เหลือ 2-3 แนวทาง แล้วจะมาถามว่าเราจะเอาแบบไหน กำลังคิดว่าจะเผยแพร่ผ่านสื่อ แต่คงผ่านสื่ออย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากเผยแพร่ผ่านสื่อ สื่อก็จะเอาไปเขียนตามที่สื่อคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ตามแนวคิดของตัวเอง แต่เราต้องการเผยแพร่ของเต็ม เราจึงต้องหากระบวนการในการถามประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกันสื่อหลักเอง เราก็ต้องฟังข้อคิดเห็นที่อาจจะวิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร เราจะเก็บมาเป็นข้อมูลทั้งหมด
เรื่องการปฏิรูปการปรองดองจะคล้ายรูปแบบคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่นายบวรศักดิ์ร่างไว้หรือไม่
ยังไม่ทันดูรายละเอียดว่านายบวรศักดิ์เขียนอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ผมคิดว่าถ้าบ้านเมืองเราไม่ปฏิรูประบบการศึกษา มันไม่มีวันแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้เลยเพราะมันเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ ถ้าไม่ได้ถูกสอนให้เป็นคนมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบร่วมกันในสังคมเป็นส่วนใหญ่ มันก็จะเกิดเช่นนี้และจะไปไกลถึงขั้นว่าทำไมเขาโกงก็ยังมีผลงาน ความคิดนี้มีในคนรุ่นนี้ใช่ไหม ผมก็เป็นคนรุ่นเก่าถูกสอนมาอีกแบบแต่ก็เปิดใจกว้าง รับได้ ขอให้โหวตออกมาว่าจะเอา โกงไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน ผมก็จะเขียนรองรับในรัฐธรรมนูญเลย ต่อไปนี้คณะรัฐมนตรีไม่ต้องมีเงินเดือนแบ่งเปอร์เซ็นต์ตามผลงานเอาไหม
ผมกังวลว่าคนทั้งหมดเป็นเช่นนี้จริงหรือไม่ หากคนทั้งหมดเป็นเช่นนี้จริง ผมก็ต้องเปลี่ยนความคิด เวลาไปเลือกตั้งก็ไม่ต้องลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ดูใครจะจ่ายให้ราษฎรเท่าไหร่ ประชาธิปไตยเป๊ะ ใช้เงินเป็นตัวเลือก
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น แล้วทำให้ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งและทุจริต
ต้องมาดูวิธีคิด คือ บางคนคิดว่าโกงก็ได้ไม่เป็นไร อีกอย่างบอกว่าโกงไม่ได้ คราวนี้คนรุ่นใหม่อาจจะเป็นคนตัดสินก็ได้ เอาเลยมาลงคะแนน และคนอายุเกิน 50 ปีอย่ามาลงคะแนน เอาคนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้น เพราะเป็นความรับผิดชอบคนรุ่นนี้ ฉะนั้น คนรุ่นหลานบอกว่าต่อไปนี้โกงได้ เอาเลย อย่างไรก็ดีความขัดแย้งจะหมดหากเราสอนเด็กให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน มีระเบียบวินัย ความคิดเช่นนี้
ก็จะไม่เกิด เพราะคนจะเริ่มคิดถึงส่วนรวม คน 65 ล้านคนจะมีโอกาสโกงกี่คน
ต้องมีแนวทางนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมาเพื่อปรองดองหรือไม่
นั่นคือ ปลายเหตุ ถ้าแก้ต้นเหตุไม่ได้นิรโทษกรรมก็กลับมาทะเลาะกันใหม่ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยที่นิรโทษกรรม แต่ลำพังไปเขียนให้นิรโทษกรรมอย่างเดียวมันไม่ได้แก้อะไรได้ แต่หากมีกลไกที่จะทำให้เกิดการปรองดองและใกล้จะสามัคคีกัน ในที่สุดจะได้ไปนิรโทษกรรมให้สิ้นสุดไป อันนั้นโอเค แต่ทำอย่างเดียวไม่ได้ อย่างเช่น คนจนเป็นหนี้ไปยกหนี้ให้ ปีหน้าก็เป็นหนี้อีก เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ที่จน แล้วเขาเป็นหนี้เพราะรายได้ไม่พอ จึงต้องไปแก้รายได้ก่อน แล้วถ้าหนี้นี้เป็นตัวถ่วงก็ค่อยไปผ่อนปรนหนี้อีกที แต่ถ้าอยู่ๆ ไปยกหนี้ ปีหน้าเขาก็เป็นหนี้ใหม่เพราะไม่มีรายได้
แนวคิดที่ได้อธิบายนั้นฝังรากลึก แล้วเช่นนี้จะแก้อย่างไร
อย่างที่บอกต้องแก้ที่ระบบการศึกษา ต้องรอรุ่นใหม่ โดยรุ่นนี้ต้องประคับประคองพยายามโน้มน้าวใจให้เห็นมองส่วนรวมบ้าง ไม่ใช่มองแต่ส่วนตัว ส่วนที่ว่าโน้มน้าวใจคือ เป้าหมายต้องบอกไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเรากำลังจะเดินในทิศทางไหน หากจะเขียนว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถือเป็นการไปคิดล่วงหน้า พวกคุณก็ไม่มีโอกาสคิด ต้องให้คนแต่ละรุ่นไปคิด ต้องพยายามทำให้ทุกคนรู้ว่าทั้งหมดคือหน้าที่ของทุกคน นายบวรศักดิ์พยายามแก้ หากแก้ง่ายแก้เสร็จนานแล้วแต่มันไม่ง่ายไง มันคือเป้าหมายของเรา
ดังนั้น เราจึงต้องการให้ภาคส่วนหลายๆ ภาคร่วมกัน ถ้าคนหนึ่งบอกว่าพยายามให้ปัญหาหมดไป อีกคนพยายามสร้างปัญหา อย่างนั้นก็ไม่สำเร็จ ทุกคนต้องร่วมกัน จะมาหวังคน 21 คนเนรมิตเป็นพระนารายณ์ไม่ได้ คิดได้เท่าสติปัญญาคน 21 คนเท่านั้น คงไม่ถูกใจไปทั้งหมด แต่ถ้าจะทำไงให้ถูกใจนั้น คือคนไม่ถูกใจต้องคิดว่าจะทำไงถึงจะดีและคนอื่นถูกใจด้วย
สุดท้ายแล้ว คปป.จำเป็นต้องมีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยหรือไม่
ยังไม่มีการพิจารณาหรือพูดถึงเลย ส่วน กรธ.ชุดนี้จะคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องกลไกของ คปป.นั้นยังไม่ทราบ ขณะนี้ กรธ.เพิ่งเริ่มพิจารณา
ระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเพียง 180 วันจะมีการเสนอขอขยายเวลาการทำงานออกไปหรือไม่
ไม่มี คำถามนี้ถูกถามทุกวัน ผมก็ตอบกลับไปทุกครั้งว่าไม่มี เวลาของ กรธ.ชุดนี้มีน้อย จะไปหวังให้ทำสิ่งใดที่เคยทำกันมาคงเป็นไปไม่ได้ เช่น กระบวนการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ดังนั้น เราจึงต้องเปิดกว้างในการเสนอความคิดเห็นจากทุกฝ่ายโดยไม่มีกำหนดเวลา แม้กระทั่งถ้าหากผมร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ หากมีคนส่งความคิดเห็นมาภายหลังแล้วปรากฏว่าทางสวรรค์ เจ๋งเลย ผมก็ไปรื้อแล้วเขียนใหม่ก็ได้ เขียน 3-4 คืนติดกันวันละ 24 ชั่วโมง
ก็เสร็จได้
จะสอบถามความคิดเห็นจากพรรคการเมืองหรือไม่
ต้องถาม อย่างที่บอกคือ ส่วนหนึ่งเราก็เปิดปลายให้ทุกคนถามเข้ามา พรรคการเมืองมาได้เสมอ อีกส่วนหนึ่งคนที่มีตัวตนแน่นอน เป็นองค์กร สถาบันหลัก เราก็จะมีจดหมายถามว่าท่านมีอะไรเสนอไหม เปิดปลายเหมือนกัน ไม่ถามแค่ว่าเรื่องนี้คิดไง แต่ถามว่ามีอะไรเสนอ เพื่อให้ทุกคนคิด แล้วนำมารวบรวมสกัด และหวังว่าจะได้คำตอบกลับมา แต่หากไม่ได้กลับมา หากรัฐธรรมนูญออกมาถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง อย่าว่ากัน เพราะ 21 คนคิดได้เท่านี้ ส่วน นปช.ก็มีสิทธิเสนอมาได้ แต่ที่บอกว่าแน่จริงให้ยกเลิกมาตรา 35 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ทำไม่ได้เพราะเขาให้ตนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่มาทำรัฐธรรมนูญเก่า แล้วข้อสำคัญคือ ใน 10 ข้อของมาตรา 35 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) นั้น มีข้อไหนบ้างที่ควรตัดออก อย่างประทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ตัดออกหรือ ให้ขจัดคนทุจริตคดโกงจะให้ตัดออกหรือ กล้าบอกมาหรือไม่ให้ตัดตรงไหน
แนวคิดที่ให้ความสำคัญในการทำประชามติอาจมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ในประเด็นประชามติที่เป็นปัญหาอยู่เรื่อง "ผู้มีสิทธิออกเสียง" หรือ "ผู้มาใช้สิทธิออกเสียง"
ไม่ต้องแก้ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดแล้วว่าใช้ผู้มาลงคะแนน ส่วนคนที่ไม่ลงคะแนน เขาเรียกโมฆบุรุษ แปลว่าใครเอาอย่างไรเขาก็เอาด้วย ส่วนนี้จึงมานับได้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะแปลตรงตัว ที่เขียนออกมาเราก็ตั้งใจเขียนแบบนี้อยู่แล้ว แต่ถ้ากลัวจะเป็นปัญหาจะแก้ก็แก้ได้
มีกระแสข่าวที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ไม่ให้ทำประชามติ ป้องกันร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
นี่เป็นความอยากของคนทำข่าว ผมไม่เห็นด้วย คือ จะมีคนคิด พอคิดเสร็จแล้วก็เอาความคิดนั้นมาใส่ และเอาชื่อผมไปใส่ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรม เพราะใครจะรู้ว่า บทบัญญัติในการทำประชามติ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ผมเป็นคนใส่เอง อย่างชุดนายบวรศักดิ์จะมี สปช.คอยโหวตว่ารัฐธรรมนูญจะอยู่หรือไป แต่ชุดผมนี้ไม่มี มีแค่ กรธ. 21 คน ถูกตัดหางปล่อยวัด ให้มาทำ และถ้าเอารัฐธรรมนูญไปใช้เลยก็ไม่มีหลักยึด จะให้คน 21 คนมากำหนดชะตาชีวิตของคนทั้งประเทศก็คงไม่ใช่ จึงต้องมีการทำประชามติ ต้องหาแนวทางไปประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าพรรคการเมืองไปรณรงค์ไม่ให้ไปรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็รออีกสักปี หรือสองปี ก็ไม่เป็นไร ซึ่งถ้าร่างใหม่อีก แล้วรณรงค์ใหม่ให้ไม่รับอีก ถ้าจะเอาอย่างนั้นก็เอา ผมไม่กังวล เพราะทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบจะไปเล่นทำแล้วให้คนอื่นรับผิดชอบได้อย่างไร
จะเรียกรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างเป็นฉบับปฏิรูปได้หรือไม่
ผมไม่เคยเรียก สื่อเอาไปเรียกกันเอง สำหรับผม คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่การปฏิรูปเป็นภารกิจหนึ่งที่ต้องให้เกิดการปฏิรูป โดยอาจกำหนดแนวทางว่า เรื่องนี้จะต้องนำไปสู่อะไร อาจกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่กำหนดไว้ตายตัว เพราะเราอยากให้คนรุ่นหลังให้เขามาคิดด้วยว่าจะทำอย่างไร ให้การปฏิรูปนี้บรรลุ
จะออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ประชาชนยอมรับ เพราะหัวใจสำคัญคือการทำประชามติ
จะมีประชามติ หรือไม่มีประชามติ เราก็ต้องทำรัฐธรรมนูญให้ดีสำหรับประเทศและประชาชน เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่แค่เพราะต้องทำประชามติ จึงต้องเขียนเพื่อเอาใจประชาชน
ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ไม่ทราบ ต้องถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า แปลว่าอย่างไร ถามคนอื่นแล้วเขาก็จะแปลตามใจชอบ
ครั้งนี้จะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายหรือไม่
ผมพูดมาตั้งแต่ปี 50 ว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก็พยายามรักษาไว้ เขามาชวนไปเป็นอะไรก็บอกว่า พอแล้ว ไม่อยากเป็น
หยุดภารกิจชื่นชอบ
'มีชัย'วางมือ'ช่างไม้'
งานอดิเรกของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ หากว่างเว้นจากภารกิจการงาน สิ่งที่ชื่นชอบคือการเป็นช่างไม้ แต่หลังจากที่เข้ามาทำหน้าที่ประธาน กรธ.นั้น เจ้าตัวบอกว่า
"ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว เลิกแล้ว เพราะแต่ก่อนทำใช้ในบ้าน คุณหญิงอัมพร (เสนีวงศ์ ณ อยุธยา) ฤชุพันธุ์ ภรรยา อยากได้นั่นนี่ก็ทำ ทำจนเต็มบ้าน ตอนหลังออเดอร์
ไม่มี กิจการย่ำแย่ก็เลยค่อยๆ ลาไป แล้วอีกอย่างอายุเรามากก็เหนื่อยง่าย เพราะเวลาทำต้องยืนทั้งวัน เวลาทำ
ทำตั้งแต่ 06.00-20.00 น. ตอนทำรู้สึกสนุก เราทำตั้งแต่ชิ้นเล็กยันชิ้นใหญ่ อย่างเตียงนอน โต๊ะกินข้าว ตอนนี้มาร่างรัฐธรรมนูญ เวลาว่างก็เล่นเกมบนมือถือ หรือไม่ก็อ่านหนังสือ ดูทีวีแต่ไม่ดูข่าวนะ พยายามห่างจากข่าว
"ส่วนเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์เราก็ทำอยู่แต่ไม่ตอบมาสองวันแล้ว คำถามแต่ละวันที่เข้ามาเยอะ แต่โชคดี
เราตอบเร็ว และตอนนี้คลิกอ่านตำราจากอินเตอร์เน็ตก็ง่าย ตอบได้ทุกที่"
มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่จะฝากไว้ในแผ่นดิน
คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน
ทั้งด้วยฐานะความเป็นอยู่และวัยสมควรอย่างยิ่งที่ชีวิตจะมุ่งแสวงเส้นทางสุขสงบ หลีกหนีเรื่องกวนใจทั้งหลายแหล่ไม่ให้มีโอกาสมาแสดงตัวก่อผลกระทบ
แต่อย่างว่าทั้งที่รู้ว่าควรจะเป็นอย่างไร ชีวิตมนุษย์กลับไม่อนุญาตให้ใครดำเนินไปในหนทางที่ควรจะเป็นมากนัก
ที่สุดแล้วชีวิตล้วนดำเนินตามปัจจัยที่มาประกอบให้เป็นไป
ด้วยวัย 77 ปี มีชัย ฤชุพันธุ์ สมควรอย่างยิ่งกับห้วงเวลาแสวงหาความสุขสงบ แต่ที่สุดแล้วไม่เพียงต้องมาทำงานนามของหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งอยู่หัวโต๊ะ
ถึงวันนี้ต้องมาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ หลังจากที่ชุด 36 มหาปราชญ์ที่นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไปไม่ถึงฝั่งถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติโหวตล่มกลางคัน
งานของ "บวรศักดิ์" ว่ายากแล้วของ "มีชัย" ดูจะยากขึ้นไปอีกสองสามเท่า
แม้ความคิดถูกกำหนดกรอบไว้ด้วย "รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว" ที่ก่อให้เกิดการตีความที่สับสนขัดแย้งพอสมควรเหมือนกัน แต่ของ "บวรศักดิ์" เนื่องจากเป็นคณะแรกจึงถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเวลาน้อยกว่า แม้กระทั่งขยายเวลาจากโรดแมปเดิมออกไปก็ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยอะไรมากนัก ผิดกับของ "มีชัย" ที่แค่เริ่มต้นก็ถูกบีบด้วยข้อจำกัดในเวลา จะต้องทำงานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่ายื้อเวลา ขยายอายุอำนาจ
ความรู้สึกนี้หากมองให้ดีเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย
ในเงื่อนไขที่ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อร่างเสร็จต้องนำไปทำประชามติทันที" ไม่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติมาพิจารณาเหมือนชุดแรก ทำให้เป็นแรงกดดันไม่น้อย
ถ้าหากผ่านประชามติก็ดำเนินไปตามโรดแมป 20 เดือนอย่างที่ วิษณุ เครืองาม เคยแจกแจงไว้ ปัญหาอยู่ที่หากไม่ผ่านจะทำอย่างไร เพราะถ้าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่างกันใหม่ แรงกดดันจะไปอยู่กับ "คสช." ที่จะถูกกล่าวหาว่า "ซื้อเวลา ซื้ออำนาจ"
หากบริหารเศรษฐกิจได้ดีคงประคับประคองได้ระดับหนึ่ง แต่หากเศรษฐกิจเสื่อมทรุดไม่หยุดชนิดมองไม่เป็นความหวัง แรงกดดันนี้มีแต่จะก่อความยุ่งยาก การใช้กำลังเพื่อรักษาอำนาจอาจจะไม่ใช่หนทางที่เหมาะควรกับสถานการณ์ช่วงนั้น
ความยุ่งยากจะเกิดขึ้น
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือทำให้ "ผ่านประชามติ" ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย
โครงสร้างอำนาจที่คนชั้นสูงและชั้นกลางในเมืองเห็นว่าปัญหาอยู่ที่การให้สิทธิกับประชาชนอย่างเท่าเทียมกันมากเกินไปทำให้ธุรกิจการเมืองมาครอบงำอำนาจผ่านการขายสิทธิของคนระดับล่าง จำเป็นต้องขจัดปัญหานี้ด้วยการออกแบบจำกัดสิทธิประชาชนบางกลุ่มบางพวกไว้ เพื่อขจัด หรือกีดกันนักการเมืองที่คนชั้นสูงและคนชั้นกลางในเมืองไม่พึงปรารถนาไว้
แต่นักการเมืองที่มีเป้าหมายต้องถูกขจัด หรือกีดกันกลับเป็นกลุ่มที่ยึดครองหัวใจประชาชนส่วนใหญ่ เนื่องจากกระจายและแบ่งปันโอกาสไปให้กับคนระดับล่างได้เห็นช่องทางลืมตาอ้าปากได้มากกว่า ให้สัมผัสถึงความรู้สึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรถูกหยามหยันจากชนชั้นมากกว่า
และนี่เองเป็นเหตุของความยุ่งเหยิง
การร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องสนองโครงสร้างอำนาจตามกรอบที่คนชั้นสูงและชั้นกลางในเมืองวางไว้ แต่ต้องส่งให้คนทั้งประเทศอันหมายถึงคนระดับรากหญ้าอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศโหวตให้ผ่านเป็นเรื่องที่สวนทางกันตั้งแต่ต้น
ในข้อจำกัดที่จะต้องร่าง "รัฐธรรมนูญ" อยู่ในกรอบที่ไม่เคารพในหลักสิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชน แต่ต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงาม
เป็นเรื่องที่ว่าไปแล้วชวนพะอืดพะอมอย่างยิ่ง
แต่เป็นความพะอืดพะอมที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องจ่ายวันเวลาในช่วงที่ควรพักผ่อน และชื่อเสียงที่สะสมมาเพื่อแบกรับไว้
ในนาม "ความจำเป็นต้องทำงานเพื่อชาติ"
จึงน่าสนใจยิ่งว่า คนที่เห็นว่า "ภารกิจเพื่อชาติ" ของ "มีชัย" สมควรได้รับการสนับสนุนนั้น ยิ่งนับวันจะเหลือสักเท่าไร ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยปัจจัยที่นำพาสู่แนวโน้มที่ชวนให้ถอนหายใจ....