- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Monday, 13 July 2015 13:29
- Hits: 9892
'เปา'ฮืออีก ยื่น 2 พันชื่อค้านรธน. นศ.บุกจุดเทียน จี้ปล่อยสาวนปช. 'เทียนฉาย'วาก! ไม่ใช่หน้าที่สปช. ชง'บ.แห่งชาติ'
ผู้พิพากษากว่าครึ่งประเทศ 2 พันคนลงชื่อ ค้านร่างรธน.รอบ 2 นัดแถลงวันนี้ยื่นผ่าน สนง.ศาลยุติธรรม แย้งประเด็นอุทธรณ์คำสั่งก.ต. ให้ร้องศาลปกครองได้ ชี้แทรกแซงอำนาจตุลาการ นักศึกษาบุกจุดเทียนหน้าเรือนจำ จี้ปล่อยตัวสาวนปช. ที่แชร์โพสต์หมิ่น 'บิ๊กตู่'ทนายยื่นศาลทหารขอประกันตัวออกมาสู้คดี น.ศ.ที่ถูกจับหน้าหอศิลป์ฯ ยันถูกเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฟ้าชอร์ตจริง 'บิ๊กโด่ง'เตือนน.ศ.อย่าทำผิดซ้ำอีก ศาลอาจไม่เมตตาแล้ว ชี้ถูกล่อเป็นเป้ามีชื่อนายกฯ คนกลาง ลั่นไม่เคยคิด 'เทียนฉาย' ฉุนคนปูดข่าวทำประชามติตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ย้ำไม่ใช่หน้าที่สปช. 'อลงกรณ์' ยอมรับสปช.วงเล็กเคยคุยกัน ให้ 2 พรรคเสียงข้างมากเป็นแกนตั้งรัฐบาลหรือ 'แกรนด์คอลิชั่น' เผย 'กฤษฎา-ฉัตรชัย' มีชื่อชิงปลัดมท. กฎหมายป.ป.ช.มีผลใช้แล้ว จนท.ทุจริตโทษหนักถึงประหารชีวิต
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8993 ข่าวสดรายวัน
จี้ปล่อย - กลุ่มเมล็ดพริก ประชาชน องค์กรสตรี ร่วมชูป้ายจุดเทียนเรียกร้องให้ปล่อยตัว "รินดา พรศิริพิทักษ์" ผู้ต้องหา คดีโพสต์ กล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หน้าเรือนจำกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.
บิ๊กโด่งมึนถูกดัน"นายกฯคนกลาง"
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนกลางของรัฐบาลแห่งชาติ ในช่วงมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจระหว่างรัฐบาล คสช.ไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจาการเลือกตั้งว่า มันเป็นเรื่องแปลก ทำไมต้องมาเกี่ยวพันกับตนด้วย และไม่ทราบว่าข่าวนี้ออกมาได้อย่างไร ใครก็ไม่รู้ เพราะตนไม่ได้เข้าไปสัมผัสกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เขาจะคิดเห็นกันอย่างไรก็ว่ากันไป แต่เราไม่ได้ลงไปคลุกคลีตรงนั้นมากนัก ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินงานบนความตั้งใจแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาของชาติ ถ้าใครมีความยุติธรรมในใจ จะรู้ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจเต็มที่ ซึ่งตนก็อยู่ในครม.ด้วยก็ต้องร่วมกันแก้ปัญหากับนายกฯ
พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ตนไม่คิดไปเป็นอะไรหรือเห็นไปตามรัฐบาลแห่งชาติ และตนไม่เคยคิดเห็นอะไรกับเขาด้วย แต่ทำไมออกมาอย่างนี้ ตนก็ไม่เข้าใจ ยืนยันว่าตนจะต้องร่วมแก้ปัญหากับนายกฯเต็มที่ เมื่อพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ใช้หรือสั่งการมาก็พร้อมปฏิบัติอยู่แล้ว ภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ตนพร้อมสนองตอบการสั่งการอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง
หวั่นถูกล่อเป้า-ย้ำไม่เคยคิด
"ไม่รู้ว่า เขาเห็นเราเป็นเป้าหมายอะไร สงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็นผม ผมทำงานตามหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนตัวไม่เคยคิดจะเป็น นายกฯคนกลางอย่างที่เป็นข่าว ทุกวันนี้ตั้งใจทำงานเต็มที่ ไม่เคยคิดเพราะสิ่งเหล่านี้ต้องมีความเหมาะสมจริงๆ และพล.อ.ประยุทธ์มีความเหมาะสม มีความรู้ความสามารถจริงๆ เป็นคนที่มีบารมีเพียบพร้อม สามารถดูแลสถานการณ์อยู่ได้ ผมเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยนายกฯ เท่านั้นเอง" พล.อ.อุดมเดชกล่าว
รมช.กลาโหม กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การเมืองขณะนี้ รัฐบาลยังดูแลได้ด้วยดี ต้องอาศัยความเข้าใจของทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือกัน อะไรที่จะทำให้เกิดปัญหา ก็อย่าไปสนับสนุน อย่างกรณีนักศึกษา ซึ่งตนไม่อยากพูดอีกแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อนักศึกษาออกมาจากการควบคุมแล้ว จะมีเจตนารมณ์ทำอะไรต่อหรือไม่ ทางเราต้องพยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้น เขาจะไม่ฟังหรือไม่อย่างไรก็ตาม แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและคสช.ต้องประคับประคองทำความเข้าใจเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดินต่อไปได้
เตือนนศ.อย่าทำผิดซ้ำ
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า แต่ที่แน่ๆ เราจะไม่ยอมให้ประเทศเกิดปัญหาความไม่สงบอีก เพราะมันจะหยุดชะงักในการบริหารประเทศ เราต้องคุมสถานการณ์ไว้ ตามความจริงถ้ายังทำความผิดอีกก็ต้องอยู่ในส่วนของการดำเนินคดี เมื่อทำผิดก็ต้องรับโทษ เพราะที่ผ่านมาถือเป็นความเมตตาของศาล คดีความต่างๆ ก็ต้องดำเนินการต่อไปเพราะเป็นเยาวชน ศาลจึงมีความเมตตา ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก หรือถ้ามีอีก ก็จะเป็นความผิดซ้ำสองเพราะถือว่า มีเจตนา ต่อไปศาลอาจไม่เมตตา ถือเป็น เรื่องของกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ตนขอขอบคุณผู้ใหญ่ที่ไม่ให้การสนับสนุน ส่วน ผู้ที่สนับสนุนออกตัวในสิ่งไม่ถูกต้อง ขอให้หยุดเสียที
เมื่อถามว่า กลุ่มนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ที่คสช.และฝ่ายความมั่นคงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เมื่อเขาเป็นเยาวชน เราต้องระมัดระวังเพราะไม่เหมือนกับกลุ่มทั่วไปที่ออกมาเคลื่อนไหว เราต้องดูแลเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ออกมาเคลื่อนไหวทำให้ประเทศไม่สามารถเดินต่อไปได้
เทียนฉายฉุน"ใคร"ปูดรบ.แห่งชาติ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวถึงกระแสข่าวสมาชิกสปช.จะเสนอคำถามประชามติให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติและนายกฯคนกลางว่า เคยได้ยินว่าน.พ.ประเวศ วะสี เป็นผู้เสนอ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่เคยได้ยินว่า สมาชิกสปช.เป็นผู้เสนอ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของสปช. หน้าที่ของสปช.คือวางแนวทางการปฏิรูปประเทศ และตนอยากทราบเหมือนกันว่าสมาชิกสปช.คนไหนเป็นผู้เสนอ ส่วนการเสนอหัวข้อประชามติก็ยังไม่ได้หารือกัน เพราะการทำประชามติเป็นไปตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ขณะที่การตั้งชมรมสปช. เพื่อติดตามการปฏิรูปประเทศ ก็ยังไม่ได้พูดคุยกัน เนื่องจากยังไม่ถึงเวลา
"เสรี"ก็ไม่เอาด้วย-ชี้ต้องคืนปชต.
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกล่าวว่า ไม่เคยได้ยินว่าสมาชิกสปช.จะเป็นผู้เสนอทำประชามติให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติและนายกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง รวมทั้งบทบัญญัติบางมาตราที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และทบทวนเนื้อหาสาระทั้งหมดให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง จึงคาดว่ากระบวนการทุกอย่างน่าจะดำเนินการได้เสร็จในช่วงการประชุมนอกสถานที่ในครั้งนี้
นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่คณะ ผู้พิพากษาทำหนังสือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในหมวดศาลยุติธรรมนั้น ยืนยันว่าเราจะนำความเห็นที่แต่ละฝ่ายเสนอมาประกอบการพิจารณา เราไม่กังวล เนื่องจากเราทำหน้าที่และตัดสินใจด้วยความรอบคอบ อีกทั้งประเด็นนี้กมธ.ยกร่างฯ ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในชั้นรายประเด็นแล้ว โดยมีความเห็นร่วมกันว่าก็คงไว้ตามเดิม จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ทั้งนี้ หากดูจากมาตรา คาดว่าประเด็นนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของกมธ. ยกร่างฯในวันที่ 13 ก.ค.นี้
ผู้พิพากษาต้านอุทธรณ์คำสั่งก.ต.
นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา เปิดเผยว่า ขณะนี้ทราบว่ากมธ. ยกร่างฯได้ยกเลิกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสัดส่วนบุคคลภายนอก 1 ใน 3 ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรียบร้อยแล้ว แต่ทราบว่ากมธ.ยกร่างฯซึ่งจะพิจารณาหมวดศาลในวันที่ 13 ก.ค. ยังมีแนวคิดที่จะให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์มติของก.ต.ได้อยู่ รวมทั้งอาจจะยังมีการซ่อนปมไว้ โดยยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้อุทธรณ์คำสั่งไปยังหน่วยงานใด ซึ่งตนได้ยินมาว่าอาจให้อุทธรณ์มติของ ก.ต.ไปยังศาลปกครองได้ หากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับทำลายโครงสร้าง ทำให้ระบบของศาลยุติธรรม ล้มเหลว ไม่สามารถปกครองและคุ้มครองหรือลงโทษผู้พิพากษาซึ่งกระทำผิดวินัยได้ จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เพราะมีการแทรกแซงอำนาจตุลาการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยของประเทศ และอาจทำให้อำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง มีอำนาจเหนือกว่า ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรม และยังเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ลงชื่อกว่า 2 พันยื่นค้านรธน.รอบ 2
นายศรีอัมพรกล่าวอีกว่า การให้สิทธิผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัย มีสิทธิอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยได้นั้น แม้จะเป็นประโยชน์ แก่ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัย แต่อาจใช้วิธีแก้ในหลักการที่ว่าให้ผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยยังมีสิทธิร้องขอให้ ก.ต. ทบทวนพิจารณาบทลงโทษทางวินัยได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยในวันที่ 13 ก.ค. ตนและนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา จะนำรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญรวม 2,079 คน พร้อมจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ส่งผ่านสำนักงานศาลยุติธรรม ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป โดยจะแถลงอย่างเป็นทางการที่ศาลฎีกา ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 12.00 น.
นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า ผู้พิพากษาที่ร่วมลงชื่อคัดค้านในครั้งนี้กว่า 2 พันคนนั้น ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่รับราชการในศาลฎีกา 209 คน ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 512 คน เเละศาลชั้นต้น 1,358 คน โดยจะยังทยอยส่งรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาเพิ่มอีกมาก เฉพาะรายชื่อขณะนี้ ถือเป็นอัตราส่วนเกือบ 1 ใน 2 ของจำนวนผู้พิพากษาทั่วประเทศที่มีกว่า 4,000 คนแล้ว
ซัดคนเสนอทำปฏิรูปเสียของ
นายศรีอัมพร กล่าวว่า แนวคิดร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว มาจาก กมธ.ยกร่างฯ 3 คนประกอบด้วย นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตตุลาการศาลปกครองคนหนึ่งที่ไม่ขอเอ่ยนาม ตนไม่อยากเชื่อว่านายจรูญ ซึ่งเคยเป็นอดีต ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมาก่อนจะมีแนวคิดแบบนี้ เพราะขนาดนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษายังทำหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ด้วย
"ผมมองว่าแนวคิดดังกล่าวกระทบการเมืองการปกครองของประเทศ ไม่รู้ว่าเป็นการหวังดีหรือประสงค์ร้ายกันแน่ และ นี่อาจจะเป็นการปฏิรูปที่ทำให้เสียของ" นายศรีอัมพรกล่าว
ชี้ผู้นำปท.ต้องมีธรรมาภิบาล
ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯและปลัดสำนัก นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติของนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสว่า เรื่องนี้ต้องนิยามองค์ประกอบต่างๆ ให้ได้ก่อนว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มีความหมายอย่างไรและจะประกอบด้วยใครบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของใครหรือจะเดินไปตามโรดแม็ปของรัฐบาล สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณสม บัติของตัวบุคคลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะต้องมีคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล เพราะปัญหาของบ้านเมืองที่ผ่านมาเกิดจากตัวบุคลากร ซึ่งการดำเนินการต่อจากนี้เพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศ ทุกอย่างต้องรอบคอบ
โพสต์ได้แต่ห้ามสร้างแตกแยก
ผู้สื่อข่าวถามถึงการจับกุมมือโพสต์เฟซบุ๊กที่ว่านายกฯโอนเงินไปสิงคโปร์ 1 หมื่นล้านบาท ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ตนไม่ขอวิจารณ์ถึงบทลงโทษในกระบวนการยุติธรรมว่ารุนแรงเกินไปหรือไม่ แต่มองว่าการจะโพสต์หรือแชร์ข้อมูลใดๆ ในโซเชี่ยลมีเดีย ต้องคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม ความรักความสามัคคีของคนในชาติ อะไรที่ทำให้เกิดความแตกแยกก็ไม่ควรโพสต์
ม.มหาสารคามนัดเคลียร์ปมขัดแย้ง
นายวิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยว่า ในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 10.30 น. ได้นัดตัวแทนอาจารย์จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กรณีมีการออกแถลงการณ์ตอบโต้กันไปมา ระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับแนวทางของ คสช. เพื่อทำความเข้าใจกันระหว่าง 2 ฝ่าย และไม่ให้เรื่องบานปลาย เนื่องจากอยู่ในสถาบันเดียวกัน โดยนัดที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งแนวโน้มเป็นการพูดคุยปรับความเข้าใจกันตามปกติ และเปลี่ยนความคิด เปิดเผยจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่ได้สร้างความขัดแย้ง ถึงแม้อาจจะมีอาจารย์บางคนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ประเด็นไหนที่ไม่ลงตัวก็ต้องมาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งตนพร้อมเจอกับทุกฝ่าย ไม่มีประเด็นแอบแฝง แต่ขอความร่วมมือเรื่องของความเคลื่อนไหวในการใช้ชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ควร แต่หากจะเคลื่อนไหวโดยไปในนามบุคคล ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ห้ามกันไม่ได้ ส่วนการพูดคุยจะออกมาในรูปแบบใด คงจะทราบในวันที่ 13 ก.ค.
น.ศ.ยันจนท.ใช้ไฟฟ้าชอร์ต
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องสมุดสันติประชาธรรม สวนเงินมีมา เขตคลองสาน มีการจัดเสวนาเรื่อง "เบื้องหน้าเบื้องหลัง 22 พ.ค. จับนักศึกษา ประชาชน 38 คน" โดยนายกันต์ แสงทอง หนึ่งใน 38 คนที่ถูกจับในการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เล่าเหตุการณ์ว่า ตนมาร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมของนักศึกษา ที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยมีเหตุชุลมุนเกิดขึ้น กระทั่งถูกจับกุมและนำไปขังที่ สน.ปทุมวัน
นายกันต์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มี การเจรจา ภายหลังการจับกุมตัวและปล่อยตัวนักศึกษา โดยขอให้นักศึกษายุติการเคลื่อน ไหวในช่วงนั้น โดยจะต้องเซ็นรับรองในสำเนาบัตรประชาชนว่าจะไม่เคลื่อนไหว ซึ่งตนและกลุ่มเพื่อนได้ใช้มือซ้ายเซ็นรับรอง ยืนยันว่ากลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมนั้นถูก เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปะทะ ทำให้บาดเจ็บหลายราย รวมถึงการชอร์ตไฟฟ้าเป็นเรื่องจริง แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าเป็นเหตุเรื่องไฟฟ้ารั่วก็ตาม ซึ่งตนโชคดีไม่โดน
ขอบคุณ"ปริญญา"ช่วยดูแล
นายกันต์กล่าวว่า ตนเห็นว่าการจับกุมที่เกิดขึ้นครั้งนั้นแสดงถึงความงี่เง่า ทั้งที่เหตุการณ์ชุมนุมสงบอยู่ดีๆ แต่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมของผู้ใช้อำนาจรัฐ คนตัวเล็กตัวน้อยจะโดนรังแก เพราะไม่มีอำนาจไปต่อรอง อย่างกลุ่มดาวดินอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น โดนอำนาจรัฐเล่นงานหนักกว่ากลุ่มตน ซึ่งถือเป็นความไม่เป็นธรรมจากรัฐ ขณะที่พวกเราโชคดียังมีสื่อช่วยจับตามองจึงปลอดภัย ไม่ถูกกระทืบ นับว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อพวกตนสุภาพมาก
นายภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ 1 ใน 38 คนที่ถูกจับกุมตัว เล่าถึงเหตุการณ์ในห้องกุมขัง ที่สน.ปทุมวันว่า ช่วงนั้นตนรู้สึกเครียด เพราะตนมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจและโรคซึมเศร้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ความสนใจตนแต่อย่างใด ขณะที่น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือน้องลูกเกด นักศึกษาหญิงที่ถูกจับกุมก็มีโรคประจำตัว และแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าไม่สบาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าจะพาตัวลูกเกดไปโรงพยาบาล แต่ได้นำตัวลูกเกดไปห้องสอบสวนแทน ก่อนพาตัวมาที่ห้องคุมขัง อย่างไรก็ตาม มีนายปริญญา เทวานฤมิตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คอยให้การช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาอยู่ตลอดช่วงที่นักศึกษาถูกคุมขัง
น.ศ.จุดเทียนจี้ปล่อยตัว"รินดา"
เมื่อเวลา 18.00 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิป ไตย ประมาณ 30 คน จัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยตัวนาง รินดา ปฤชาบุตร อายุ 44 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมภายหลังโพสต์ส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. และนางนราพร ภริยา นำเงินหมื่นล้านบาทไปฝากธนาคารในสิงคโปร์ และมีการเผยแพร่ส่งข้อความ ดังกล่าวตามสื่อออนไลน์
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ระหว่างที่รอกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาหยิบลำโพงออก ทำให้เกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย กระทั่งกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ มาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 คน ขณะเดียวกัน มีประชาชนทยอยมาทำกิจกรรมชูป้ายแสดงเจตนารมณ์ มีข้อความ Free รินดา, ปล่อยแม่กลับไปกอดลูก, ปล่อยประชาชน, ปล่อยนักโทษการเมือง ทั้งนี้ หลังทำกิจกรรมจุดเทียน กลุ่มนักศึกษาได้ตะโกนว่าเราคือเพื่อนกัน เราไม่ทิ้งกัน ก่อนจะแยกย้ายกลับ โดยนัดจุดเทียนเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 20.00 น. ที่หน้าเรือนจำฯ
ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน
น.ส.เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม ตัวแทนกลุ่มเมล็ดพริก อ่านแถลงการณ์ว่า รัฐบาลไทยมีแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของยูเอ็นเอสซี และได้บอกต่อสาธารณชนว่า การใช้กฎหมายในไทยไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักกฎหมาย แต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องโกหก กรณีนางรินดาเป็นตัวอย่างหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยวของเจ้าหน้าที่รัฐ ยัดเยียดข้อกล่าวหาที่หนักเกินความเป็นจริง และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยกเลิกข้อกล่าวหานางรินดาอย่างไม่มีเงื่อนไข หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้สิทธิประกันตัว และตั้งข้อหาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้แล้วการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทำให้ปัญหาของช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ
ตัวแทนกลุ่มเมล็ดพริกกล่าวว่า จากเหตุการ์ที่เกิดขึ้นกับนางรินดาและคนอื่นๆ เราขอประกาศเจตนารมณ์ต่อสังคมว่า 1.รัฐจะต้องคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมืองทุกคน 2.นายกฯจะต้องออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ตัวแทนกลุ่มศนปท. เอ็นดีเอ็ม กล่าวว่า ในนามตัวแทน ขอแถลงการณ์เรียกร้องเน้นย้ำเราคือเพื่อน กันมิตรภาพเกิดจากการมาแสดงจุดยืน เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร โดนอำนาจความ อยุติธรรมทำร้าย เราคือเพื่อนกัน ขอให้สิทธิ์การประชาชน เป็นสิทธิ์ทำให้เราได้สู้คดี ตราบใดที่ควรได้รับสิทธิ์ให้เขาประกันตัว เขาเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ไม่สามารถทำลายความมั่นคงของชาติได้
ทนายยื่นศาลทหารขอประกันตัว
นายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล ทนายกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพกล่าวว่า ในนามของทนาย จะขอเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้นางรินดา เพราะครอบครัวนางรินดาไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และการที่นางรินดาโพสต์ข้อความนั้น เพราะนายกฯคือบุคคลสาธารณะที่มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ แต่กลายเป็นเรื่องบานปลาย ทั้งนี้ เวลา 09.00 น. ของวันที่ 13 ก.ค. กลุ่มทนายจะเข้ายื่นหนังสือขอให้ศาลทหารพิจารณาประกันตัวให้นางรินดาได้
ยันมีสิทธิออกมาสู้คดี
นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว กล่าวว่าการไม่ให้ประกันตัวเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางรินดาอย่างเร็วที่สุด ขอเรียกร้องให้คืนแม่แก่ลูก
นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เวลานี้เราจะออกมายืนยันว่าพลเมืองจะไม่ขึ้นศาลทหาร กฎหมายจากเผด็จการจะไม่ถูกบังคับใช้ นางรินดาควรมีโอกาสออกมาต่อสู้คดีและดูแลลูกๆ
ด้านนายทรงธรรม แก้วพรรณพฤกษ์ นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่กล่าวว่า การเป็นรัฐต้องสามารถรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนได้ ขอเรียกร้องให้นางรินดาได้ประกันตัว เขาไม่ใช่ภัยความมั่นคง เป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ ไม่ได้ทำอะไรเลวร้ายเท่ากับการรัฐประหาร
"อ๋อย"ห่วงเชิญนักการเมืองผิดหัวข้อ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการเชิญนักการเมืองไปออกทีวีว่า ถือว่าเป็นประโยชน์ แต่ยังไม่มาก เนื่องจากตั้งหัวข้อผิดคือ "เดินหน้าปฏิรูป" ซึ่งผู้ที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยจะเห็นว่าการปฏิรูปใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้การปกครองระบอบที่ไม่เป็นประชาธิป ไตย ความเข้าใจจึงต่างกันโดยพื้นฐาน การที่ตนไปร่วมรายการเพื่อจะสื่อสารประเด็นนี้ด้วย หากต้องการให้หลายๆ ฝ่ายไปออกทีวีให้เป็นประโยชน์จริง ควรเลือกหัวข้อที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การแก้ปัญหาสำคัญของบ้านเมือง ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ การคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง
ตั้ง 5 คำถามถึงคสช.
จากนั้นนายจาตุรนต์โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องความสงบที่ไม่ยั่งยืนว่า การปกครองแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากประชาชนไม่มีส่วนร่วมและถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จึงไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ถ้าวิเคราะห์กันดีๆ หากแม่น้ำ 5 สายยังไหลไปเรื่อยๆ แบบทุกวันนี้ ในอนาคตสังคมไทยอาจพบกับความขัดแย้งวุ่นวายยิ่งกว่าก่อนรัฐประหารก็ได้ ซึ่งความสงบในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ความสงบที่แท้จริงและไม่ใช่ความสงบที่ยั่งยืน เนื่องจาก 1.จนถึงบัดนี้สังคมไทยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ยังไม่ได้ร่วมกันวิเคราะห์หรือเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับต้นเหตุความขัดแย้ง เพื่อสรุปบทเรียนและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างในอดีตขึ้นอีก
2.ยังไม่มีการค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลก่อนรัฐประหาร 3.การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการกับปัญหาต่างๆ และบริหารบ้านเมือง โดยไม่เปิดให้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนรวมจากประชาชนฝ่ายต่างๆ กำลังสะสมปัญหาขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นเมื่อใดก็ได้ และยากแก่การแก้ไขในอนาคต
ชี้ความสงบตอนนี้ไม่ใช่ของจริง
4.การร่างรัฐธรรมนูญและการวางแผนปฏิรูปกำลังสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก เป็นไปได้สูงที่จะเกิดวิกฤตร้ายแรงขึ้นได้ 5.ยังไม่มีการชำระล้างค่านิยมความเชื่อผิดๆ ที่ว่า "หากมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ" และ "หากรัฐบาลไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมาย ก็ชอบแล้วที่จะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้น"
นายจาตุรนต์ระบุว่า ทั้ง 5 ข้อจะเห็นว่าความสงบที่คนพึงพอใจอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ความสงบที่แท้จริงและไม่ใช่ความสงบที่ยั่งยืน นี่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการและรอคอย หากต้องการให้เกิดความสงบที่ยั่งยืนจริง ก็จำเป็นต้องส่งเสริมให้ทุกฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป คำถามคือต่อจากนี้ประเทศไทยจะเกิดความสงบที่ยั่งยืนได้อย่างไร
เผยปชช.ยังเชื่อมั่นตัวนายกฯ
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง การประท้วงของนักศึกษา ข้าวของแพง เศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาอื่นๆ โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 1,339 คน วันที่ 6-11 ก.ค. พบว่าร้อยละ 59.90 เชื่อมั่นในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และเห็นว่าการบริหารบ้านเมืองเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลา แต่ที่ผ่านมามีหลายเรื่องดีขึ้น บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นไปตามโรดแม็ป ร้อยละ 24.02 เชื่อมั่นมากขึ้น เพราะทั้งนายกฯและรัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจ พยายามแก้ปัญหาต่างๆ ให้ดีขึ้น รัฐบาลเข้มแข็ง มีประสบการณ์มากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลได้พิสูจน์ความสามารถและผลงานสู่ประชาชน
ส่วนการแก้ปัญหานั้น ร้อยละ 73.41 เห็นว่ารัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญ และเร่งเดินหน้า ร้อยละ 68.78 รัฐต้องทำงานด้วยความจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ร้อยละ 66.17 ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายแก้ปัญหาและเสริมสร้างความสามัคคี
]
แนะบิ๊กตู่อดทน-ใช้สติ
ร้อยละ 82.97 อยากให้นายกฯ มีสติ ใจเย็น อดทน ไม่หลงไปตามกระแสสังคมหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ร้อยละ 81.25 ขอให้นายกฯ ยึดมั่นในความถูกต้อง ยุติธรรม ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นประชาธิปไตย และร้อยละ 77.60 เห็นว่าต้องรับฟังและพูดคุย ชี้แจงให้ประชาชนรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เผชิญอยู่
ส่วนความร่วมมือของประชาชนในการแก้ปัญหานั้น ร้อยละ 82 เห็นว่าต้องเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับสังคม ร้อยละ 78.34 ร่วมมือกับภาครัฐ ให้ความช่วยเหลือตามกำลังและความสามารถ
ค้านน.ศ.เคลื่อนไหวต้านรบ.-คสช.
นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์(นิด้า) เผยผลสำรวจเรื่อง "ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในปัจจุบัน" จากประชาชนทั่วประเทศ 1,257 คน วันที่ 9-11 ก.ค. พบว่าร้อยละ 77.65 ระบุกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวขณะนี้ ควรเฝ้าติดตามการทำงานของรัฐบาล และคสช.อย่างเดียว เพราะไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย อีกทั้งการปฏิรูปต้องใช้เวลา ควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานก่อน ร้อยละ 13.45 ระบุว่าควรออกมาสนับสนุน เพราะเห็นด้วยกับการทำงานต้องการเห็นประชาธิปไตยที่ไม่มีการทุจริต พอใจรัฐบาลบริหารประเทศ
ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ องค์กรทางสังคมและการเมือง และพรรคการเมืองนั้น ร้อยละ 68.34 ระบุควรอยู่เฉยๆ เพราะควรให้โอกาสรัฐบาลทำตามแผนที่วางไว้ ไม่ต้องการเห็นกลุ่มคนต่างๆ ออกมาแทรกแซง หรือวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศชาติ ซึ่งขัดกับหลักความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ร้อยละ 15.27 ระบุว่าควรออกมาสนับสนุน ชี้แนะถึงแนวทางทำงานและการแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ และขณะนี้รัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่ในการปฏิรูปประเทศ และร้อยละ 8.59 ระบุว่าควรออกมาต่อต้าน เพราะต้องการเห็นความคิดเห็นที่หลากหลายจากหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ
รูปแบบของการแสดงออกทางการเมืองในกรณีประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบาย หรือการดำเนินงานของรัฐบาล หรือคสช. ร้อยละ 55.77 ระบุว่าควรแสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาล และคสช.ตามช่องทางที่เปิดให้ตามกฎหมาย ร้อยละ 20.68 ระบุว่าควรอยู่เฉยๆ ไม่ต้อง ทำอะไรเลย และร้อยละ 12.97 ระบุว่า ควรจัดเสวนาวิชาการ
สนช.นัดถกคดีสอย 248 อดีตสส.
วันที่ 12 ก.ค. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เปิดเผยว่า การประชุมสนช.วันที่ 15-16 ก.ค.นี้ จะพิจารณาวาระการเปิดแถลงสำนวนคดีนัดแรกการถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ตามข้อบังคับการประชุมสนช. 2557 ข้อ 149 ซึ่งคาดว่าผู้ถูกกล่าวหาจะมีหนังสือแจ้งให้สนช.ทราบว่า จะมีผู้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากี่คน หรือจะส่งผู้แทนมาชี้แจงตามกลุ่มฐานความผิดภายในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ซึ่งวิปสนช.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพราะสนช.เปิดเวลาไว้ถึง 2 วัน เพื่อให้ผู้ถูกกล่าว 248 คนมีโอกาสชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่า สำหรับสำนวนความผิดในคดีถอดถอน 248 อดีตส.ส. แยกตามสำนวนคดีตามฐานความผิด เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 อดีตส.ส. 239 คน ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของส.ว. รวมทั้งพิจารณาและลงมติในวาระ 1, 2 โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 ที่มีผลทำให้ส.ว.ที่พ้นวาระแล้วกลับมาลงสมัครได้ทันที และวาระ 3 โดยถือว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
กลุ่มที่ 2 มี 1 คน ลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณาและลงมติในวาระ 2 และ 3 ซึ่งป.ป.ช.ชี้มูลความผิดขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อนุ 1 วรรคหนึ่ง และกลุ่มที่ 3 มี 10 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาและลงมติในวาระ 1 และวาระ 3 โดยถือว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบัญญัติมาตรา 291 อนุ 1 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ 1 มีสมาชิก 2 คน ประกอบด้วยนายทองดี มนิสสาร และนายตุ่น จินตะเวช ได้ถึงแก่กรรม จึงไม่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อบังคับ
จนท.รัฐทุจริต-โทษประหารชีวิต
วันที่ 12 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2558 มีสาระสำคัญ ในมาตรา 13 ให้เพิ่มบทบัญญัติการลงโทษแก่เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 123/2 มาตรา 123/3 มาตรา 123/4 มาตรา 123/5 มาตรา 123/6 มาตรา 123/7 และมาตรา 123/8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
ประเด็นที่สำคัญคือ มาตรา 123/2 บัญญัติว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 123/3 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตําแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท
'กฤษฎา-ฉัตรชัย'เข้าชิงปลัดมท.
วันที่ 12 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะมีการเสนอชื่อปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่เข้าที่ประชุมครม.แทนนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อไม่ให้ขาดช่วงในขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เลื่อนขึ้นจากรองผู้ว่าฯ ที่จะต้องสอบ ส่วนแคนดิเดตขณะนี้มีเพียง 2 คน คือนายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) ที่มีจุดเด่นในเรื่องอาวุโส ความขยันตั้งใจทำงาน มือสะอาด และมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน แต่มีข้อด้อยตรงที่ทำงานเติบโตมาจากภูมิภาค ที่สำคัญอาจไม่สามารถฝ่าด่านสิงห์ดำ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในกระทรวงไปได้ ส่วนนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีจุดเด่นที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง มีคอนเน็กชั่นในหลากหลายวงการ และเป็นมือประสานสิบทิศ แต่มีข้อด้อยที่อาวุโสยังน้อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้จะเสนอรายชื่อรองปลัดกระทรวงและอธิบดี ในครั้งเดียวกัน โดยมีอธิบดีว่างลงจากการเกษียณ คาดว่าจะเสนอนายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าฯภูเก็ต เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ และนายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวง อาจขึ้นแท่นในกรมที่ดิน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต รองปลัดกระทรวง มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะก้าวขึ้น นั่งเป็นอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างไรก็ตาม มีชื่อของนายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าฯลพบุรี นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าฯชัยนาท นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าฯสระบุรี เข้ามาเป็นรองปลัดกระทรวงหรืออธิบดีด้วย