WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cสมบต ธารงธญวงศสมบั ติ ธำรงธัญวงศ์ ส่องโค้งสุดท้ายแก้ไขร่างรธน. ถอยหลังเข้าคลองสร้างรบ.อ่อนแอ

 

     หมายเหตุ - นายสมบัติ ธํารงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'มติชน' ถึงแนวทางการปฏิรูปด้านต่างๆ และข้อห่วงใยในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

 

ประเมินการทำงานและความพอใจของ สปช.ที่ผ่านมาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะหมดวาระไป

การทำงาน สปช.เป้าหมายชัดเจน 60 วันแรกให้ความเห็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงต่อมาเป็นเรื่องวาระการปฏิรูปประเทศ สปช.ก็มีการประชุมวิสัยทัศน์ประเทศทั้งหมด 37 วาระ ซึ่ง กมธ.แต่ละคณะที่เป็นเจ้าของวาระก็ไปดำเนินการ บางวาระเสนอเป็นรายงานการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป บางวาระก็ยกร่างเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วยเพื่อให้ ครม.ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการพิจารณาวาระทั้ง 37 วาระ ให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม ก่อนหมดอายุของ สปช. ซึ่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคม กมธ.ยกร่างฯก็ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญมาให้ สปช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อพิจารณาแล้ว ไม่ว่าเห็นชอบไม่เห็นชอบ สปช.ก็สิ้นสุดหน้าที่ไป ถือว่า สปช.ทำตามหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนทุกประการ ส่วนจะบอกว่าพอใจไม่พอใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น กมธ.ปฏิรูปการเมืองเสนอความเห็นไปให้ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เสนอไปให้ เขาก็ไม่เอากับเรา จะบอกพอใจไม่พอใจก็ไม่ได้ แต่หน้าที่เรานำเสนอไปเขาจะรับไม่รับก็เป็นอำนาจของ กมธ.ยกร่างฯ 

 

แนวทางปฏิรูปที่เราดำเนินการไปจะออกมาอย่างไร สำเร็จหรือไม่

     ขั้นตอนการปฏิรูปอาจจะมี 2 ขั้นตอนใหญ่ ขั้นแรกการศึกษาวาระการปฏิรูป ซึ่งตรงนี้ สปช.ดำเนินการอยู่ ขั้นที่สองคือการเสนอร่างกฎหมาย มีรายละเอียดมากขึ้นและมีขั้นตอนที่ยาว เพราะต้องเสนอให้ ครม.พิจารณา และหาก ครม.เห็นด้วยก็ต้องส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบ เมื่อ สนช.เห็นชอบก็จะประกาศออกมาเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เรื่องที่จะมีการปฏิบัติไม่ปฏิบัติเป็นเรื่องของรัฐบาล ซึ่งหากมีกฎหมายออกมา ทางรัฐบาลที่จะมีขึ้นก็ต้องทำตาม ดังนั้นการปฏิรูปจะสำเร็จไม่สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ สปช.หรือสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯ เพราะคนที่เอานโยบายไปฏิบัติคือรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ โดยร่างรัฐธรรมนูญอาจกำหนดกรอบหลักว่าจะต้องให้มีการขับเคลื่อนการปฏิรูป และเมื่อมีกฎหมายปฏิรูปออกมา รัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมายนั้น ซึ่งเท่ากับว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หากไม่ทำรัฐบาลก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

 

น้อยใจหรือไม่สำหรับร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ที่กำหนดให้ สปช.ต้องหมดวาระไปเร็วกว่าเดิม

      ผมถือว่าทำตามหน้าที่ หากหมดวาระไปก็ได้ทำตามหน้าที่แล้ว เมื่อภารกิจบอกว่าเสร็จแล้ว เราก็ต้องจบ ผมไม่เคยยึดติด ไม่มีน้อยใจ ส่วนจะเป็นคนที่โดนคัดเลือกเป็นสภาขับเคลื่อนฯหรือไม่นั้น ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว สำหรับผมที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ก็พอแล้ว ส่วนหาก ครม.เลือกอันนั้นก็ไม่ทราบ ทั้งนี้ หากเขามาถามเราก่อน เราก็จะไม่รับ แต่ถ้าตั้งเลยแล้วเรามาลาออกก็จะน่าเกลียด 

 

 

มองการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญโค้งสุดท้ายอย่างไร

    เท่าที่ผมติดตามการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดูจะถอยหลังกว่าเก่า แทนที่ปรับปรุงใหม่จะดีกว่าเก่า เพราะของเก่าอาจจะมีประเด็นน่าวิตกกังวลบ้าง แต่ก็ยังมีประเด็นเด่นหลายประเด็น เช่น การที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้ง ครม. ต้องส่งเรื่องให้วุฒิสภาตรวจสอบประวัติก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อมีการปรับแก้ใหม่กับตัดทิ้งหมด เหมือนกลับไม่กล้าตรวจสอบนักการเมือง ทั้งที่เราเห็นนักการเมืองไม่น่าไว้ใจก็น่าจะทำให้การตรวจสอบเข้มข้นขึ้น 

     แม้จะมีหลายส่วนในร่างรัฐธรรมนูญนี้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2550 บางอย่างใช้ได้ แต่ที่มีปัญหาคือการตรวจสอบฝ่ายการเมืองยังเป็นง่อย การถอดถอนไม่สำเร็จ การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ผล เพราะงั้นต้องแก้ โดยการสร้างกลไกการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพขึ้น แต่ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้ทำส่วนนี้ การตรวจสอบยังใช้การถอดถอน การอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนเดิม และให้มีรัฐบาลที่อ่อนแอ ดังนั้นนอกจากจะไม่เป็นการปฏิรูปแล้วยังเป็นการถอยหลังเข้าคลอง 

      ร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทกำหนดโครงสร้างการเมือง ดังนั้นหากมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่ไม่เข้มแข็ง ได้รัฐบาลที่อ่อนแอเข้ามา การขับเคลื่อนการปฏิรูปก็ค่อนข้างยาก เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ รัฐบาลต้องเข้มแข็ง มีเอกภาพ หากรัฐบาลอ่อนแอจะมีปัญหาสองประการคือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประชาชนได้ และไม่สามารถดำเนินนโยบายของประเทศได้ 

      อย่างเช่นที่ผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศสเคยมาให้ความรู้เราว่า ประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่งเศสเคยมีรัฐบาลผสมไม่เข้มแข็ง ปรากฏว่าฝรั่งเศสเกิดวิกฤตการเมืองเยอะแยะ แก้ไขไม่ได้ จนต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และเปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นกึ่งประธานาธิบดี กอบกู้วิกฤตทางการเมืองได้ แสดงให้เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญ หากเราร่างให้เหมาะสมก็แก้ปัญหาวิกฤตประเทศได้ แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจริง หากร่างแล้วติดกรอบเดิม ความคิดเดิม หรือร่างเพื่อให้ได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ 

ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะแก้ไขปัญหาประเทศ เพราะเราก็เห็นประสบการณ์ในอดีตมาแล้ว ในช่วงก่อนปี 2540 มีรัฐบาลผสมหลายพรรค รัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ได้ปีเดียว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลผสมอ่อนแอ ไม่สามารถเป็นความหวังของประเทศและประชาชนได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญของประชาชนได้ นำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงหรือแก้ไขปัญหา 

อย่างไรก็ดี เรานำระบบเขามา เราก็ต้องมาดูสภาพบ้านเมืองเราเช่นกัน การเมืองไทยยังมีข้อน่าระแวงการเข้าสู่อำนาจเยอะ เพราะนักการเมืองไทยจำนวนมากเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียง การใช้เงินมากซื้อเสียง แล้วเงินเดือนแสนกว่าบาท จ่ายไป 30-40 ล้านบาท ซึ่งเขาไปหาผลประโยชน์ตอบแทนจากที่ไหน คำตอบตรงกันหมดคือโกง โดยวิธีโกงมีหลายอย่าง งบประมาณแผ่นดิน 

     โกงจากการให้สิทธิพิเศษต่างๆ จากพวกพ้อง เพื่อนฝูง โกงจากการซื้อขายตำแหน่งจากข้าราชการประจำ นอกจากนี้ หากการตรวจสอบนักการเมืองของเราไม่มีประสิทธิภาพ การทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยิ่งแพร่หลาย ดังนั้นการที่ กมธ.ยกร่างฯให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลอ่อนแอ เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ทางแก้ไม่ใช่แบบนี้ โดยทางแก้ที่ดีคือมีรัฐบาลเข้มแข็ง แต่ต้องออกแบบกลไกตรวจสอบรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ 

 

อนาคตรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

      หาก สปช.ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะถูกส่งไปทำประชามติ ซึ่งเมื่อฝ่ายการเมืองและพรรคการเมืองรับในร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ เพราะหลายพรรคก็ไม่ได้สนใจในเรื่องรัฐบาลผสม เขามองว่าหากได้ประโยชน์ก็เอา ดังนั้น ถ้าเขาชอบ เขาก็จะบอกหัวคะแนนเพื่อให้บอกประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญนี้

    เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านก็จะมีรัฐบาลผสมอ่อนแอ ในที่สุดเกิดความไม่สงบและก็เกิดความสะดุดอีกจนได้ แทนที่รัฐธรรมนูญจะใช้ได้นาน เราก็ต้องถอยหลังกลับมาอีก จากการมีรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถสร้างอนาคตให้ประเทศได้ 

เลือกตั้งเสร็จอาจจะกลับเป็นรูปแบบเดิม เพราะดูจากที่เขาร่างคร่าวๆ เราก็พอจะรู้หน้าตารัฐบาลเป็นอย่างไร เราอาจมีรัฐบาลผสมอ่อนแอ ซึ่งจะมีนักการเมืองหน้าใหม่ชนะการเลือกตั้งกี่เปอร์เซ็นต์ คำตอบคือน้อยมาก เพราะคนที่ชนะเลือกตั้งคือนักการเมืองเก่า พรรคที่ชนะเลือกตั้งก็เป็นสองกลุ่มคือเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคขนาดกลางก็ยังคงเหมือนเดิม พรรคขนาดเล็กอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง และอย่างที่ทราบนักการเมืองเช่นนี้บริหารประเทศอย่างไร เราก็รู้ คือไม่มีผลงานในทางสร้างสรรค์ 

      ส่วนเรื่องการลงมติเห็นชอบไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้นั้น ผมมองว่าต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร แต่ผมนั้นจะให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ เพราะผมเคยกล่าวเสมอว่า หากประเด็นปลีกย่อยดี แต่หัวใจไม่ดีก็ไม่มีโอกาสทำให้สำเร็จหรอก เพราะว่ารัฐบาลเป็นง่อยอ่อนแอ ขับเคลื่อนอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลถือเป็นหัวใจของประเทศ อำนาจในการบริหารประเทศจะสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ทำให้เราล้าหลังเขา แล้วก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมาก วันนี้คนยากจนมีปัญหาหนี้สินเยอะมาก เช่นนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบการเมืองของเราที่มีในอดีตไม่สามารถที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ภาคครัวเรือนได้ คนจนยังจนอยู่มาก 

     ส่วนเสียง สปช.คนอื่นเขาก็รอดูร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายที่เสนอช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ช่วงนั้นคงได้ทราบว่าจะออกมาอย่างไร โดยหากผมเห็นร่างสุดท้ายคงจะวิเคราะห์ได้เต็มที่กว่านี้ ว่ารัฐธรรมนูญนี้ หากประกาศใช้จะยืนอยู่ได้นานเท่าไหร่ นำพาประเทศไปอย่างไร

มติชนออนไลน์ :คอลัมน์ เกาะติดปฏิรูป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!