- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Monday, 18 May 2015 16:19
- Hits: 7676
หยั่งเสียงเปิดเวทีดีเบต อีกวิธีดึงการมีส่วนร่วม'รธน.'?
มติชนออนไลน์ : เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช - ยุทธพร อิสรชัย
ธนพร ศรียากูล - ชำนาญ จันทร์เรือง
หมายเหตุ - ความเห็นจากฝ่ายต่างๆ กรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้หัวหน้าพรรคการเมืองมาดีเบตถึงข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับที่ กมธ.ยกร่างฯเป็นผู้จัดทำ
เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ้าจะจัดให้มีการดีเบตเกิดขึ้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ดีเบตก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการหาเหตุ หาผลกัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับบรรยากาศในการดีเบตด้วย อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็มีการดีเบตกัน
แต่หากถามว่าสถานการณ์ บรรยากาศ ของประเทศไทย ณ ขณะนี้ เหมาะสมให้จัดการดีเบตหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะจัดสภาพการดีเบตอย่างไร อันดับแรกต้องดูก่อนเลยว่าใครจะดีเบตกับใคร กรณีนี้ก็ควรเป็นคนที่มีความรู้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และจำเป็นต้องมีองค์ประกอบในการดีเบตให้ครบ คือ ฝ่ายสนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นต์ และฝ่ายคัดค้านร้อยเปอร์เซ็นต์ ฝ่ายสนับสนุนก็ต้องหาเหตุผลมาหักล้างเหตุผลของอีกฝั่งหนึ่งให้ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 315 มาตรา ฝ่ายที่เห็นด้วยต้องเห็นด้วยทุกอย่าง และเข้าใจอย่างถ่องแท้ และมีเหตุผล ส่วนฝ่ายค้านก็ต้องค้านทั้ง 315 มาตรา พร้อมด้วยเหตุผล แล้วก็ดีเบตกันไป
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องคำนึงด้วยว่ารัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่ค้านคงไม่ได้ไม่เห็นด้วยทั้งหมดทุกมาตรา เพราะบางมาตราก็เป็นลักษณะนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2475 ประเด็นลักษณะนี้ก็ไม่จำเป็นต้องดีเบต หรือว่าหากจะดีเบตเป็นประเด็น ก็ต้องเป็นประเด็นที่มีฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านอย่างชัดเจน
ย้อนกลับไปยังคำถามว่าบรรยากาศในตอนนี้เหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องดูว่าจะดีเบตกันในมาตราไหน อย่างไร ส่วนใหญ่แล้วคนสนับสนุนคงไม่มีปัญหาเท่าไร แต่คนเห็นต่าง จะรู้สึกได้ถึงอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่หรือไม่ เพราะในตอนนี้รัฐยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่าการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้อย่างปลอดภัย
นอกเหนือจากการดีเบต ก็ยังมีอีกหลายวิธีในการฟังความคิดเห็น เพราะการดีเบตมีข้อเสียอยู่หนึ่งอย่างคือ มีแพ้และมีชนะ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นเรื่องของการแพ้ชนะ รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่พวกเราต้องใช้กันทุกคนไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ คนทั้งประเทศกว่าเจ็ดสิบล้านคนก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันทุกคน การดีเบตในบางเรื่องเวลาที่แพ้ชนะจะส่งผล แบ่งเป็นฝ่ายที่ชนะกับฝ่ายที่แพ้ แต่ตัวรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ผลคือการที่เราต้องเอามาบังคับใช้
ดังนั้นต้องพิจารณาว่าเมื่อมีการแพ้ชนะแล้ว ผลของมันคืออะไร คนทั้งประเทศจะเห็นพ้องต้องกันกับคนที่ชนะหรือไม่ หรือฝ่ายคัดค้านเมื่อมาดีเบตแล้วแพ้และจะเกิดอะไรขึ้น คือสุดท้ายแล้วไม่ได้มีผลในด้านปฏิกิริยากับสังคม มาถกเถียงกันมีผลแพ้ชนะแล้วหากผลมันออกมาเป็นอย่างเดิมมันก็ไม่มีอะไร
การเลือกวิธีประชาพิจารณ์ เลือกวิธีการตั้งวงเสวนาแบบให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ อย่างกว้างขวาง อาจเป็นวิธีที่ควรนำมาพิจารณา และดูว่าผลตามมาจะมีมากกว่าการดีเบตหรือไม่
เรื่องของรัฐธรรมนูญ คนที่ค้านก็อาจจะค้านไม่เหมือนกัน ในมาตราเดียวกัน คนที่สนับสนุนก็อาจจะสนับสนุนในคนละแบบในมาตราเดียวกัน หรือสนับสนุนทุกมาตรา ดังนั้นถ้าจะเอามาให้มีการหาเหตุหาผล ให้มีการแสดงเหตุผลนำเป็นวงพูดคุยน่าจะดีกว่าการดีเบต เพราะประเด็นมีมากและกว้าง
ยุทธพร อิสรชัย
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เห็นด้วยเพราะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้รัฐธรรมนูญตกผลึกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากคนร่างรัฐธรรมนูญเองจะมีโอกาสรับฟังข้อมูลจากหลายภาคส่วน และตอบข้อซักถามของอีกฝ่ายในประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจบนเวทีที่มีประชาชนรับฟังไม่ใช่เพียงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนตอบโต้กันไปมาอย่างเดียว ไม่เป็นประโยชน์อะไร อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่นายบวรศักดิ์กับนักการเมืองจะดีเบตต้องทำคือ เวทีนี้ต้องเป็นเวทีสาธารณะอาจจะเป็นการถ่ายทอดสดหรือเปิดให้สื่อมวลชนรับฟังเพื่อถ่ายทอดให้ประชาชนรับรู้ด้วย แต่หากจะดีเบตกันแค่ในห้องประชุมลับ ผมไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีประโยชน์อะไร
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญยังขาดการมีส่วนร่วมจากสังคม ดังนั้นเวทีดีเบตจึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากจะร่างรัฐธรรมนูญแล้วรังเกียจความเห็นนักการเมือง คงไม่ดีแน่นอน
หากจะให้เวทีดีเบตมีประโยชน์ กมธ.ยกร่างฯ ต้องเก็บเอาข้อมูลเป็นเหตุเป็นผลไปพิจารณาหาข้อแก้ไขด้วย อาทิ ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ส.และ ส.ว. กระบวนการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และปัญหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะคงไม่มีประโยชน์ถ้าฟังอย่างเดียว สุดท้ายทุกอย่างก็ยังคงอยู่จุดเดิม
ธนพร ศรียากูล
หัวหน้าพรรคคนธรรมดา
การดีเบต ถือว่าเป็นเวทีใช้เหตุใช้ผลในการถกเถียงกัน อีกทั้งเป็นเวทีเปิด แต่จะมีเงื่อนไขว่าการจัดเวทีแบบนี้ขึ้นมาได้ คสช.จำเป็นต้องยกเลิกคำสั่งห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ถ้าไม่มีการยกเลิก สิ่งที่นายบวรศักดิ์พูดไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะว่าท่านบวรศักดิ์มีทั้ง คสช. และ กฎของ คสช.
เป็นผู้สนับสนุนอยู่ โดยมีคำสั่งไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ต้องยอมรับว่าเวทีของการดีเบตเรื่องรัฐธรรมนูญ นั้นเป็นกิจกรรมทางการเมือง ก็จะขัดกับประกาศของ คสช.แน่ๆ
การที่ท่านบวรศักดิ์พูดแบบนี้ ท่านเองก็รู้ดีอยู่แล้วว่าไม่มีทางเกิดขึ้นมา เพราะท่านมีก็อดฟาเธอร์คอยช่วยดูแลรักษาความปลอดภัย และไม่ยินยอมให้มีการดีเบตเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นคำพูดในการท้าดีเบตของท่านบวรศักดิ์จึงเป็นคำพูดที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเงื่อนไขต่างๆ เวทีแบบนี้เกิดไม่ได้ ตราบใดที่ประกาศของ คสช.ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองยังอยู่ ท่านบวรศักดิ์ก็จะอาศัยกฎนี้ในการออกไปประกาศท้าทายคนอื่นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นเพราะความดูดีของตนเองเท่านั้น
วิธีที่ง่ายที่สุด หากท่านบวรศักดิ์จะแสดงความจริงใจจะให้มีการโต้วาทีจริงๆ อยากให้ทำหนังสือในฐานะคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ คสช.ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว แล้วพรรคคนธรรมดาประกาศว่าจะขอเป็นพรรคแรกที่จะดีเบตกับท่าน ขอให้กำหนดวันมาเลย หรือจะให้พรรคเป็นคนจัดให้ก็ได้และเชิญท่าน
บวรศักดิ์มา ท่านสะดวกวันไหนก็ขอให้ลงวันนัดหมายไว้ได้เลย จะเป็นวันพรุ่งนี้ก็ยังได้ และผมจะเป็นคนดีเบตกับท่านบวรศักดิ์เอง
ส่วนตัวเชื่อว่าพรรคการเมืองทุกพรรคพร้อมดีเบตกับท่าน แต่เขาไม่ได้ให้ราคากับสิ่งที่ท่านพูด เพราะท่านเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าจัดไม่ได้ แต่หากยกเลิกประกาศ คสช.จริง รับรองว่าคณะกรรมาธิการเองแทบจะไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่น้อย
ส่วนประเด็นที่อยากดีเบตกับท่านบวรศักดิ์ เริ่มจากที่ท่านบอกว่ารัฐธรรมนูญของท่านจะส่งเสริมความเป็นพลเมือง ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจแล้ว รวมถึงปัญหาในเรื่องหลักคิด และที่สำคัญที่สุด คือเรื่องการควบคุมกองทัพโดยพลเรือน เป็นหลักของสากล แต่ไม่ได้มีการเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องดีเบตกับท่าน เพราะหากท่านบวรศักดิ์บอกว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป และให้พลเมืองเป็นใหญ่ ทำไมถึงไม่มีเขียนเอาไว้ ทั้งที่กองทัพเป็นหนึ่งในองค์กรที่ควรจะปฏิรูปองค์กรหนึ่ง
ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ถ้าจะจัดดีเบตนี่เห็นด้วย เหมือนปี 2550 แต่พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจะกลายเป็นเอาไปชั่งกิโลขายไหม เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าหรือเปล่า ตัวร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าพิมพ์หมดจะเหมือนปี 2550 จะหนา ทำเป็นสรุปก็ได้ พอให้เข้าใจง่ายๆ ในหลักการสำคัญ เอาที่สามารถเชื่อมโยงได้จะดีกว่า
การดีเบตนั้นต้องดูว่าใครเป็นผู้แทนของใคร เฉพาะหัวหน้าพรรคและพรรคก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่ง เพราะคนใช้รัฐธรรมนูญเป็นของคนไทยทุกคน ดีเบต
ก็ไม่ควรมีแค่เวทีเดียว ควรจะมีทั้งนักวิชาการ ส่วนการเมือง และส่วนคนจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเรื่องที่บางคนบางกลุ่มทำอย่างจำเพาะเจาะจงเท่านั้นเอง นักวิชาการเองก็มีตั้งหลายขั้ว ประชาชนก็มีตั้งหลายขั้ว
พรรคการเมืองเป็นส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่าต้องมีส่วนอื่นจะร่วมด้วย และดีเบตก็ไม่น่าจะเป็นครั้งเดียวจบ เอาเป็นเวทีของสื่อหรืออะไรไปได้เยอะแยะ ทำหลายๆ ครั้ง
ถ้าดีเบตก่อนลงประชามติก็ดีอยู่แล้ว เพราะหลักการลงประชามติต้องให้ความรู้ให้ได้มากที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นคนก็ไม่รู้ว่าจะไปลงประชามติเรื่องอะไร
แนวทางการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องรัฐธรรมนูญ นอกจากการดีเบตแล้วสื่อต้องช่วยด้วย จับประเด็นและใส่ข้อเท็จจริงเข้าไป หากมีความเห็นก็ต้องบอกว่านี่คือความเห็น ไม่ได้จำกัดว่าสื่อจะมีความเห็นไม่ได้ แต่ต้องบอกว่านี่คือประเด็นหลัก เปรียบเทียบให้เห็น ให้เข้าใจอย่างง่าย จะดีกว่า
การจัดดีเบตในสถานการณ์อย่างนี้ ต้องทำให้ได้ ถ้าประชามติโดยดีเบตไม่ได้ ก็ถือว่าจบ ไม่ใช่ประชามติ แล้วก็จะเป็นจำอวดหน้าม่าน เพื่อให้ครบๆ ไปเท่านั้นเอง ประชามติต้องเปิดให้คนแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ถ้าคุณยังอยู่ภายใต้ มาตรา 44 จำกัดการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 4 คนขึ้นไป ไม่มีประโยชน์เลย อวสาน ยิ่งกว่าปี 2550 ยังไงก็ต้องมี ต้องเปิดเสรีด้านความเห็น
ประชามติไม่ได้มีเฉพาะเนื้อหารัฐธรรมนูญ ประชามติต้องรวมไปถึงว่า เห็นด้วยกับวิธีการที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไหม ที่มาของการที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ หรือฉีกรัฐธรรมนูญไหม เกี่ยวพันถึงขนาดนั้น สำคัญมาก สมมุติเขาลงประชามติว่าไม่เอาอย่างถล่มทลาย คสช.ก็ต้องคิดหนักแล้ว เขาต้องบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 ถ้าลงประชามติว่าเอาจะเป็นยังไง ถ้าไม่เอาแล้วจะเป็นยังไง ถ้าไม่เอาแล้วกลับไปเขียนใหม่ด้วยวิธีการเดิม ไม่มีประโยชน์ ต้องใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การซ้ำรอยเดิม เพราะประชามติครั้งนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะเนื้อหารัฐธรรมนูญอย่างเดียว มีเรื่องที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างด้วย เพราะการร่างรัฐธรรมนูญ คือการร่างกฎหมาย ก็เหมือนเอาคนไปให้ช่างตัดผม คณะกรรมาธิการยกร่างก็เหมือนช่างตัดผม ต้องตัดตามใจเจ้าของหัว จะไปเอาตามใจช่างตัดผมได้
ยังไง ก็จะเป็นวิธีการแบบนี้...