- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Saturday, 09 May 2015 23:17
- Hits: 7461
สนช.รับหลักการ'พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ'แทนไอซีที
แนวหน้า : ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.เป็นประธานในการประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นวาระแรก
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ว่า โดยที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ฐานความรู้ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจต่างมีความต้องการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของการให้บริการ แต่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีขอบเขตอำนาจหน้าที่จำกัดเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทในทุกภาคส่วน ดังนั้น เพื่อให้มีกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมถึงเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่มากขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะปัจจุบันต้องมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคม ต้องการให้เทคโนโลยีดิจิทัลครอบคลุมไปทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้การสนับสนุน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญระดับประเทศ ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะมีส่วนช่วยในทางธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย หรือ SME ส่วนในทางการแพทย์ก็ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่นการโอนข้อมูลคนไข้ข้ามประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแพทย์กันได้มากขึ้น และในทางการศึกษา จะช่วยทำให้การศึกษาเข้าถึงชนบทมากขึ้น รวมไปถึงการบริการภาครัฐที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ในส่วนข้อกังวลที่สมาชิกเสนอมา เช่น การทำงานยังเป็นระบบราชการอยู่ จะเป็นปัญหาและอุปสรรคหรือไม่ จึงเสนอว่าควรมีข้าราชการที่มีศักยภาพสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบ
ต่อมาที่ประชุมได้มีการลงมติรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนนเสียง 158 เสียง มอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 17 คน ระยะเวลาดำเนินงานภายใน 30 วัน