- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Wednesday, 22 April 2015 10:22
- Hits: 6883
สำรวจ'สปช.'ปักหลัก 7 วัน 7 คืน ชำแหละรธน.
เข้าสู่โหมดลุยงานหนักหลังหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ตลอดทั้งสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 20-26 เมษายน สปช.ทั้ง 250 ชีวิต จะต้องนั่งห้องประชุมสภากันยาวๆ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญมาให้ สปช.อภิปรายตลอด 7 วัน 7 คืน เพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกทั้ง 315 มาตรา ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ
(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
งานใหญ่เช่นนี้ ประชาชนต่างจับตามอง พร้อมให้กำลังใจอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของสมาชิก สปช. นอกจากนี้ สปช.จากสายภูธรหลายคน ยังต้องจากบ้านที่ต่างจังหวัดมาใช้ชีวิตอยู่เมืองกรุงกันเป็นอาทิตย์ๆ
เนื่องจากเป็น สปช.สายต่างจังหวัดไม่ได้มีบ้านพักอยู่ในเมืองหลวง จึงไม่รู้ว่าจะมีอาการโฮมซิก คิดถึงบ้านและครอบครัวกันขนาดไหน
กระจิบข่าวอดสงสัยไม่ได้ว่า สปช.ต่างจังหวัดจะอยู่กินกันอย่างไร เคลียร์กับคนที่บ้านเข้าใจแล้วหรือไม่ รวมทั้งมีวิธีการดูแลสุขภาพร่างกายพร้อมลุยงานใหญ่ของประเทศอย่างไรกันบ้าง
แม่บ้านของ สปช.อย่าง เสี่ยจ้อน-อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) บอกกับกระจิบข่าวว่า การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกนี้ไม่มีสิทธิพิเศษอะไรให้ใครเลย แต่ละคนต้องรับผิดชอบตัวเอง แม้แต่อาหารทุกคนก็ต้องกินเหมือนกันหมด มีพิเศษสุดสุดอย่างเดียว คือ อาหารมุสลิม ที่ทางสภาจะจัดเป็นพิเศษไว้ให้ทุกคน
ส่วนการประชุมเพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเหมือนประชุมกันทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา แต่ที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษคือสมาชิก สปช.ทั้ง 2 ท่าน คือ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และ นางทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 เพราะต้องนั่งบัลลังก์ดำเนินการประชุมกันอยู่ 2 คนเท่านั้น เนื่องจากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 ที่สวมหมวกประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่สามารถขึ้นนั่งบัลลังก์ทำหน้าที่ได้
"ประธานทั้ง 2 ท่าน อายุมากด้วยกันทั้งคู่ แล้วยังต้องนั่งบัลลังก์สลับกับเพียง 2 คน ทั้ง 7 วัน เดือนเมษายนอากาศก็เปลี่ยนด้วย ถ้าเกิดมีคนป่วยไปอีกคนหนึ่งก็ต้องนั่งบัลลังก์คนเดียว ก็คงจะต้องมีการพักการประชุมกันเป็นระยะๆ แน่" เลขานุการวิป สปช. แสดงความห่วงใย
เมื่อเรื่องสุขภาพของผู้ทรงเกียรติทั้ง 250 ท่าน เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง กระจิบข่าวจึงอดสอบถามไม่ได้ว่าอย่างนี้จะต้องมีคอร์สตรวจสุขภาพมาบริการเพิ่มเติมระหว่างการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
"อลงกรณ์" ชี้แจงว่า ปกติที่รัฐสภาเราจะมีห้องพยาบาล และมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลมานั่งประจำอยู่แล้ว สามารถไปวัดความดัน หรือตรวจสุขภาพกันได้ งานอภิปรายครั้งนี้เป็นแมตช์สำคัญทุกคนต่างทุ่มเทกันอย่างเต็มที่มาก
ไม่ต้องห่วง !
ส่วนความพร้อมของ สปช.จากต่างจังหวัดนั้น นิพนธ์ คำพา สปช.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า "ผมมีบ้านลูกสาวอยู่ที่ปากน้ำ ก็อาศัยอยู่ที่บ้านลูก ตอนเช้าเขาก็ขับรถมาส่ง ตอนเย็นก็นั่งแท็กซี่กลับ แต่ถ้าเวลาล่วงเลยไปมากหรือเหนื่อยมากๆ อาจต้องพักโรงแรมใกล้ๆ สภา ส่วนตัวเรื่องของสุขภาพไม่มีปัญหาอยู่แล้ว"
กระจิบข่าวลองแซวว่ามานาน 7 วัน 7 คืนแบบนี้ คนที่แม่ฮ่องสอนไม่คิดถึงแย่หรือ "นิพนธ์" ตอบกลับเรียบๆ ว่า "เป็นธรรมดา แต่ทุกทีก็จะกลับแม่ฮ่องสอนทุกอาทิตย์อยู่แล้ว เพราะมีงานรับฟังความคิดเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญตลอด คนที่แม่ฮ่องสอนหลายคนก็เชียร์ตลอดว่าขอให้ทำงานให้สำเร็จ และครอบครัวก็ให้กำลังใจดี งานนี้ลุยกี่วันก็ไม่มีปัญหา"
ขณะที่ สปช.จากถิ่นอีสาน เอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น บอกว่า "ปกติเวลามาประชุมทุกครั้งจะนอนที่โรงแรมย่านลาดพร้าว ครั้งนี้ก็เช่นกัน อยู่ยาวๆ ไป 7 วันรวด แต่ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือเรื่องการเดินทาง ผมเตรียมทีมงานอย่างคนขับรถ ให้เดินทางมาจากขอนแก่น มารอสแตนด์บายที่ กทม.จนกว่าจะเสร็จงาน ต้องขอบายแท็กซี่อย่างเด็ดขาด เพราะเคยมีประสบการณ์ยืนรอรถแท็กซี่เป็นชั่วโมงและไม่ได้ขึ้นมาแล้ว กลัวว่าจะมาประชุมไม่ทัน ส่วนเรื่องสุขภาพก็ไม่ได้ตรวจเช็กอะไรเป็นพิเศษ เพราะเป็นคนที่ไม่มีโรคประจำตัว"
สปช.จากเมืองหมอแคน บอกด้วยว่า งานนี้ทำตัวให้สบายๆ ไม่เครียดอะไร คิดว่ามาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ได้สร้างผลงานให้ประเทศ
ส่วนกำลังใจสำคัญอย่างศรีภรรยาได้ให้กำลังใจอะไรเป็นพิเศษระหว่างมาทำหน้าที่ สปช.อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศหรือไม่นั้น สปช.ขอนแก่นตอบกลับว่า "เขาก็บอกให้สู้ให้เต็มที่ มีโอกาสแล้วให้ทำเต็มที่ ทางบ้านเราคุยกันเข้าใจ ทุกครั้งถ้าประชุมเสร็จ ก็จะรีบขึ้นเครื่องบินกลับไปหาเลย"
เห็นความตั้งใจ ฟิตทั้งกาย ทั้งใจกันมาขนาดนี้ หวังว่าอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกคงจะฉลุย