- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Wednesday, 25 March 2015 10:36
- Hits: 7054
'กมธ.กฎหมายฯ'ชงรื้อ'อัยการ-ดีเอสไอ' 'องค์กรอิสระ'ยกเครื่องทั้งระบบ ลดคดีค้างศาล-ขจัด 2 มาตรฐาน
มติชนออนไลน์ : |
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการศึกษาเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ฯ กล่าวว่า การปฏิรูปการจัดทำกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปรับปรุงและการยกร่างกฎหมายนั้น ยังมีกระบวนการที่ใช้เวลานาน ซับซ้อน และมีขั้นตอนมาก รวมถึงยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงควรมีการปฏิรูปกระบวนการตรากฎหมายและปรับปรุงกฎหมายปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา และ พ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในการแบ่งอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับร่างกฎหมายที่สามารถทำให้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของประชาชนและสังคมโดยรวม และปรับปรุงให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยใช้หลักต่างตอบแทน นายเสรี กล่าวว่า การปฏิรูปองค์กรและกระบวนการยุติธรรมก่อนชั้นศาล ได้ศึกษาการปฏิรูปองค์กรอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทนายความ และหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย หรือร่างกฎหมายใหม่ ขององค์กรดังกล่าว เนื่องจากระบบสอบสวนที่แยกส่วนระหว่างพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ ทำให้การสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะในคดีที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย ในการเพิ่มอำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการ ให้มีอำนาจในการลดปัญหาและยุติปัญหาทางคดีความก่อนนำคดีไปสู่ศาล รวมทั้งมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลมากเกินไป ทำให้คดีค้างพิจารณาจำนวนมาก จึงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนในคดีสำคัญ โดยให้พนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน และการเข้าสอบสวนคดีตามที่กฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการ ปฏิรูปกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ และชั้นศาลให้สามารถใช้หลักประกันเดียวกันได้ตลอดทั้งคดี ปฏิรูปมาตรการทดแทนการสั่งฟ้องคดี เช่น การไกล่เกลี่ย การชะลอการฟ้องเพื่อลดปริมาณคดีสู่ศาล รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรอัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งการปฏิรูปครั้งจะช่วยลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ทำให้ศาลสามารถตัดสินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนจนเข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้น และขจัดปรากฏการณ์ความยุติธรรม 2 มาตรฐานทำให้ฐานะทางการเงินไม่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความยุติธรรม ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ นายเสรี กล่าวว่า ในส่าวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล ได้เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายยกเลิกกฎหมายหรือร่างกฎหมายใหม่ขององค์กรศาล และงานที่เกี่ยวเนื่องร่วมทั้งพิจารณาสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะของการปฏิรูปงานศาล เพื่อให้การปฏิบัติงานขององค์กรศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก้ประชาชนอย่างอิสระ ปราศจากการแทรกแซง รวมถึงให้มีการตรวจสอบคำสั่งและคำพิพากษาให้ถึงที่สุด และเห็นว่าควรมีมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบันโดยคำนึงถึงผู้กระทำผิดที่เป็นผู้หญิง ตามหลักการของข้อกำหนดกรุงเทพฯ และควรจัดตั้งศาลชำนาญพิเศษเฉพาะทางเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ผู้พิพากษา ตุลาการ ให้มีความเชี่ยวชาญชำนาญคดีเฉพาะด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน จะต้องมีการยกร่างแก้ไขกฎหมายที่เพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2558 นายเสรี กล่าวว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ป้องกันการทำงานที่ล่าช้าและซ้ำซ้อนระหว่างองค์กรจึงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการสรรหา โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคลในองค์กร รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งข้อเสนอและแนวทางการปฏิรูปทั้งหมดเสนอต่อ สปช.ให้พิจารณาปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้สมบูรณ์ต่อไป ทั้งนี้ หลังเปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง นายเทียนฉายได้แจ้งว่า การพิจารณาในวันนี้ถือว่าสมาชิกได้รับทราบรายงานของ กมธ.ฯ ชุดนี้แล้ว ทาง กมธ.ฯ จะรวบรวมความเห็น ข้อเสนอแนะ สปช.นำไปเป็นแนวทางปรับปรุง ทบทวนการดำเนินการแล้วนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุม สปช.อีกครั้งสิ้นเดือนพฤษภาคม |