- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Wednesday, 18 March 2015 11:32
- Hits: 7074
วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18:28 น. ข่าวสดออนไลน์
รายงานพิเศษ : อานิสงส์คดี 38 สว.ต่อ 250 สส.
อดีต 38 ส.ว.หายใจโล่ง หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตไม่ถอดถอนยกชุด
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลถอดถอนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.
แต่ที่ยังต้องระทึกคือ 250 อดีตส.ส. ที่ป.ป.ช.เพิ่งชี้มูลจากการแก้ไขปมที่มา ส.ว.เช่นกัน
บรรทัด ฐานการพิจารณาคดี 38 ส.ว. จะมีอานิสงส์ต่อ 250 ส.ส.หรือไม่ มีความเห็นจากนักวิชาการ อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และวิป สนช.
ยุทธพร อิสรชัย
คณบดีรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
กรณี ของอดีต ส.ส. 250 คน ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูล หากพิจารณาดูจะเห็นแง่ที่เหมือนกันกับกรณีของอดีต ส.ว. 38 คน ตรงที่การแก้รัฐ ธรรมนูญเป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำได้
แต่อดีต ส.ส.ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือการสอดไส้วาระ จึงเป็นปัญหา จุดนี้เป็นส่วนที่แตกต่างจากกรณีของอดีต ส.ว. ทำให้ดูว่าในส่วนของอดีต ส.ว.ไม่ได้ทำผิด ทำให้ สนช.ลงมติไม่ถอดถอน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ส่วน ถือเป็นการลงมติคนละองค์กร ในส่วนของอดีต ส.ว.เป็นการลงมติโดยสนช. ซึ่งเป็นการตรวจสอบทางการเมือง
ขณะ ที่ 250 อดีตส.ส. เป็นการลงมติโดยป.ป.ช. ซึ่งตรวจสอบทางกฎหมาย จึงอาจมองลึกเกินไปกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขได้
ดังนั้น ในแง่ตรวจสอบทางการเมืองอาจจะไม่ผิด แต่ถ้าในแง่การตรวจสอบทางกฎหมายคงต้องดูในคำวินิจฉัยของป.ป.ช.ว่าลงรายละเอียดลึกอย่างไร
ทำ ให้ประเด็นสำคัญที่สุ่มเสี่ยงของอดีต ส.ส. 250 คน คือการสอดไส้วาระ แต่ในส่วนของผลประโยชน์ขัดกันคงไม่เกี่ยว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติโดยแท้ ที่จะแก้ไขกฎกติกาของสังคมได้
เข้าใจว่าประเด็นอำนาจหน้าที่นั้นสามารถ แก้ไขได้ แต่ถ้าจะผิดน่าจะเป็นประเด็นสอดไส้มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องของขั้นตอนและวิธีการ
จึง คิดว่าแนวโน้มการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนกรณีอดีต ส.ส. 250 คน น่าจะสุ่มเสี่ยงกว่ากรณีของอดีต ส.ว. 38 คน เพราะมีข้อแตกต่างอย่างที่ได้กล่าวไป
สดศรี สัตยธรรม
อดีต กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง
การเทียบเคียงระหว่างคดีถอด ถอนอดีต 38 ส.ว. และอดีต 250 ส.ส. ที่แก้ไขประเด็นที่มาของ ส.ว. มูลคดีมาจากรัฐธรรมนูญเดียวกันคือฉบับ 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว
และสนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ไปแล้ว หากไม่เกิดคำว่าสองมาตรฐานขึ้นเชื่อว่าผลของคดีสำหรับ 250 ส.ส. ก็คงไม่แตกต่างกัน
โดยหลักความเป็นจริง รัฐ ธรรมนูญ 2550 เปิดช่องทางให้ สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิ สภา เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นนี้ สนช.ก็ถือว่าได้สร้างบรรทัดฐานที่ไม่ลงมติถอดถอน และหากพิจารณารายละเอียดการชี้มูลของป.ป.ช. จะพบว่าเป็นประเด็นชี้มูลที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน
ส่วนที่มีการกล่าวหาเรื่อง ส.ส.เสียบบัตรแทนกันช่วงที่มีการแก้ไขที่มาของ ส.ว.นั้น เป็นเรื่องที่เข้าข่ายการผิดต่อข้อบังคับและเป็นเรื่องทางคดีอาญา หากพบหลักฐานว่ามีความผิดจริง
กระบวนการนี้ควรจะหาข้อเท็จ จริงก่อนที่ ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้ สนช.พิจารณา ควรต้องรอให้ศาลอาญามีคำพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน ไม่ควรจะข้ามขั้นตอนไปสู่การพิจารณาว่าจะถอดถอนหรือไม่
อีกทั้ง น้ำหนักการชี้มูล สำหรับอดีต 38 ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความพยายามแก้ไขที่มา ส.ว.เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองสามารถลงสมัครเพื่อดำรงตำแหน่ง ต่อได้หลังหมดวาระ
แม้ 250 ส.ส.จะถูกกล่าวหาว่า แก้ไขเพื่อเปิดช่องทางให้เครือญาติตนเองลงสมัคร ส.ว. จะเกิดความสัมพันธ์ระหว่างสองสภา เป็นการกล่าวหาที่มองไปถึงอนาคต ยังไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นจริง
และสุดท้ายการที่ สนช.มีมติไม่ถอดถอน 38 ส.ว. ก็เท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การได้มาซึ่งฝ่ายนิติ บัญญัติ เมื่อไม่มีการถอดถอนบรรดาอดีต ส.ว.เหล่านี้ก็ถือว่ามีคุณสมบัติที่สามารถกลับเข้ารับตำแหน่งได้ แม้จะเป็นรูปแบบการเลือกตั้งทางอ้อมก็ตาม จึงขอแสดงความยินดีที่ผ่านพ้นวิกฤตทางการเมืองมาได้
ส่วน ส.ส.ที่กำลังจะถูกพิจารณาถอดถอน ที่มีข้อกังวลว่าอาจเกิดประเด็นทางการเมืองที่พยายามป้องกันไม่ให้ ส.ส.ฝ่ายนี้กลับเข้าสู่เวทีการเมือง ต้องมองไปถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะออกแบบมาเป็นการป้องกันหรือไม่
ส่วนตัวเชื่อว่า ในร่างรัฐธรรมนูญนี้มีแนวโน้มในแง่การรับฟังความคิดเห็นจากภายนอกไปในทางที่ ดีขึ้น เพราะมีการทบทวนว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรจะกำหนดในรัฐธรรมนูญ
จึงอยากจะเชื่อว่ามติ สนช.ที่ไม่ถอดถอนอดีต ส.ว. จะมีอานิสงส์ไปถึงบรรดา ส.ส.เช่นกัน ไม่น่าเป็นประเด็นหรือน่ากังวลแต่อย่างใด
เพราะหากเกิดกรณีที่ใช้บรรทัดฐานที่ต่างกัน ทั้งที่รูป คดีเหมือนกัน ก็ต้องกลับมาทบทวนเรื่องความปรองดอง เพราะการกระทำเช่นนั้นจะดูเหมือนเป็นการล้างบาง
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
โฆษกวิป สนช.
คดีของอดีต 38 ส.ว.เป็นกรณีที่ป.ป.ช.กล่าวหาว่าลงชื่อในร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เพื่อจะได้สามารถลงเลือกตั้งได้อีก
ทาง ส.ว.ก็โต้ว่า เขาไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ หรือถ้าลงเลือกตั้งก็อยู่ที่ประชาชนเป็นคนเลือก ซึ่งจะได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนคดีของอดีต 250 ส.ส. ต้องแยกส่วนหนึ่งออกไปเป็นคดีอาญา ที่เหลือคือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญปลอม ไม่ได้เป็นร่างที่เขาเข้าชื่อเสนอ จึงเป็นการพิจารณา ในร่างที่ตัวเองไม่ได้เสนอ แต่ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร
ซึ่งต่างจาก ส.ว.ตรงนี้ หรือถ้าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนนอกจากเป็น ส.ส.แล้วต้องการไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กระบวนการพิจารณาคดีของอดีตส.ส. 250 คน ก็ใช้กรอบการทำงานเหมือนกับคดีของอดีตส.ว. 38 คน จะมีการกำหนดวันประชุมนัดแรก การแถลงเปิดสำนวนคดี การตั้งกรรมาธิการซักถาม แถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจาและโหวตลงมติ
ซึ่งสนช.ต้องคิดว่าจะโหวตกันอย่างไร เพราะมีจำนวนถึง 250 คน และตามข้อบังคับการประชุมแล้วต้องลงมติเป็นรายบุคคล
ส่วนจะสามารถถอดถอนทั้ง 250 คนได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องยาก เพราะขนาดคดีของ 38 ส.ว.ซึ่งโดน 2 ข้อหายังไม่โดนถอดถอนเลย แต่ของ 250 ส.ส. โดนเพียงข้อหาเดียวว่าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปลอม
ส่วนการมองว่า จะมีวาระซ่อนเร้นเพื่อนำไปสู่การตัดสิทธิ์การลงสมัครส.ส.นั้น คงไม่น่าจะเกี่ยวกัน
เมื่อดูจากคะแนนที่ถอดถอน 38 ส.ว.ที่ออกมาแล้ว เป็นเรื่องที่น่าหนักใจของป.ป.ช.