- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Tuesday, 17 March 2015 22:06
- Hits: 6611
'บิ๊กตู่'ขู่ทะเลาะกันไม่เลิก ล้มกระดาน รื้อรธน.ยกร่างใหม่ทั้งยวง
แนวหน้า : 'บิ๊กตู่'ขู่ทะเลาะกันไม่เลิก ล้มกระดาน รื้อรธน.ยกร่างใหม่ทั้งยวง ยังกั๊กประชามติหรือไม่ กกต.พร้อมรับเจ้าภาพ
สปช.นัดตรวจ 7 วันรวด
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า เดี๋ยวตนจะขอตัดสินใจเมื่อถึงเวลาใกล้ๆก่อน ซึ่งอำนาจการตัดสินใจสุดท้ายรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องของ คสช.แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการทำประชามติ
บิ๊กตู่ ชี้ประชามติทำหรือไม่ก็ได้“เพราะฉะนั้นทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้อยู่ที่ผมตัดสินใจพิจารณาร่วมกันว่า ควรหรือไม่ควร วันนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้นก็ทะเลาะกันจะเป็นจะตายอยู่แล้ว ทุกคนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทุกคนจะเอาแบบเดิมกันทั้งหมด ถามว่าแล้วเราจะปฏิรูปได้ไหม ต้องกลับไปถามคนที่ออกมาเรียกร้องว่า เขาต้องการอะไร หนึ่งเขาต้องการปฏิรูปใช่หรือไม่ เมื่อมีการปฏิรูปก็ย่อมมีอะไรที่ไม่เหมือนเดิมบ้าง มีกลไกที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นธรรม เข้าใจคำว่าเสียเวลาเปล่าไหม เราพูดกันเสมอ เสร็จแล้วพอทำไม่ได้ พอมีปัญหา ท่านก็บอกว่า ตัวผมไม่รู้จะเข้ามาทำไม เสียเปล่า ถ้าจะแก้ก็พยายามทำให้ พอแก้ไม่สำเร็จเพราะมีการต่อต้าน จนเจ้าหน้าที่ทำไม่ได้ก็มาโทษผมอีกว่า เสียเปล่า’พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
‘สุรพงษ์’เว้นวรรคขอให้จริง
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯมั่นใจใช่หรือไม่ว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะไม่เสียเปล่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมจะไม่ยอมให้เสียเปล่า”เมื่อถามว่า แต่มีบางกลุ่มนักการเมือง อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประกาศว่า หากกติกายังไม่ชัดเจนจะขอเว้นวรรคทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ดีสิ ก็ไปสิ ให้เว้นจริงๆก็แล้วกัน จะได้เลิกทะเลาะกันเสียที” เมื่อถามว่า จะเรียกมาปรับความเข้าใจอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่เรียก มันปรับไม่ได้แล้ว อายุเยอะแล้ว เขาก็คิดแบบเขา จะไปอะไรกันนักหนา แต่ตนก็ฟังไว้
วุ่นนักฉีกทิ้ง-ตั้งกมธ.ร่างใหม่
ต่อข้อข่าวถามว่า การจะตัดสินใจทำประชามติหรือไม่จะต้องประเมินจากอะไร หรือต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อน นายกฯกล่าวว่า ก็ต้องรอประเมินดูจากสถานการณ์ วันนี้การร่างยังไม่ไปไหนเลย ถ้าตกลงกันเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไรกัน สามารถทูลเกล้าฯได้ มันก็จบ โปรดเกล้าฯลงมาก็เลือกตั้ง แต่เมื่อเถียงกันมากๆ เดี๋ยวค่อยว่ากันว่า จะทำอย่างไรต่อ “มีอยู่สองอย่าง ไม่งั้นก็ต้องล้มกันทั้งหมด เริ่มใหม่ เอาไงก็ไปเลือกกันมา ถ้าล้มทั้งหมดก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนั้น ผมถึงเวลากลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ คิดถึงคำตอบที่จะมาตอบกับสื่อ”
แม้เสียเวลาเริ่มใหม่ก็ต้องยอม
เมื่อถามว่า ถ้าล้มทั้งหมดจะไม่เป็นการเสียเวลา หรือสูญเปล่าอย่างนั้นหรือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เสียเวลา เสียสมอง”เมื่อถามว่า ปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องล้มใหม่ทั้งหมด เป็นเพราะสถานการณ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ หมายความว่า กลุ่มการเมืองเขาจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้หรือไม่ ถ้าเขาไม่รับแล้วจะทำอย่างไร ถ้าเขาไม่รับก็ต้องไปหาทางทำกันมา จะมาถามตนทำไม ต้องไปถามคนที่ไม่รับ เมื่อถามว่า มีแผนสำรองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ถึงมีก็ไม่บอก ทำไมจะต้องบอกทุกเรื่อง
สปช.นัดตรวจร่างแรก7 วันรวด
วันเดียวกัน มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธาน โดยก่อนเข้าวาระการประชุม นายเทียนฉาย ได้แจ้งต่อที่ประชุมรับทราบคือ ในการประชุมหารือแม่น้ำ 5สาย เมื่อวันที่ 11มีนาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้แจ้งมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยขอความร่วมมือลดภาระงบประมาณในการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางบนเครื่องบินของข้าราชการระดับสูง ดังนั้น ขอให้สมาชิก สปช.ให้ความร่วมมือต่อมติ ครม.ดังกล่าว พร้อมแจ้งถึงวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดย สปช.จะได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก กมธ.ยกร่างฯวันที่ 17เมษายน จากนั้นต้องเร่งพิจารณาตั้งแต่วันที่ 20-26เมษายน รวม 7วัน โดยใช้เวลาพิจารณาเต็มวัน ฉะนั้นจึงแจ้งให้สมาชิก สปช.ได้เตรียมพร้อมเพื่อร่วมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว โดยขอให้ยุติภารกิจทั้งหมดและงดการประชุมกรรมาธิการ
แนะ’ปึ้ง’ส่งข้อคิดเห็นโดยตรง
นายเทียนฉาย ยังกล่าวถึงกรณี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ระบุว่า อาจตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองชั่วคราว หากที่สุดรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สว.มาจากการสรรหาและให้นายกฯมาจากคนนอก ว่า ยังเร็วไปที่พรรคการเมืองจะตัดสินใจบอยคอตเลือกตั้ง ทั้งที่ยังไม่เห็นร่างแรก ถ้ามีความเห็น ถกเถียงประเด็นใดส่งมาที่ตนก็ได้ อย่าไปพูดผ่านสื่อ เพราะสังคมสับสน อย่าว่าแต่ประชาชนสับสนเลย แม้แต่ตนก็สับสนและให้รอถึงวันที่หน้าตารัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ไม่สามารถแก้ไขใดๆได้แล้ว ค่อยมาวิจารณ์ด้วยหลักการและเหตุผลจะดีกว่า
‘วิษณุ’ชี้เห็นต่างเรื่องธรรมดา
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาณ์ถึงการประชุม 5ฝ่าย เมื่อวันที่ 11มีนาคมที่ผ่านมาว่า มีคำถามซึ่งรวบรวมแล้วประมาณ 17ข้อ ขณะนี้กมธ.ยกร่างฯกำลังรวบรวมคำตอบอยู่ ส่วนการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยนั้น ก็ไม่เป็นไร เสนอความคิดเห็นมาได้ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ามีหลายประเด็นที่ถกเถียงกัน แต่ก็เรื่องธรรมดาเพราะมีถึง 315มาตรา ตนยังแปลกใจว่า สังคมเรายังเหมือนทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา คือ ยังชุลมุนวุ่นวายติดอยู่กับประเด็นนายกรัฐมนตรีเป็นใคร มาจากไหน สส.เลือกตั้งโดยวิธีอะไร ซึ่งมันการเมืองภาคการเมือง ซึ่งก็ไม่เป็นไร ถ้าใครติดใจก็ซักถามขึ้นมาได้ แต่ความจริงในรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรจะตั้งคำถาม เช่น สิทธิและเสรีภาพ สมัชชาคุณธรรม หรือสมัชชาพลเรือน ประเด็นใหม่ๆ ยังมีอีกเยอะ แต่ดูแล้วประเด็นเหล่านี้ ไม่ค่อยจะวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนว่าไม่ได้อ่าน
ใกล้ตกผลึกทำประชามติหรือไม่
“คนที่จะมาเป็นรัฐบาล หรือคิดจะมาเป็นรัฐบาลขอให้ช่วยอ่านหน่อย พวกผมไม่ได้เป็นแล้ว อีกหน่อยก็ถอยออกไป เขาจะให้กลับมาใหม่หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่คนที่จะเข้ามารับภาระประเทศสมควรต้องอ่าน คิดให้ดีนะว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่ หรือเข้าใจหรือเปล่า ถ้ามีปัญหาก็บอก กมธ.ยกร่างฯในตอนนี้เลย ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาอีกว่า คนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง ถ้าอ่านไม่หมดเดี๋ยวจะมีปัญหาตามมาอีกว่า ไม่รู้ ไม่เห็นบอก ฉะนั้นควรอ่านให้หมด” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า ถ้ายังเห็นไม่ตรงกันมีแนวโน้มจะทำประชามติใช่หรือไม่ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง นายวิษณุ กล่าวว่า ก็รับทราบไว้ อย่างไรก็ดีใกล้เวลาที่จะรู้แล้วว่า จะต้องทำประชามติหรือไม่
กกต.หนุนทำเพราะเป็นเรื่องใหญ่
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า หากรัฐบาลจะให้ทำประชามติก็ต้องส่งเรื่องมายังกกต.และกำหนดวันทำประชามติ อย่างน้อยต้องมีเวลา 90วัน ส่วนงบประมาณก็เท่ากับการจัดการเลือกตั้งอาจอยู่ประมาณ 3,000ล้านบาทเศษ เมื่อถามว่า เห็นด้วยที่จะทำประชามติ นายสมชัย กล่าวว่าการทำประชามติ คือ การถามคำถามกับประชาชนในเรื่องเรื่องสำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ โดยหลักการเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่พอที่จะทำประชามติได้
กลุ่ม Thailand 58 ยื่นค้านรธน.
นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ ประธานกลุ่มเสรีชนThailand 58 เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ทบทวนกรณีให้คนนอกมาเป็นนายกฯและสว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยมี นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯเป็นผู้รับหนังสือซึ่งระบุว่า การเปิดโอกาสให้คนนอกที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนมาดำรงตำแหน่งนายกฯและสว.ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมนั้น ทางกลุ่มเล็งเห็นถึงผลเสีย เนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่ได้สัมผัสปัญหาต่างๆ
ด้าน นายคำนูณ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงร่างแรก ซึ่งต้องรับฟังความเห็นและคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก สปช.,ครม.และคสช.รวมถึงจะนำความคิดเห็นจากประชาชนมาประกอบการพิจารณาใน 60วันสุดท้ายของการร่างรัฐธรรมนูญ คือช่วงวันที่ 25 พฤษภาคม-23กรกฎาคม