หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูล คำสั่งสำนักงานเลขานุการวุฒิสภา แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ปฏิบัติงานประจำตัว ผู้ช่วยประจำตัว ผู้ช่วยดำเนินงาน ผู้ชำนาญงานประจำตัว ของบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000-25,000 บาท ให้กับ ครอบครัว ทั้ง ภรรยา บุตร หลาน พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา มาดำรงตำแหน่ง
โดยที่บางคนไม่ได้ตั้งตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพียงตำแหน่งเดียว แต่กลับมีการตั้งมากกว่า 1 คน 1 ตำแหน่ง เพราะตั้งเต็มอัตราศึก คือกวาดทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ชำนาญงาน สิริเงินเดือนรวมกันร่วมแสน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความเหมาะสมในการตั้งครอบครัวมารับเงินเดือน
แม้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ออกมาการันตีให้ว่า ตามระเบียบข้อบังคับ สนช.แล้วไม่ได้ห้ามในเรื่องนี้ เพราะหลักการกำหนดเพียงว่าแค่ต้องเป็นบุคคลที่้มีคุณวุฒิเหมาะสม และไม่เคยต้องคดีมาก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเป็นการปฏิบัติตามระเบียบเดิมของสภาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว
ขณะที่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สนช. มองว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลของ สนช. ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับของ สนช.นั้น ไม่มีข้อห้ามเรื่องการนำเครือญาติมาช่วยงานในตำแหน่งต่างๆ เพราะตามระเบียบกำหนดเพียงแค่หลักการโดยกว้างๆ เท่านั้น ซึ่งในแต่ละตำแหน่งก็มีการระบุว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร อาทิ อายุ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน
ทว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งหลายคนยังเป็นนักศึกษา จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า เมื่อยังเรียนไม่จบ แล้วใช้วุฒิการศึกษาใดในการเข้ารับตำแหน่ง และกรณีบุตรหลานบางคนศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ที่มีชื่อรับตำแหน่งนั้น เอาเวลาช่วงใดในการปฏิบัติหน้าที่
แน่นอนว่าไม่ว่าจะบรรดานักการเมืองทั้งหลาย หรือประชาชนทั่วไป ย่อมไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว แม้จะมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย หรือผิดข้อบังคับใด แต่ถูกมองในเรื่องของจริยธรรมมากกว่า
เพราะที่ผ่านมามีการกีดกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มีของ ส.ว. เพราะไม่ต้องการให้มีการแก้ไขข้อห้ามที่จะไม่ให้เครือญาติ พ่อ แม่ ลูก ภรรยา สามี ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. มาทำหน้าที่ ส.ว. โดยมีความเป็นกังวลว่าจะกลายเป็น "สภาผัวเมีย" ดั่งในอดีตที่ผ่านมา
จึงเป็นคำถามกลับไปว่าการตั้งครอบครัวเข้ามาเป็นคณะทำงาน เป็นที่ปรึกษาอย่างที่เป็นอยู่ จนกลายเป็น "สภาครอบครัว" เหมาะสมหรือไม่ แม้บรรดา สนช.ทั้งหลายจะบอกว่าการตั้งคนใกล้ชิด เพราะต้องการคนที่ไว้วางใจได้มาทำงานสำคัญ
ในช่วงที่มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. และมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในช่วงเดือนกันยายนปี 2556 ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว. ได้อภิปรายคัดค้านอย่างเต็มที่
ทั้ง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ที่ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติของ ส.ว.โดยตัดเงื่อนไขที่ห้ามพ่อแม่ ลูก ภรรยา สามี ของ ส.ส.ลงสมัคร ส.ว.ได้ ทำให้อาจเกิดประเด็นผลประโยชน์ที่เอื้อซึ่งกันและกัน โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ได้กำหนดห้ามเงื่อนไขดังกล่าวไว้ชัดเจนเพื่อป้องกันเรื่องสภาผัวเมีย
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายคัดค้าน โดยเน้นเรื่องของการเปิดช่องให้เกิด ?สภาผัวเมีย? หรือ ?สภาทาส? และเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานอย่างต่อเนื่อง
ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น อภิปรายว่า การแก้ไขมาตรา 5 โดยให้บุพการี คู่สมรส ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 5 ปี มาลงสมัคร ส.ว.ได้ ถือว่ามีเล่ห์เหลี่ยม มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ มีผลประโยชน์แอบแฝง และเชื่อว่าคณะกรรมาธิการมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ มีผลประโยชน์แอบแฝง เชื่อว่าไม่มี ส.ส.คนใดที่จะเปลี่ยนมาเป็น ส.ว. การที่คณะกรรมาธิการระบุเรื่อง ส.ส.ทิ้งเอาไว้ เพราะต้องการให้มีระบบการบริหารจัดการภายในจังหวัดว่าจะเอาคนใดลง ส.ว.หรือ ส.ส.ซึ่งหากเมื่อใดที่พรรคการเมืองสามารถเข้าไปครอบงำได้ทั้งสองสภา ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานรัฐบาลขององค์กรอิสระจะเสื่อมลงไปทันที
ผมรับไม่ได้กับเนื้อหาที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมาครอบงำรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำให้องค์กรอิสระถูกแทรกแซง ไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ พ่อ แม่ที่เป็น ส.ส.ย่อมมีอำนาจในการสั่งลูกที่เป็น ส.ว.อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการแก้กฎหมายเช่นนี้เป็นทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างชัดเจนที่ต้องการไม่ให้วุฒิสมาชิกเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง การเขียนกฎหมายแบบนี้เป็นความจงใจที่จะให้อิทธิพลทางการเมืองเข้าไปครอบงำวุฒิสภา ทั้งที่รัฐบาลอ้างมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากประชาชนและดีกว่าปี 2550 แต่ในความจริงแล้ว เป็นเพียงการหยิบยกแต่ประเด็นที่ตรงใจ ข้อใดที่ไม่ตรงใจ ไม่ได้ประโยชน์ ก็ไม่เอามา?
นายสุเทพ ยังได้กล่าวอีกว่า เชื่อว่าคณะกรรมาธิการจะทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ที่ระบุว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่เคยเห็นกรรมาธิการชุดไหนทำผิดคุณธรรมจริยธรรมเหมือนกรรมาธิการชุดนี้ ยางอายไม่มี เพราะทำกฎหมายพิเศษเพื่อให้สิทธิแก่พ่อ แม่ ลูก เมียตัวเอง สมควรถูกประณาม เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของจริง ยืนยันจะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง เป็นไงเป็นกัน และเป็นภารกิจที่คนไทยทุกคนต้องร่วมกันต่อต้าน เพราะสิ่งที่ทำเป็นเรื่องสิ้นคิด ตนไม่เห็นด้วยกับร่างกรรมาธิการ
อย่างไรก็ตาม การตั้งบุคลากรหลายสิบชีวิต เข้ามาทำหน้าที่ย่อมมีค่าใช้จ่าย โดยรวมขณะนี้สำนักเลขาฯวุฒิสภา มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ต้องจ่ายให้กับมือซ้าย มือขวาของ สนช. เริ่มมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และในบางตำแหน่งมีการตั้งในภายหลัง ไม่ได้จ่ายในคราวเดียวกันทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ที่มากกว่าเดือนละ 1.2 ล้านบาท ตามรายชื่อที่ปรากฏ
ดังนั้น แม้จะไม่มีข้อห้ามใดกำหนด แต่ก็ไม่ควรลืมความสมเหตุสมผลว่าการกวาดตั้งญาติมานั่งในทุกตำแหน่งนั้นควรไม่ควรอย่างไร และภารกิจของ สนช.เอง มีมากมายจนต้องใช้มือประสานมาช่วยหลายทิศจริงหรือ จึงไม่ควรทำให้สังคมมองว่า "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง"?!!