- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Friday, 20 February 2015 22:23
- Hits: 4915
สนช.รับร่างกฎหมายศาลทหาร ไม่เกี่ยวพลเรือนเว้นหมิ่น-มั่นคง
แนวหน้า : ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2558 มีนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญที่มี พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล เป็นประธานฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นั้น กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจออกข้อบังคับและระเบียบ เพื่อปฏิบัติการตามร่างพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้ระเบียบราชการของศาลทหารและอัยการทหารต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อมา กำหนดให้ตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่ม สำหรับตำแหน่งตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง กำหนดให้คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
กำหนดให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมาย เว้นแต่คดีที่จำเลยมียศทหารชั้นสัญญาบัตร กำหนดให้ศาลทหารสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษา บรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารกลาง และคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้นโดยตรงไปยังศาลทหารสูงสุด กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ได้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็น กำหนดให้ศาลทหารตั้งทนายให้แก่จำเลย และให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายที่ศาลตั้ง กำหนดให้การพิพากษาคดีของศาลทหารสอดคล้องกับมาตรา 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และแก้ไขการบังคับคดีในกรณีหญิงมีครรภ์ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต โดยกำหนดให้รอการประหารชีวิตไว้ก่อนจนกว่าจะพ้นกำหนดสามปีนับแต่คลอดบุตร แล้วให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการบังคับคดีในกรณีหญิงมีครรภ์ตามมาตรา 247 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ซึ่งทางสมาชิก สนช. ได้แสดงความเป็นห่วงในร่างแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนมาตรา 46 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลทหารมีอำนาจครอบคุมพลเรือนและสามารถฝากขังผู้ต้องหาได้ภายใน 84 วัน จึงอยากให้ทางคณะกรรมาธิการชี้แจงให้ชัดเจนด้วย ซึ่งทาง พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า ตามหลักการผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งคุมตัวได้ ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.นี้ จะเขียนให้มีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ไม่มีเรื่องพลเรือนทั่วไปมาขึ้นศาลทหารโดยเด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศให้คดีหมิ่นสถาบันฯ และคดีที่เป็นภัยความมั่นคง เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
หลังจากนั้น ทางสมาชิกได้ลงมติว่าจะรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่า ที่ประชุมฯ ได้ลงมติเห็นชอบให้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกาศเป็นกฎหมายต่อไป