- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Wednesday, 11 February 2015 10:25
- Hits: 4946
ไทม์ไลน์'องค์กรอิสระ'ยกเหตุผล'ค้าน'กมธ.ยกร่างฯ
มติชนออนไลน์ : |
เริ่มมีกระแสคัดค้านมติกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหล่าองค์กรอิสระทั้งหลายที่ถูกลดทอนอำนาจ วาระปี อายุงาน จำนวนกรรมการ หรือแม้แต่การควบรวม 2 หน่วยงาน อย่างเช่นรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน การลดทอนอำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้ง โดยให้กำเนิดคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ขึ้นมาทำหน้าที่แทน อีกทั้งยังให้อำนาจการแจกใบแดงเป็นหน้าที่ของศาล หรือแม้แต่การให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากราชการเมื่อเกษียณ อายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ทำให้หลายองค์กรอิสระเหล่านี้ออกมาคัดค้าน แต่ประธาน กมธ.ยกร่างฯอย่าง "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญยังสามารถปรับแก้ก่อนที่จะถูกนำเสนอสู่ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หากกางโรดแมปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดูอีกครั้ง กมธ.ยกร่างฯต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจาก สปช. แล้วเสนอต่อ สปช.เพื่อพิจารณาภายในวันที่ 17 เมษายน สปช.ต้องพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 26 เมษายน สมาชิก สปช.อาจยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ สปช.เสร็จสิ้นการพิจารณาภายในวันที่ 25 พฤษภาคม กมธ.ยกร่างฯต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมภายในวันที่ 23 กรกฎาคม และ สปช.ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก กมธ.ยกร่างฯภายในวันที่ 6 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งข้อสงสัยไม่น้อยว่าการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะทำได้จริงหรือไม่ หรือจะต้องปรับแก้ในช่วงใด และเสียงประชาชนที่ สปช.เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะถูกบรรจุอยู่ในส่วนใดของรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะสูญเปล่า หาก กมธ.ยกร่างฯไม่ได้นำไปพิจารณาด้วยเหตุผลที่ว่า "รัฐธรรมนูญ" ถูกยกรอไว้ก่อนแล้ว เกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ที่หลายฝ่ายไม่เห็นกับแนวทางของ กมธ.ยกร่างฯนั้น นายสุจิต บุญบงการ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า มีหลายเรื่องหลายประเด็นที่จะต้องเผชิญกับปัญหาที่หลายฝ่ายอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทาง กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาไป ทาง กมธ.ยกร่างฯคงต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนไปเรื่อยๆ เพื่อนำเหตุผลและแนวคิดที่เสนอมานั้น มาประกอบการพิจารณาในรายละเอียดของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อไป จริงๆ แล้ว แม้ทาง กมธ.ยกร่างฯจะได้พิจารณาเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราผ่านไปแล้วนั้น แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนยังคงเดินหน้าต่อไปไม่ได้ และเข้าใจว่าความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ คงจะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เราจะต้องนำเหตุผลมาพิจารณาด้วยความรอบคอบ "ส่วนหลักการใหญ่ๆ ยังคงต้องมีอยู่ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ขึ้นเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนนั้น หลักใหญ่คือ ยังคงให้สองหน่วยงานนี้คงอยู่ต่อไป ไม่ได้หายไป เพียงแต่การให้มาควบรวมเป็นหน่วยงานเดียวกันนั้น เพื่อจะได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะไปยุบหน่วยงานใดหรือเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานใด เพียงแต่แค่ต้องการให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานประสานกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและช่วยประหยัดงบประมาณด้วย" นายสุจิตให้เหตุผล สำหรับ ประเด็นการกำหนดให้ตุลาการศาลปกครองต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งเมื่ออายุ 65 ปี หรือการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายสุจิตระบุว่า ขอไม่ตอบแทน กมธ.ยกร่างฯคนอื่นๆ เพราะมองว่าหากมีการคัดค้านหรือมีการเสนอประเด็นและความคิดมานั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯคงต้องนำทุกความเห็นมาพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวรู้สึกพอใจการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ เนื่องจากเราถูกกำหนดระยะเวลาไว้ว่าจะต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาภายในวันที่ 17 เมษายน ดังนั้น เหลือระยะเวลาอีกประมาณแค่ 2 เดือนเศษเท่านั้น ยังมีอีกหลายส่วนที่จะต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ ขณะที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานที่ปรึกษา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่า ยืนยันว่าร่างบทบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯไปแล้วนั้น ยังสามารถนำกลับมาทบทวน แก้ไขและปรับปรุงได้ ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่สมบูรณ์หรือเด็ดขาดแต่อย่างใด หากประเด็นใดหรือมาตราใดมีเสียงคัดค้านหรือมีข้อเสนอแนะเข้ามา กมธ.ยกร่างฯต้องนำความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาด้วยความรอบคอบ และถ้าหากความเห็นที่เสนอเข้ามานั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯวิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนักเพียงพอ ก็อาจจะต้องมีการปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับความเห็นที่เสนอมาได้ ยกตัวอย่างประเด็นการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเห็นหลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากข้อเสนอมีน้ำหนักมากพออาจจะไม่ควบรวมก็ได้ เช่นเดียวกับประเด็นการให้ตุลาการศาลปกครองต้องพ้นออกจากตำแหน่งเมื่ออายุ 65 ปี ซึ่งมีเสียงคัดค้านมาก ถ้าหากเราได้ฟังเหตุผลอาจกลับไปเหมือนแบบเดิมที่ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 70 ปีก็ได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าทุกเรื่องทุกประเด็นยังไม่ได้เป็นที่ยุติ ทุกอย่างยังสามารถแก้ไขและทบทวนใหม่ได้ |
ปฏิรูปศึกษาให้สำเร็จ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 บทนำมติชน
การปฏิรูปประเทศซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.รับดำเนินการนั้นมี 11 ด้าน และเมื่อตั้งเป็นคณะกรรมาธิการแล้วได้ขยายการปฏิรูปออกไปเป็น 18 ด้าน โดยแต่ละด้านต้องมีความคืบหน้าและมีผลสรุปในวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวคราวการปฏิรูปทางการเมือง และด้านกระบวนการยุติธรรมออกมา ขณะที่การปฏิรูปด้านการศึกษานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นข้อเสนอจากสังคมภายนอก ยังไม่มีรูปแบบตุ๊กตาออกมาให้ได้ขบคิดและร่วมแสดงความคิดเห็นกันมากนัก
กระทั่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รศ.ณรงค์ วรงค์เกรียงไกร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าว่า สปช.ซึ่งทำหน้าที่เสนอความเห็นเรื่องปฏิรูปการศึกษามีความเห็นหลากหลาย ในความเห็นเหล่านั้นมีความเห็นให้กระจายอำนาจทางการศึกษา เพราะเมื่อทุกอย่างไปรวมอยู่ส่วนกลาง แต่ส่วนกลางไม่เคยไปดูการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งที่ผ่านมามีกฎหมายเขียนไว้เพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ไม่ทำ สปช.จึงเสนอให้มีคณะกรรมการเหมือนซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา พิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ เช่น ปลัด อธิบดี หรือข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการระดับ 10 ขึ้นไป แล้วให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอนุมัติ
นอกจากนี้ รศ.ณรงค์ยังฉายภาพการปฏิรูปการศึกษาออกมาอีกหลายอย่าง ซึ่งคงต้องรอให้รวบรวมก่อนจึงจะเห็น ซึ่งการปฏิรูปที่นำเสนอย่อมส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทย ทั้งครูในฐานะผู้สอน นักเรียนในฐานะผู้เรียน รัฐบาลในฐานะผู้ให้การสนับสนุนรายใหญ่ทางการศึกษา และเป็นผู้กำหนดนโยบายภาพรวมการศึกษาของประเทศด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ปกครอง ชุมชน และอื่นๆ ซึ่งมีส่วนร่วมทางการศึกษาทั้งสิ้น
เมื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ควรนำไปทำการประชาสัมพันธ์แนวคิด และติดตามด้วยการดึงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษาเข้ามาเสริม เพื่อร่วมกันมองว่าการศึกษาไทยตามแผนที่ สปช.เสนอ จะทำให้การศึกษาของประเทศพัฒนาขึ้นอย่างไร การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงมีผู้หวังว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง หวังว่าจะได้เห็นการปฏิรูปครู ปฏิรูปนักเรียน ปฏิรูปอุปกรณ์และวัสดุสนับสนุนการเรียนการสอน และปฏิรูปสถานที่เรียน เกิดขึ้นทั้งระบบ มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าหลังปฏิรูปเด็กและเยาวชนไทยจะกลายเป็นอะไร ด้วยวิธีไหน และมีอนาคตสดใสได้อย่างไร