มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - ข้อเสนอของนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติ แผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครอง รวมทั้งสาระสำคัญบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับศาลแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญระบุเป็นหลักการเหมือนกับศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง ตามข้อเสนอ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะที่นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ความเห็นถึงการตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง
ศาลแผนกคดีวินัยการคลังฯ
โดยสาระสำคัญบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับศาลแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ในศาลปกครองมาตรา (3/1/4) 3 ระบุว่า "ให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด องค์คณะ อำนาจหน้าที่ และวิธีพิจารณาของศาลแผกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง"
หมวด 5 การคลังและการงบประมาณ
มาตรา (2/5/-) 1 ว่าด้วยการดำเนินนโยบายการคลังและงบประมาณของและงบประมาณของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล หลักประสิทธิภาพและความคุ้มค่า หลักการรักษาวินัยทางการคลัง และหลักความเป็นธรรมในสังคม
มาตรา มาตรา (2/5/-) 2 เงินแผ่นดินหมายความรวมถึง
(1) เงินรายได้แผ่นดิน เงินกู้ เงินคงคลัง และเงินรายได้จากทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์อื่นที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม
(2) เงินรายได้จากการดำเนินงานหรือจากทรัพย์สิน และสิทธิประโยชน์อื่นที่หน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองและใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
การกำหนดให้เงินรายได้ใดไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและการตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินตาม (2) ต้องมีขอบเขตและกรอบวงเงินเท่าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาวินัยการเงินและการคลัง และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ
มาตรา (2/5/-) 3 งบประมาณของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้พระราชบัญญัติงบประมาณในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพรางก่อน
มาตรา (2/5/-) 4 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องวิเคราะห์และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา (2/5/-) 5 การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโอนงบประมาณ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐเว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณของรัฐ
มาตรา (2/5/-) 6 เงินรายได้ของหน่วยงานของรัฐใดที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องนำมาส่งเป็น
รายได้แผ่นดิน เงินนอกงบประมาณ และเงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐนั้นมีอยู่ ให้หน่วยงานรัฐนั้นทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี และให้คณะรัฐมนตรีรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบ
มาตรา (2/5/-) 7 ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันวิญญูชนพึงเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ และให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนั้น
บรรเจิด สิงคะเนติ
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ตามมาตรา 253 ของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มีคณะกรรมการวินัยทางการเงินและการคลังอยู่ในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยคณะกรรมการเป็นอิสระทําหน้าที่วินิจฉัยการดําเนินการที่เกี่ยวกับวินัยทางการเงิน การคลัง และการงบประมาณ เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยอย่างไรก็ให้อุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้พิจารณา
เมื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงได้พัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้นด้วยการกำหนดให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศาลดังกล่าวขึ้นมานั้น สอดคล้องและสัมพันธ์กับหมวดการคลังและการงบประมาณ เนื่องได้วางหลักการไว้หลายเรื่อง อาทิ เงินแผ่นดิน การจัดทำงบประมาณ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้หากบุคคลใดทำผิดต่องบวินัยการคลังและก่อให้เกิดความเสียหายก็จะถูกฟ้องร้องไปยังศาลปกครอง
ซึ่งองค์กรที่จะทำหน้าที่ฟ้องร้องได้ก็อาจจะเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ป.ป.ช. ที่เมื่อไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีข้อมูลที่ผิดงบวินัยการคลัง เป็นมาตรการที่ใช้คุมการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินว่าเป็นไปตามวินัยการคลังและการงบประมาณหรือไม่
ซึ่งโทษของกรณีนี้จะมีทั้งแบบปรับทางปกครอง และถ้าหากก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐก็อาจถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย
ทั้งนี้ มาตรการนี้เท่ากับว่าเป็นการช่วยดำเนินการและดูแลเงินแผ่นดินให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น
เรื่องของการทุจริต ฐานเดิมในแง่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิจารณานักการเมืองที่ทุจริตก็มีโดยตรงอยู่แล้ว แต่การกำหนดแบบนี้เป็นการปิดช่องว่างของปัญหางบประมาณแผ่นดินทั้งหลายที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะบางเรื่องที่ผิดหลักการอาญาต้องปราศจากข้อสงสัย ซึ่งมีข้อจำกัดในแง่ของการตรวจสอบ
ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ
ประธาน ป.ป.ช.
กรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แนะให้ตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อนำคดีทุจริตคอร์รัปชั่นไปพิจารณาให้รวดเร็วยิ่งขึ้นนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันก็มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว ส่วนคดีทุจริตประพฤติมิชอบน่าจะมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็นศาลเดี่ยวพิจารณาคดีทุจริตโดยตรง จะได้ทำคดีได้รวดเร็วขึ้น
ขณะนี้หากข้าราชการทั่วไปกระทำผิดอาญาต้องถูกนำสำนวนคดีส่งศาลตามขั้นตอน ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ซึ่งปกติก็มีคดีอื่นๆ ให้พิจารณาอยู่แล้วจำนวนมาก หากมีศาลที่พิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นมาเป็นการเฉพาะก็จะดี ช่วยลดขั้นตอนพิจารณาคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะจะเป็นศาลในลักษณะชำนาญการพิเศษ เหมือนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่ปัจจุบัน และยังสอดรับกับที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแนะให้มีศาลแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณขึ้นมาด้วย
ที่สำคัญคือกระบวนการ ขั้นตอนพิจารณาคดีก่อนถึงศาล จะต้องพิจารณาให้รวดเร็ว อย่าง ป.ป.ช. ก็ต้องทำงานเร็ว รับเฉพาะคดีใหญ่ๆ มีความเสียหายต่องบประมาณจำนวนมากๆ จะทำให้การปราบปรามทำได้รวดเร็ว คนมีความเกรงกลัว ไม่กล้าทุจริต
ส่วนคดีเล็ก มีความเสียหายน้อยลงมา ก็ส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม ได้แบ่งเบาไปดำเนินการ แต่ขั้นตอนการทำงานของ ป.ป.ช.จะต้องได้รับการปรับปรุงให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น