มติชนออนไลน์ :
เป็นอีกประเด็นที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับ "การปฏิรูปประเทศ" หนนี้
นั่นคือ การยกเครื่อง "โครงสร้างปฏิรูปองค์กรตำรวจ" ที่พยายามทำกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายยุคหลายสมัย
ล่าสุดคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ได้จัดโครงการสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นประเด็น "การปฏิรูปตำรวจ"
ผ่านไอเดียของ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานสภาบันปฏิรูปประเทศไทย และสมาชิก สปช. นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1)
"สังศิต" เปิดประเด็นว่า การปฏิรูปตำรวจจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง
เพราะตำรวจมักเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่มากที่สุดในหน่วยงานราชการ ล่าสุดคือ กรณีของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ในฐานความผิดซื้อขายตำแหน่งมูลค่า 3-5 ล้านบาท นาน 5 ปี แต่จำเลยรับสภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปีครึ่ง ซึ่งใช้โทษจริงก็ไม่ถึงอยู่ดี ฐานความผิดทุจริตกับบทลงโทษยังไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังต้องปฏิรูปตำรวจให้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองอีกด้วย
ขณะที่ "วันชัย สอนศิริ" สมาชิก สปช.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มองว่า การปฏิรูปประเทศมี 45 ด้าน
การปฏิรูปตำรวจมีความสำคัญเป็นลำดับที่ 3 รองจากเรื่องการเมืองและการปราบปรามการทุจริต โดย กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมองว่า การปฏิรูปตำรวจจะต้องเชื่อมโยงกับ กมธ.อีก 4 ด้าน ได้แก่
กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น กมธ.ปฏิรูปการทุจริตฯ และกมธ.ปฏิรูปด้านสังคม และที่ผ่านมาก็ได้ทำข้อเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว
ต้องยอมรับว่าตำรวจส่วนใหญ่ดี มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่ดีแต่มีอำนาจ ทาง กมธ.ฯ จึง ได้มีแนวทางเบื้องต้น 5 ข้อ สำหรับการปฏิรูปตำรวจ
1.ตำรวจขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ แต่งตั้งโยกย้าย ขาดระบบจริยธรรม การวิ่งเต้นโยกย้ายใช้เงินเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราควรปฏิรูปให้องค์กรตำรวจมีความอิสระให้ห่างจากการเมือง
2.ต้องมีการกระจายอำนาจตำรวจเป็น ตำรวจส่วนกลาง ตำรวจส่วนภูมิภาค หรือ ตำรวจส่วนท้องถิ่น โดยให้มีหน่วยงานควบคุมตามกฎหมายบัญญัติ
3.เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยให้มีหน้าที่กำกับดูแลการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามามีส่วนร่วม
4.จัดโครงสร้างตำรวจปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้มีขนาดกะทัดรัด ยกเลิกบางหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจปรับอำนาจการปราบปราม สืบสวนสอบสวนให้เป็นของหน่วยงานอื่นตามความเหมาะสม
5.สภากิจการตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลการทำงานของตำรวจโดยมีกรรมการที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านความมั่นคง ด้านยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารงานมากขึ้น นี่คือ สิ่งที่กรรมาธิการปฏิรูปต้องการเสนอและดำเนินการให้สำเร็จ
ส่วนอดีตนายตำรวจ "พล.ต.อ.วสิษฐ" กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปตรวจว่า อยู่ที่ตัวตำรวจเอง เพราะที่ผ่านมามีความพยายามปฏิรูปตำรวจมาแล้วหลายหน โดยเฉพาะในสมัยของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีการต่อต้านจากฝ่ายการเมือง และนายตำรวจอาวุโส
ประเด็นของการต่อต้านมีอยู่ประเด็นเดียวเท่านั้น คือความพยายามสงวนอำนาจให้อยู่ในมือของตำรวจ และฝ่ายการเมืองไว้ที่ศูนย์กลางอำนาจเท่านั้น
สำหรับข้อเสนอในการปฏิรูปตำรวจของคณะ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.นั้น "พล.ต.อ.วสิษฐ" เห็นด้วยว่า การให้อิสระกับตำรวจในการแต่งตั้งโยกย้าย
เพราะหากเราแก้ไขเรื่องการโยกย้ายให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ปราศจากการแทรงแซงจะเป็นประโยชน์แก่องค์กรตำรวจเองและประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ถ้าการปฏิรูปตำรวจทำไม่ได้ในคราวนี้ก็จะต้องรอไปอีกนาน ซึ่งความพยายามของคณะ กมธ.ที่จะปฏิรูปตำรวจจะต้องเจอการต่อต้านอย่างแน่นอน แต่จะมาในรูปแบบไหนต้องติดตามและเตรียมรับมือไว้ให้ดี
ส่วนประเด็นการกระจายอำนาจการบริหารราชการตำรวจนั้น "พล.ต.อ.วสิษฐ" มองว่า มีความจำเป็นอีกเช่นกัน เพราะที่ผ่านมามีการกระจุกอำนาจมาอย่างยาวนาน และทำความเสียหาย ขณะเดียวกัน เมื่อมีกระจายอำนาจแล้วก็ต้องเน้นเรื่องกระจายงบประมาณลงไปด้วย
"ผมคิดว่าการตรวจสอบการทุจริตของตำรวจเวลาเกิดเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่ผ่านมา ตำรวจจะเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนด้วยกันเอง จึงทำให้เกิดการลูบหน้าปะจมูก มีการวิ่งเต้น และช่วยเหลือกัน จึงมักจะจบลงด้วยการลงโทษเบาๆ ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีนายตำรวจที่เคยมีความผิดยังได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ ซึ่งในต่างประเทศมีคณะกรรมการอิสระที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่ตำรวจเป็นผู้ถูกกล่าวหา การปฏิรูปคราวนี้ผมหวังว่าเราทำระบบตรวจสอบดังกล่าวให้สำเร็จ" พล.ต.อ.วสิษฐ ฝากข้อเสนอ
ปิดท้ายที่ "บิ๊กนวย" "พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน" ผบช.ภาค 1 ในฐานะตัวแทน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เสนอความเห็นว่า อยากให้การแสดงความเห็นต่อการปฏิรูปครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เพราะรัฐบาลนี้ทำไม่สำเร็จก็คงไม่มีโอกาสได้ทำอีก
ที่ผ่านมามักวิจารณ์ตำรวจกันว่า เป็นสุนัขรับใช้นักการเมือง แต่ไม่เคยถามตำรวจเลยว่าอยากรับใช้หรือไม่ หรือมันมีสถานการณ์อะไรมาบีบบังคับ
ซึ่งมองเห็นว่าการแก้ไขไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงองค์กรตำรวจได้ง่ายนิดเดียวคือ การปรับโครงสร้างไม่ให้มีตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง กตช.ที่มีหน้าที่เสนอและแต่งตั้ง ผบ.ตร. และ ก.ตร. ที่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งนายพลตำรวจ เพราะมันเป็นช่องทางที่ทำให้มีการวิ่งเต้นได้
"คณะทำงานของตำรวจที่รับผิดชอบในการแก้ไขกฎหมายเพื่อการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ได้มีการแก้กฎหมายให้ นายกรัฐมนตรี ออกจากโครงสร้าง กตช.และ ก.ตร.มานานแล้ว แต่ก็ไม่รู้จะไปนำเสนอต่อสภาไหน เพราะเป็นการริบอำนาจฝ่ายการเมือง เพราะทาง ผบ.ตร.เองก็พร้อมจะให้ตำรวจออกจากการกำกับของฝ่ายการเมือง ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจของ สปช.สามารถร่วมมือทำงานกับทาง สตช.ได้" พล.ต.ท.อำนวยกล่าวทิ้งท้าย
ส่วนการยกเครื่อง ปรับโฉม องค์กรตำรวจในยุค "คสช." จะสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม หรือจะยังเป็นข้อเสนอที่ล่องลอยไปในอากาศเหมือนเดิมๆ นับว่าท้าทายการตัดสินใจของ คสช.อย่างยิ่ง