มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
หมายเหตุ - พล.ท.นคร สุขประเสริฐ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จังหวัดร้อยเอ็ด ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญตามโรดแมปและการกำหนดทิศทางในการยกร่างฯรายมาตรา
การทำงานของกมธ.ยกร่างฯถึงขณะนี้เป็นอย่างไร
รูปแบบการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ คือ การทำงานต้องมีการแสดงความคิดเห็น ขณะนี้การทำงานเป็นไปตามกรอบภายในระยะเวลาที่เรากำหนด คือในเดือนเมษายนจะเสร็จสิ้น เพื่อนำไปสู่การพิจารณาร่วมกันกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คาดว่าจะทันตามกำหนดโรดแมปและระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญ เราได้ออกไปฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างจังหวัด พื้นที่ส่วนภูมิภาค หลังจากนี้ในพื้นที่ทุกจังหวัดจะมีการจัดเวทีในแต่ละจังหวัด อย่างน้อย 11 เวที เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ความเห็นจาก สปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และพรรคการเมืองที่เสนอมา เราจะนำประเด็นมาสรุปว่าอะไรที่มีความสอดคล้องกัน และเป็นการปฏิรูปที่ดีที่เป็นที่ต้องการของประชาชาชน เราจะนำมาประกอบการพิจารณาในรายมาตราต่างๆ
หลายประเด็นที่กมธ.ยกร่างฯพิจารณาออกมามีเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างกรณีลดอำนาจคณะกรรมการการลือกตั้ง (กกต.)
จริงๆ แล้วตามหลักการที่ถูกต้อง การปฏิบัติงานจะต้องแยกกันระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ที่ควบคุม ที่ผ่านมาเรายังให้ความสำคัญกับหน่วยงานมาก อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เราก็ให้เขามีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและกำกับตรวจสอบหน่วยงาน ที่เราตั้งขึ้นมาใหม่จะเรียกว่า คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง หรือ กจต. ทั้งที่แต่ก่อน กกต.มีหน้าที่จัดเลือกตั้ง กำกับ ให้โทษ ซึ่งขัดกับหลักโดยทั่วไปที่ให้อำนาจ กกต.ฝ่ายเดียว ทำทั้งจัดการเลือกตั้งและการพิจารณาให้โทษ และพอเรามาดูแล้วเห็นว่า เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลจึงให้มีหน่วยหนึ่งคือ กจต.ที่เข้ามาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และให้อำนาจ กกต.ควบคุมการเลือกตั้งและดูแลเรื่องงบประมาณ โดยให้มีอำนาจมากขึ้น แต่ในเรื่องของหน่วยปฏิบัติเรายังไม่ได้สรุปชี้ชัด อาจให้มีหน่วยราชการที่ไปร่วมกันจัดจากหลายกระทรวง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กกต.ก็จัดการเลือกตั้งโดยใช้บุคลากรจากกระทรวงอื่นๆ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นเหล่านี้อยู่แล้ว ตอนนี้เปรียบเสมือน กกต.เป็นครู มีไม้เรียว ใครไม่ฟัง สามารถไปเสนอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อเรียกร้องว่าเกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดเลือกตั้งขึ้น กกต.สามารถเสนอเรื่องขึ้นมาพิจารณาในแต่ละระดับ เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เกิดความถ่วงดุลกัน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลดอำนาจ กกต.แต่ให้อำนาจมากขึ้น
ข้อเสนอให้มี'กจต.'มีเสียงสะท้อนว่ากมธ.ยกร่างฯเดินถอยหลัง
เราทำอะไรที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอยู่แล้ว ที่ผ่านมา กกต.ทำหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยรวมแต่อย่างใด ค่อนข้างเรียบร้อย แต่ถ้ามองว่าสิ่งที่ กมธ.ยกร่างฯทำนั้นกำลังเข้าสู่ยุคเดิม คือการมอบอำนาจให้ข้าราชการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ที่ผ่านมาข้าราชการเขาก็เป็นฝ่ายทำ ในอดีตเคยให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง ก่อนมี กกต.
ทั้งนี้ หากมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีข้าราชการถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง กกต.ต้องเข้าไปดูว่าฝ่ายที่คุณพบว่าทุจริตเขาเอนเอียงไปทางพรรคการเมืองไหน ก็ให้โยกย้ายออกมาเลย ส่วนการให้ใบแดงก็ให้เป็นอำนาจของศาล เพราะเราอยากให้โอกาสกับผู้ที่ถูกร้องเรียนในการตรวจสอบและสอบสวนให้ได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราอาจยังไม่มีการสื่อสารกันที่ตรงประเด็นชัดเจน เรายังไม่ได้มีการชี้แจงอะไรกับ กกต.เป็นการส่วนตัว คงต้องมีการพูดคุยกันในส่วนไหนที่ไม่เข้าใจ อาจมีการชี้แจงว่าอะไรที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศบ้างในเรื่องของการเลือกตั้ง
การพิจารณาเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีกรอบอย่างไร ส่วนตัวคิดเห็นอย่างไรกับการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
ภาพรวมเราจะมีการพูดคุยกัน บางอย่างยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เรื่องการถอดถอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่ส่วนตัวมองว่าการลงโทษย้อนหลังนั้น เท่าที่ผมฟังดูจะไม่มีผลย้อนหลัง ส่วนการกำหนดโทษตัดสิทธิตลอดชีวิต ผมคิดว่าคงไปไม่ถึงตรงนั้น แต่ถ้าเป็นกรณีทุจริต คดีซื้อเสียง เราต้องมีมาตรการในการห้ามเข้าสู่ทางการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น ไม่เช่นนั้นเราจะขจัดระบบทุจริตนี้ออกไปจากประเทศไม่ได้
หมวดการปรองดองในรัฐธรรมนูญดำเนินการอย่างไร
เราตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปรองดอง ชุดที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯได้ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว การปรองดองผมว่ามันมีหลายมิติ ถ้ามองมิติทางการเมืองเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมองหลายมิติ เพราะฉะนั้นเราจึงมีภาคการปฏิรูป ในหมวดปรองดอง ถือว่าเป็นของใหม่ที่เราจะเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ความปรองดองไม่ได้อยู่ที่แนวคิดอย่างเดียว แนวคิดที่ขัดแย้งกัน การไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่เรื่องต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับการปรับปรุง รวมถึงปัญหาที่เป็นรากเหง้าพื้นฐาน เรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทางด้านกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญคือเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่า "สองมาตรฐาน" เรื่องนี้จะต้องทำอย่างไรให้ได้รับการยอมรับ ฉะนั้น เมื่อเราจะมาสู่จุดนี้เราจะมองกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย
ภาคปฏิรูปที่เพิ่มเข้ามาจะมีการบัญญัติอย่างไร มาตราของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเพิ่มขึ้นเกิน 250 มาตราหรือไม่
เราพยายามจะร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ถึง 250 มาตรา แต่ต้องยอมรับว่าการที่เรามีภาคปฏิรูปเข้ามาอีกภาคหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้นจะมีมาตราที่เกี่ยวกับภาคปฏิรูปเพิ่มออกมา อาจจะต้องมาดูว่าจะออกมากี่มาตรา การมีภาคปฏิรูปนั้นเป็นการวางอนาคตไปข้างหน้าด้วย ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญเฉยๆ โดยไม่เอาเรื่องปฏิรูปขึ้นมา มันก็ไม่มีเครื่องช่วยยืนยันว่า ในอนาคตสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ของ สปช. ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่าอะไรที่จะนำไปสู่การถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในหมวดว่าด้วยการปฏิรูปและปรองดอง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเราจมปลักกับปัญหาตรงนี้มา 9-10 ปีแล้ว การปรองดองจึงต้องลงรายละเอียด จึงต้องมีหมวดปฏิรูปขึ้นมาเพื่อปฏิรูปทุกเรื่อง
มองอย่างไรที่ข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯเสียงส่วนน้อยมักถูกตีตกจาก กมธ.ยกร่างฯเสียงข้างมาก
ผมถือว่าบรรยากาศของ กมธ.ยกร่างฯชุดนี้ เป็น กมธ.ที่มีส่วนผสมที่กลมกล่อมมากกว่าชุดอื่นๆ เพราะที่ผ่านมามีทั้งภาพของนักวิชาการและนักกฎหมายเป็นหลัก แต่ กมธ.ยกร่างฯชุดนี้มีหลายภาคส่วน อย่างผมเองก็มาจาก สปช.จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้แทนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเรายังมีผู้แทนภาคเหนือ ภาคใต้ จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลาย ซึ่งคนนอกอาจมองว่ารัฐธรรมนูญมันมีธงอยู่แล้ว ผมยืนยันว่าไม่มีธง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมแต่ละครั้ง กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คน อาจมีเสียงออกมาไม่เหมือนกัน ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาในเรื่องของความคิดเห็น แต่ว่าเรานั่งหารือกัน เราจะรู้ทิศทางเองว่าเสียงส่วนใหญ่ต้องการแบบนี้ ถ้าเราเป็นเสียงส่วนน้อย เราต้องรู้และยอมรับ แต่ที่ประชุมเขาก็จะมีการบันทึกเอาไว้ว่าเราเสียงส่วนน้อยต้องการแบบนี้ เมื่อเรารู้ว่าเสียงส่วนใหญ่ต้องการแบบนี้เราก็ยอมรับ ก็ถอนเรื่อง หรือยุติข้อเสนอไป เพราะการทำงานต้องมีกรอบในเบื้องต้นอยู่แล้ว เราจะมีข้อสรุปในเบื้องต้นของ กมธ.ยกร่างฯว่าจะไปในทิศทางนี้โดยผ่านการพูดคุยกันมาแล้ว ทุกคนใน กมธ.ยกร่างฯมีสิทธิเท่ากัน ส่วนผู้เป็นประธานก็ต้องควบคุมการประชุม ไม่เช่นนั้นก็จะยืดเยื้อไปจนไม่มีการคืบหน้า
คาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร
เราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กมธ.ยกร่างฯพยายามทำอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เราไม่ได้เอาความคิดเห็นของประชาชนในเวทีต่างๆ มาเป็นเพียงพิธีกรรม อย่างที่หลายๆ คนพูด แต่เราสะท้อนขึ้นมาทุกอย่างเป็นหมวดหมู่ เราจะมาดูว่าเรื่องนี้เหมาะที่จะอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความยืนยาว คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน และเป็นรัฐธรรมนูญที่ตอบสนองความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและประเทศชาติ