- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Saturday, 10 January 2015 08:16
- Hits: 4583
วันที่ 09 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 14:23 น. ข่าวสดออนไลน์
สรุปประเด็นยิ่งลักษณ์ แถลงคัดค้านข้อหาทุจริตจำนำข้าว(มีคลิป)
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปแถลงยังห้องประชุมรัฐสภา เปิดคดีคัดค้านข้อกล่าวหาในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกระบวนการถอดถอน ด้วยท่าทีสงบ สีหน้านิ่งเรียบ ไม่แสดงความกังวลกับการชี้แจงดังกล่าว
ทั้งนี้ ในเอกสารคำแถลงความหนา 139 หน้า มีเนื้อหาสรุปประเด็นสำคัญดังนี้
1.ความเป็นมาของนโยบาย
โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่การดำเนินการในหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.เปรมติณสูลานนท์ในปี 2524 เรื่อยมา ว่างเว้นก็แต่ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปี 2552 ถึงต้นปี 2554 ที่ใช้แนวทางการประกันรายได้เกษตรกร
การอุดหนุนสินค้าเกษตรนั้น ทุกรัฐบาล ทุกประเทศอื่นๆ ในโลกต่างมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ต่างจากโครงการรับจำนำข้าว ที่ไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาด แต่สร้างความเป็นธรรม ในตลาดเสรี ให้รายได้และกำไรอยู่ตกอยู่ในมือชาวนาเพิ่มมากขึ้น
โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการช่วยเหลือชาวนา ถือว่าเป็นการลงทุนของประเทศชาติ จึงไม่ควรจะคิดกำไร-ขาดทุนจากโครงการที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นกระดูกสันหลังของชาติ
2.ไขข้อข้องใจต่อโครงการรับจำนำข้าว
2.1 ทำไมกำหนดราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท และรับจำนำทุกเม็ด
กำหนดราคาจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท เพื่อแก้ปัญหาและข้อบกพร่องโครงการรับจำนำข้าวในอดีตที่ต่ำกว่าตลาด และแค่ร้อยละ 10 ของการผลิตข้าวในประเทศ เพื่อให้มีแรงผลักดันให้ข้าวเปลือกราคาสูง ทำให้ชาวนามีรายได้ที่เหมาะสม คุ้มค่าต่อการลงทุน
โดยวางระดับรายได้ชาวนาใกล้เคียงกับรายได้ของผู้ใช้แรงงานคือมีรายได้ประมาณ240บาทต่อคนต่อวันใกล้เคียงกับแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน
การรับจำนำข้าวทุกเม็ดเมื่อรวมกับการกำหนดราคาที่ตันละ 15,000 บาท จะทำให้ราคาข้าวเปลือกอยู่ในระดับที่สูงตามไปด้วย ชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็จะได้รับผลประโยชน์เช่นกัน
แม้รับจำนำทุกเม็ดแต่ข้าวทั้งปีการผลิต38ล้านตันฤดูกาลผลิต2555/56 มีข้าวที่เข้าร่วมโครงการเพียง 22 ล้านตัน หรือ 58% คงเหลือข้าวอยู่นอกโครงการ 16 ล้านตัน
2.2 จริงหรือที่โครงการรับจำนำข้าวบิดเบือนกลไกตลาด?
โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาดแต่ช่วยให้การกำหนดราคาข้าวเหมาะสมขึ้นประโยชน์ตกอยู่กับชาวนาโดยรัฐบาลรับเอาความเสี่ยงจากชาวนามาบริหารทำให้ชาวนามีอำนาจต่อรองมากขึ้น และทำให้ตลาดการค้าข้าวเสรีและเป็นธรรม
รัฐเองไม่ได้ซื้อข้าวแต่ผู้เดียวตามที่มีการกล่าวหา เพราะพ่อค้าข้าวยังสามารถซื้อข้าวเปลือกได้มากถึงร้อยละ 40-50 ของผลผลิต
และแม้ช่วงแรกจะประกาศจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วจากผลผลิตข้าว 38 ล้านตัน มีข้าวเปลือกมาจำนำ 22 ล้านตัน หรือร้อยละ 58 จึงยังคงมีข้าวในตลาดที่พ่อค้าสามารถซื้อขายได้อย่างเสรีอีกร้อยละ 42
ช่วงต่อมา ปริมาณข้าวที่จะจำนำลดลง เพราะรัฐบาลจำกัดให้แต่ละรายไม่เกินมูลค่า 500,000 บาท และ 350,000 บาทต่อรายในที่สุด
ปี 2556/2557 รับจำนำข้าวเพียง 16.5 ล้านตัน จากผลผลิต 38 ล้านตัน หรือเพียงร้อยละ 44 ทำให้มีข้าวเปลือกที่อยู่วงจรการค้าข้าวของพ่อค้าข้าวถึงร้อยละ 56
การระบายข้าว กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการขายข้าวตามกรอบยุทธศาสตร์ 5 วิธี เหมือนการขายข้าวในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา จนถึงรัฐบาลปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
2.3 ปล่อยให้มีการทุจริตและการระบายข้าวของรัฐบาล ?
โครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวดำเนินการมาก่อนหน้ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วไม่ต่ำกว่า32ปีกระบวนการและขั้นตอนรวมถึงองค์ประกอบของคณะทำงานคล้ายคลึงกัน หลายขั้นตอนถูกนำไปใช้ในโครงการประกันรายได้ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่นกัน
รัฐบาลของตนได้สร้างมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกัน ปราบปราม ตรวจสอบ ลดความเสี่ยงและดำเนินการในเรื่องต่างๆ ในกำกับ ควบคุม ดูแล โดยไม่เพิกเฉยหรือละเลยเพื่อป้องกันความเสียหาย
นำปัญหาในอดีตมาปรับปรุงเพื่ออุดช่องว่างขั้นตอนการปฏิบัติได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาโดยนำข้อเสนอจากผู้บริหารโครงการผู้ปฏิบัติโรงสี ชาวนา พ่อค้าข้าว ฯลฯ
รวมถึงข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภายนอกอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินด้วย (สตง.)
เป็นรัฐบาลแรกที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งทำเรื่องปิดบัญชีข้าวโดยเฉพาะทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริต
เพื่อป้องกันการทุจริตการประชุมคณะรัฐมนตรี19มิ.ย. 2555 มีมติมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ จับกุมผู้กระทำความผิดและสั่งให้ดำเนินคดีจำนวน 276 คดี
กรณีมีข้อกล่าวหาเรื่องระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดฯพาณิชย์เป็นประธาน สรุปผลว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง
กรณีการกล่าวหาทุจริตโครงการข้าวถุงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีนายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน
ช่วงดำเนินโครงการมีโรงสีทุจริต จึงมีการตัดสิทธิโรงสีและไม่อนุญาตให้เข้าร่วมโครงการ 12 ราย ในพื้นที่ 9 จังหวัด
2.4 ข้อกล่าวหาข้าวคุณภาพต่ำและรับจำนำข้ามเขต
มีประกาศห้ามไม่รับจำนำข้าวคุณภาพต่ำ18สายพันธุ์เช่น พวงทอง พวงเงิน พวงแก้ว โพธิ์ทองของคลองหลวง และสามพราน 1 และห้ามไม่ให้รับจำนำข้าวอายุสั้นกว่า 110 วัน
กำหนดราคารับจำนำข้าวสูงต่ำตามคุณภาพข้าว ราคาตันละ 15,000 บาท เฉพาะข้าวเปลือกเจ้า 100%
ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการสวมสิทธิ์ข้าวหรือลักลอบนำข้าวข้ามเขตนั้น มีอนุกรรมการรับจำนำข้าวระดับจังหวัดและคณะทำงานจังหวัดมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ตรวจข้าวที่เข้าโครงการ ป้องกันการสวมสิทธิ์และปลอมปนข้าว
2.5 กรณีข้าวหาย ข้าวเน่าและข้าวเสื่อมคุณภาพ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ
ประเทศชาติจะไม่ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวเลย เพราะมีผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน มีผู้รับผิดตามสัญญาแต่ละกรณี เช่น อคส. อตก. เจ้าของโกดัง เซอร์เวย์เยอร์ ประกันภัย ฯลฯ
2.6 การระบายข้าวแบบจีทูจี นายกฯ รับรู้และดำเนินการอย่างไร
กรณี ป.ป.ช.เห็นว่าคำจำกัดความของ รัฐบาลของประเทศผู้ซื้อหากเป็นรัฐวิสาหกิจต้องถือหุ้น 100% โดยรัฐบาลกลางเท่านั้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ถือปฏิบัติตามทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ยอมให้รัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้น 100% โดยรัฐบาลมณฑล หรือรัฐบาลท้องถิ่น ทำสัญญารัฐต่อรัฐได้
แต่นายกฯ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาสัญญาที่จะมีการลงนาม หรือลงนามแล้วแต่ยังไม่มีการส่งมอบ ให้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ก่อน
เป็นผลให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกสัญญาซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐของรัฐวิสาหกิจของมณฑลเฮยหลงเจียงประเทศจีนจำนวน1.2 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท
และในหลักการบริหาร หากมีการกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบในระดับปฏิบัติแล้ว จะให้นายกฯ ร่วมรับผิดชอบการประพฤติทุจริตของฝ่ายปฏิบัติการนั้นๆ ย่อมไม่ใช่วิสัย
2.7 โครงการรับจำนำข้าวไม่ขาดทุน และไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย
รายงานการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯทำมาพิจารณาเฉพาะผลโดยตรงและมีข้อโต้แย้งทั้งการไม่บันทึกบัญชีข้าวบางส่วนการคำนวณมูลค่าสต๊อกคงเหลือ การเสื่อมราคาข้าว ไม่ได้บันทึกบัญชีข้าวสารครบถ้วน
ดังนั้น เงินที่ใช้ในโครงการที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ เรียกว่า ขาดทุนสำหรับการปิดบัญชีณวันที่31 พ.ค. 2556 ควรจะเป็นประมาณ 219,432 ล้านบาท ไม่ใช่ 332,372 ล้านบาท
2.8 โครงการรับจำนำข้าวไม่ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง ไม่สร้างปัญหาหนี้สาธารณะ
การจัดสรรวงเงิน ครม.มีมติให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้กู้เงิน กระทรวงการคลังค้ำประกัน วงเงินที่ใช้แต่ละปีเป็นตามกรอบกฎหมายการกู้เงิน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบฯ รายจ่ายประจำปีและงบฯ เพิ่มเติม
ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีสถานะ ณ สิ้นปี 2556 หลังยุบสภาอยู่ที่เพียง 5.449 ล้านล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 45.71 ของจีดีพี มีการยืนยันจากรัฐบาลชุดปัจจุบันของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า สถานะการเงินของประเทศมีเงินคงคลังอยู่ถึง 3 แสนกว่าล้านบาท ยังมั่นคงอยู่มาก
2.9 ปัญหาการจ่ายเงินชาวนาในปี 2556/57 ไม่ได้เกิดจากนโยบายการรับจำนำข้าว
การดำเนินงานโครงการตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวแก่ชาวนา ปัญหาเกิดขึ้นในฤดูกาลผลิตนาปี 2556/2557 ตั้งแต่ ต.ค. 2556 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใช้ชาวนาเป็นเครื่องมือ ขัดขวาง ทำให้ธนาคารรัฐและรัฐบาลไม่สามารถกู้เงินได้
2.10 ข้อกล่าวหาที่ว่าชาวนายากจนได้ประโยชน์จากโครงการน้อยกว่าชาวนาที่มีฐานะปานกลางและฐานะดี
ข้อมูลของธ.ก.ส.มูลค่าการจำนำข้าวเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มโครงการปลายปี2554จนถึงฤดูกาลนาปี 2556/2557 ชาวนามากกว่าครึ่ง คือร้อยละ 54 ได้รับเงินจากการจำนำข้าว ไม่เกินรายละ 150,000 บาท (เป็นชาวนารายเล็กที่มีที่ดินไม่เกิน 12 ไร่)
และประมาณร้อยละ 64 ได้รับเงินจำนำข้าวไม่เกิน 200,000 บาท (เป็นชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 25 ไร่)
และในฤดูกาลผลิตนาปี 2556/2557 มีการจำกัดให้ชาวนาจำนำได้รายละไม่เกิน 350,000 บาท มีชาวนาถึงร้อยละ 79 ที่ได้รับเงินจำนำไม่เกินรายละ 200,000 บาท
2.11 ข้อกล่าวหาเรื่องโครงการข้าวถุงราคาถูก
หลังมีข่าวคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีมติให้ระงับโครงการข้าวถุงฯไว้ก่อนต่อมานายกฯสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการข้าวถุงมีนายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน
2.12 ข้อกล่าวหาที่ว่าการรับจำนำข้าวไม่ได้ช่วยในเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพสูงและผลผลิตสูง จริงหรือไม่
การไม่รับจำนำข้าวที่มีคุณภาพต่ำ 18 สายพันธุ์ และข้าวพันธุ์ที่มีอายุต่ำกว่า 110 วัน จะทำให้ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพมาปลูก
การจัดโครงการพัฒนาดินและการทำเขตเฉพาะการเกษตร(เกษตรโซนนิ่ง)จะช่วยทำให้การผลิตข้าวมีผลผลิตสูงและต้นทุนต่ำ
2.13 ข้าวไทยเสียแชมป์ จริงหรือ
ช่วงก่อนปี 2554/55 ไทยเป็นแชมป์การส่งออก เพราะอินเดียมีนโยบายการเก็บสำรองข้าวไว้บริโภคในประเทศ ส่งออกเพียง 3-4 ล้านตันต่อปี เวียดนามก็มีข้าวส่งออกเพียงปีละ 7 ตัน
หลังปี 2554/55 อินเดียเปลี่ยนนโยบายส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 300%-400% และยังมีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงนำโดยอินเดียและเวียดนาม ไทยจึงไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกเช่นเดิม แต่สถานการณ์การขายข้าวไทยก็ดีขึ้นเป็นลำดับ
3.ข้อกล่าวหามีวาระซ่อนเร้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง
3.1 ข้อกล่าวหาทุจริตเชิงนโยบาย
โครงการรับจำนำข้าวมีการดำเนินการผ่านมาหลายรัฐบาลนับแต่ปี2524แม้แต่ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ดำเนินโครงการนี้ในปี2552 ก่อนเปลี่ยนเป็นโครงการประกันราคาข้าว
เมื่อเป็นสัญญาประชาคม เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เรื่องทั้งหมดจึงถือเป็นการจัดทำ นโยบายสาธารณะเป็นการกระทำทางการบริหารรัฐ (Act of Government) อันเป็นหลักปฏิบัติของรัฐบาลที่ดี
3.2 ข้อกล่าวหาถึงการที่ยังดำเนินโครงการทั้งๆ ที่รู้ว่า ยิ่งดำเนินการต่อรัฐยิ่งเสียหาย
การยุติหรือยกเลิกโครงการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกฯ และประธาน กบข. โดยลำพังสามารถยกเลิกโครงการได้หรือไม่ เพราะตลอดมาการดำเนินโครงการมิได้ดำเนินการโดยลำพังแต่เป็นรูปคณะบุคคล
แม้กระทั่งตามหนังสือของป.ป.ช.ฉบับวันที่30เม.ย. 2555 ยังยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสำคัญและเป็นนโยบายหลักที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาที่อัยการสูงสุดชี้ข้อไม่สมบูรณ์3ประเด็นในสำนวนป.ป.ช.เมื่อข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ ยังไม่เสร็จสิ้นกระแสความก็ด่วนกล่าวหา แล้วจะถือว่าข้อกล่าวหาถูกต้องได้อย่างไร
คดีนี้มีการชี้มูลความผิดหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย7พ.ค.2557เพียงวันเดียว รุ่งขึ้นวันที่ 8 พ.ค. 2557 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทันที ตรงสุภาษิตทางกฎหมายที่ว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
หากดำเนินคดีเอากับคณะรัฐมนตรีและ กบข.ทั้งคณะ ดังเช่นคดีหวยบนดิน อาจใช้เวลา ที่ผู้กล่าวหาไม่อาจตอบสนองต่อวาระทางการเมืองที่จะทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งได้
4. กระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม
การรวมคดีถอดถอนเข้ากับคดีอาญาโดยไม่ถูกต้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่ใช่ผู้ที่ เป็นกลางในการชี้มูลความผิดคดีถอดถอน
เพราะหากไม่รวมคดีพรรคประชาธิปัตย์ต้องหาหลักฐานมาเสนอให้ป.ป.ช.แต่เมื่อรวมคดีป.ป.ช.กลายเป็นผู้หาหลักฐานให้กับพรรคประชาธิปัตย์ผู้ร้องคดีถอดถอน
โดยนำพยานหลักฐานในคดีอาญามารวมให้กับคดีถอดถอนในลักษณะเติมพยานให้กับคดีถอดถอนและเร่งชี้มูลความผิดในคราวเดียวกันและยังมีกระบวนการไต่สวนที่เร่งรีบรวบรัดเป็นกรณีพิเศษ
การเลือกพิจารณารับฟัง พยาน หลักฐาน ที่เป็นอคติ และเป็นผลร้าย อาทิ รายงานวิจัยซึ่งเป็นพยานเอกสารและนายนิพนธ์ พัวพงศกร จาก TDRI และรับฟังพยานบุคคลรายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม พร้อมพยานเอกสารจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นส่วนใหญ่
5. บทสรุปโครงการรับจำนำข้าว
จากการปฏิบัติหน้าที่ของตนที่กล่าวข้างต้นไม่ใช่การทำหน้าที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา270และมาตรา 178 หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1)
กรณี ถอดถอนมีข้อเท็จจริงว่า ตนได้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และรมว.กลาโหม ไปตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2557 แล้ว แต่ ป.ป.ช. กลับชี้มูลความผิดในวันที่ 8 พ.ค. 2557
การดำเนินการตามสำนวนในเรื่องนี้จึงไม่สมเหตุสมผล นอกจากเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่