นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช. ที่รัฐสภา วันที่ 8 มกราคม วาระการพิจารณากระบวนการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 68 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542
นายนิคม ได้แถลงชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตอนหนึ่งว่า หากฝ่ายนิติบัญญัติถูกลบหลู่ก็ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองห้ามฟ้องร้องการทำหน้าที่ก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีแล้ว ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.จะตกไปโดยปริยาย
ส่วนประเด็นที่ตนถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด คือกรณีที่ตนรับญัตติปิดประชุม โดยที่สมาชิกหลายคนยังไม่ได้อภิปราย แต่ถ้าไปดูในเอกสารรายงานการประชุมก็จะเข้าใจว่า ทำไมตนจึงดำเนินการดังกล่าว และให้ดูว่าทำไมการพิจารณาเพียงมาตราเดียวได้ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงกว่าทั้งที่มีผู้อภิปราย 13 คนเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ยื่นแปรญัตติส่วนใหญ่ล้วนยื่นแบบผิดหลักการ ไม่เป็นไปตามญัตติหลักของการพิจารณา จึงไม่สามารถให้อภิปรายได้
เพราะการยื่นญัตติเช่นนี้เป็นเทคนิคและลูกเล่นของคนเล่นการเมืองมานาน พยายามตีรวนในทุกเรื่อง เป็นความพยายามที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อมีสมาชิกเห็นว่า การอภิปรายยืดยาวและครบประเด็นแล้ว จึงมีการเสนอญัตติให้ปิดอภิปรายตามข้อบังคับฯ ซึ่งตนก็ถามความเห็นในที่ประชุมว่ามีใครเห็นเป็นอื่นหรือไม่ โดยเสียงส่วนใหญ่ก็มีมติเห็นควรให้ปิดการอภิปราย เป็นการดำเนินการตามข้อบังคับฯทุกขั้นตอน
นายนิคม กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะของผู้ร้อง หรือ ทางป.ป.ช.ที่ถามว่า ทำไมตนถึงไม่พักการประชุมเพื่อให้วิป 3 ฝ่ายไปประชุมกัน ยืนยันว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะไม่สามารถละเมิดสิทธิที่เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกตามข้อบังคับฯได้ สิ่งที่ตนกระทำตามได้ยึดหลักของกฏหมายทุกประการ
แม้ว่า กระบวนการในการตัดสินจะไม่อยู่บนหลักของกฏหมาย เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ตนเข้าใจ และต้องมาชี้แจงด้วยตนเอง เพราะจำเป็นต้องรักษาสถาบันนิติบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไว้ ดังนั้นจึงข้อให้สนช.ใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผลหากปล่อยให้องค์กรอื่นมาก้าวล่วง ไม่ให้ใครมาย่ำยี อะไรที่เป็นจริงก็เป็นจริง อะไรที่ไม่เป็นจริงจะปรากฎกับผู้กล่าวหากับตนในไม่ช้า แม้ว่าตนจะมาจากวุฒิสภา พวกท่านเป็นสนช. แต่เราอาชีพเดียวกันคือทำหน้าที่ออกกฎหมาย ดังนั้นต้องพิทักษ์สถาบันแห่งนี้ ถามว่าชีวิตพวกท่านจะมีความปลอดภัยในอนาคตหรือไม่ วันดีคืนดีท่านอาจจะมายืนแบบตนก็ได้
“ผมทำหน้าที่ตามมติของที่ประชุม เหมือนกับสภาฯแห่งนี้ที่ทำหน้าที่ แต่สภานี้ถือเป็นสภาที่เรียบร้อย ไม่เหมือนสมัยผมที่เป็นสภาการเมือง ถือเป็นเวรกรรม การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 128 ชั่วโมง แต่ใช้ในการประท้วงไปแล้วถึง 50 ชั่วโมง มีการเอาแฟ้มขว้าง หากเป็นท่านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ที่เป็นประธานในที่ทำหน้าที่ประชุมอยู่ ถูกด่าว่าไอ้เลวจะทำอย่างไร จะควบคุมได้อย่างไร วันที่กรรมธิการซักถามจะดำเนินการซักถามข้อเท็จจริง ผมก็ยินดีที่จะมาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง”