2558 คือปีของรัฐธรรมนูญโดยแท้
รัฐธรรมนูญที่หลายคนฟังข่าวแล้วสะดุ้งมาตั้งแต่ปลายปี 2557
ไม่ว่าจะด้วยประเด็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
หรือวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งที่มีอำนาจถอดถอนแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ผู้มีอำนาจเหนือประชาชนทั่วไป
เป็นประเด็นต้องจับตา
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า หลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯนำข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาหารือจนได้ภาพรวมในหลักการใหม่ในเรื่องระบอบการเมือง นักการเมือง สถาบันการเมืองแล้ว จะส่งข้อมูลดังกล่าวให้คณะอนุกรรมาธิการยกร่างฯ นำไปยกร่างเป็นรายมาตราจนถึงวันที่ 11 มกราคม 2558 ก่อนส่งให้คณะกรรมาธิการพิจารณาอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มกราคม
เบื้องต้นคาดว่า รัฐธรรมนูญใหม่น่าจะมีเนื้อหาอยู่ระหว่าง 250-300 มาตรา จะไม่มากไปกว่ารัฐธรรมนูญปี ที่มี 309 มาตรา ตามที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า จะต้องสั้น กระชับกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม โดยไม่ให้เกิดการตีความได้
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนกรณีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส.นั้น คงเป็นงานเหนื่อยของคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนยังมีบทเรียนฝังใจกับปมเรื่องนายกฯคนนอก ยืนยันว่าวัตถุประสงค์ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯไม่ได้คิดเปิดช่องสืบทอดอำนาจให้ใคร แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริงคือ การเปิดช่องไว้ในกรณีเกิดวิกฤตทางการเมือง อาจจะต้องใช้นายกฯคนนอกมาแก้ปัญหา หากเป็นภาวะบ้านเมืองปกติ จะนำนายกฯคนนอกมาบริหารประเทศ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนักการเมืองจะไปตอบคำถามประชาชนได้อย่างไร
"นายกฯคนนอกจะมีการพิจารณาเขียนในตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อวางกลไกให้ชัดเจนว่า ให้นำมาใช้ในกรณีเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยให้มีอำนาจบริหารเพียงชั่วคราว อาจจะเป็น 6-8 เดือน แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่
"และตัวนายกฯคนนอกจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากกว่าปกติ เช่น 3 ใน 4 ของ ส.ส.ทั้งหมด เรื่องเหล่านี้จะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนกันต่อไป
"เพื่อสื่อเจตนารมณ์ว่า จะไม่มีการซี้ซั้วเอาคนนอกมาเป็นนายกฯได้"
แต่เสียงวิจารณ์ทั้งจากประชาชนผ่านการสำรวจต่างๆ หรือความเห็นของสื่อมวลชนทั่วไปก็ไม่จางลง
อื้ออึงเสียจนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติม
เพิ่มเติมว่า วันนี้การปฏิรูปจะเกิดโดย 3 กลุ่มด้วยกันคือ 1.รัฐบาล คสช. ข้าราชการ 2.จากประชาชนที่ได้รับฟังความเห็นมา และ 3.สปช. ที่กำหนดหัวข้อออกมา โดยทั้งหมดจะนำมารวมกลุ่มใหม่ผ่านกระบวนการเข้าสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ
อย่าไปให้ความสำคัญกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องการเลือกตั้ง หรือการบริหารราชการแผ่นดินระยะต่อไป
อยากให้ทุกคนสนใจว่าวันนี้ สนช.ออกกฎหมายอะไรบ้าง มีผลกับสังคมอย่างไร และได้ชี้แจงไปแล้วว่า 3 เดือนต่อไปต้องมีอะไรออกมาชัดเจน ทั้งหมดต้องเสร็จภายใน 1 ปีให้ได้
ส่วนการทำให้เกิดความยั่งยืนเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่จะรับไป
ถ้าจะไม่ให้เสียเปล่ามันต้องส่งต่อให้ได้
รัฐธรรมนูญที่ยัง "เป็นวุ้น" จะออกมาแข็งตัวแล้วหน้าตาอย่างไร
และเหตุใดถึงเบี่ยงเบนออกไปจาก "โรดแมป" ที่กำหนดไว้แต่ต้นจากฝ่ายกองทัพ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ
อาทิ การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง หรือวุฒิสมาชิกแต่งตั้งที่จะทำหน้าที่เพียงการกลั่นกรองพิจารณากฎหมายให้รอบคอบแต่เพียงอย่างเดียว
12 มกราคม มีคำตอบเบื้องต้น
หลังจากนั้น คสช.จะเป็นผู้ให้คำตอบในเบื้องปลาย...