- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Thursday, 18 December 2014 23:44
- Hits: 3780
สปช. วิบูลย์ ชี้การวางแผน PDP ควรให้สิทธิประชาชน รับรู้-มีทางเลือก
ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดทำสรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประจำสภา 18 คณะ วันที่สอง นายวิบูลย์ คูหิรัญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานของ สปช. และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อภิปรายในประเด็นการปฏิรูปพลังงานดังนี้
นายวิบูลย์ ระบุว่าในส่วนสิทธิและหน้าที่พลเมืองในด้านพลังงาน เห็นว่าเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนที่จะดำเนินการเพื่อใช้เป็นแผนพลังงานของชาตินั้น ควรจะได้มีการจัดให้มีการประชาพิจารณ์แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP) ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงผลดี ผลเสียของแต่ละระบบในแผน และผลที่ประชาชนจะได้รับ ก่อนที่จะให้ประชาชนได้เลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง นอกจากนี้ประชาชนควรมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินการให้ตรงตามแผนที่ประชาชนให้ความเห็นชอบหลังการประกาศใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และประชาชนควรให้การสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ตามแผนที่ประชาชนได้ให้ความเห็นชอบ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ เมื่อผ่านการทำ EIA และ EHIA แล้ว ซึ่งจะสามารถป้องกันการเกิดวิกฤตพลังงานในอนาคตได้
และในเรืองของการวางแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP) นั้น จะต้องเน้นการกระจายแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าให้สามารถดูแลการบริการในเขตพื้นที่ย่อยๆ ออกไปได้ มีการกระจายชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมเพื่อความมั่นคงของระบบ ไม่ควรใช้เชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป และควรสนับสนุนเชื้อเพลิงประเภทที่จะเป็นประโยชน์ต่อการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อเพลิงจากขยะ ของเสียจากอุตสาหกรรมการเกษตร และมูลสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ในแผน PDP จะต้องมีการกระจายระบบสายส่งให้ครอบคลุมทั่วถึงตามความต้องการไฟฟ้า สามารถรับ -ส่งพลังงานไฟฟ้าได้แม้จะเกิดปัญหาจุดใดก็สามารถส่งไฟฟ้าจากที่อื่นไปให้ได้ทันที และในอนาคตจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าทั่ว AEC และไทยควรมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในการซื้อ-ขาย พลังงานไฟฟ้าของ AEC ด้วย
และสุดท้ายต้องคำนึงถึงแผนอนุรักษ์พลังงาน ควรนำมาประกอบในการจัดทำแผน PDP เพื่อให้การลงทุนก่อสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าลดลง ซึ่งจะมีผลต่อค่าไฟที่จะไม่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนเพิ่ม ควรมีการติดตามเร่งรัดการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานด้วยความจริงจังเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
นอกจากนี้ ในการอภิปราย นายวิบูลย์ยังฝากถึงการดูกฎระเบียบการอนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Plant - SPP) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เพราะขณะนี้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศมีสัดส่วนประมาณ 68-70% แล้ว หรือติดตั้งในระบบกว่า 33,000 - 34,000 MW แล้ว และยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการติดตั้งถึงอีก 6,000 MW ซึ่งนายวิบูลย์มีความกังวลถึงความมั่นคงด้านพลังงานที่ใช้สัดส่วนเชื่อเพลิงชนิดนี้ผลิตไฟฟ้ามากจนเกินไป