- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Thursday, 18 December 2014 23:43
- Hits: 4412
สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก ด้วยคะแนนเห็นชอบ 160 เสียง ต่อ 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ.... โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาการถ่ายโอนทรัพย์สินทางกองมรดกไม่ต้องเสียภาษี ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงควรจัดเก็บเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ยกระดับการดำรงชีพของประชาชนที่ยากไร้โดยไม่ให้กระทบกับผู้ได้รับมรดกพอสมควรกับการดำรงชีพ ส่วนร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรนั้น เป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ซึ่งประมวลรัษฎากรนั้นยังมีการงดเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรายได้จากการเก็บภาษีอยู่ที่ 18% ต่อจีดีพี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะสูงถึง 30-40 % การจัดเก็บภาษีสูงนั้นไม่ได้หมายความว่าไปรีดเค้นจากประชาชน แต่เป็นการเก็บเพื่อให้มีการกระจายรายได้ ไม่ไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มหนึ่ง แล้วเอาเงินมาพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมรดก 10 % จากส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทนั้น จะทำให้รายได้จากการเก็บภาษีขยับอยู่ที่ 21-22% เรื่องภาษีมรดกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศมีการจัดเก็บตั้งแต่ 20-40 % ขณะที่ของประเทศไทยไม่ได้เก็บจากมรดกบาทแรก แต่เก็บจากเงินที่เกิน 50 ล้านบาท สมมติว่าหากมรดก 200 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 3 คน เราจะเก็บเฉพาะส่วนที่เกินคนละ 50 ล้านบาทคือ ประมาณ 10 กว่าล้านบาท เมื่อเก็บคนละ 10 % ก็จะได้คนละล้านกว่าบาท ซึ่งไม่ได้สูงมาก ประเทศฟิลิปปินส์ก็เก็บแบบขั้นบันได ประเทศ?เวียดนามก็เก็บเท่ากับประเทศไทย ขณะที่ประเทศเกาหลีอยู่ที่ 10-50 % อย่างไรก็ตาม หากคนไม่มีเงินชำระภาษีก็สามารถผ่อนจ่ายได้เป็นเวลา 5 ปี โดย 2 ปีแรกนั้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หรือถ้าหากไม่มีเงินก็สามารถไปจัดตั้งเป็นกองมรดกได้
ด้านนายประดิษฐ์? วรรณรัตน์ สนช. ลุกขึ้นอภิปรายว่า 12 ใน 25 ประเทศที่จัดเก็บภาษีมรดกนั้นปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และนอร์เวย์ เพราะไม่คุ้มค่ากับการจัดเก็บและไม่ต้องการให้รายได้ออกไปนอกประเทศจากการหลบเลี่ยงภาษีมรดก สำหรับสัดส่วน 10 % นั้นถือว่าสูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก อีกทั้งยังถูกมองว่าก่อนจะมาเป็นมรดกนั้นก็ได้ผ่านการเก็บภาษีมาแล้วทั้งภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีมรดกจะต้องไม่ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเสียสองต่อ ทั้งนี้ ยังมีทางเลือก?อื่น อาทิ การเพิ่มการจัดเก็บภาษีฟุ่มเฟือย ทั้งรถยนต์ เหล้า และบุหรี่ ที่จะทำให้การจับเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ?ดังนั้น อยากให้พิจารณาให้รอบคอบด้วย
นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สนช. อภิปรายว่า การจัดเก็บภาษีมรดกอาจจะทำให้ประเทศอื่นได้ประโยชน์มหาศาล เพราะอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้เศรษฐีไทยนำเงินไปเก็บไว้ที่ประเทศอื่นซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมรดกได้ ดังนั้น ต้องพิจารณาให้รอบคอบ? ทั้งในประเด็นการบริหารจัดการที่ต้องป้องกันไม่ให้มีการหลบเลี่ยงภาษีมรดกเหมือนกับที่หลายประเทศประสบมาแล้ว และต้องระวังเรื่องความไม่เป็นธรรมกับคนชั้นกลาง ผู้ประกอบการเอ็สเอ็มอี ที่ทุ่มเททำงานแต่ต้องมาเสียภาษีซ้ำซ้อน รวมทั้งทายาทผู้เยาว์ที่อาจจะประสบปัญหาไม่สามารถช่วยตัวเองในการรับมรดกได้อีกด้วย ?
นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า ฝากให้พิจารณาให้รอบด้านว่า เมื่อทำแล้วจะไม่เกิดการลดการออมในประเทศ โดยจัดการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน เพราะนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัยเห็นตรงกันว่า ภาษีมรดกยังเป็นปัญหา ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้ตรงจุด นอกจากนี้ อยากให้ผลักดันกฎหมายภาษีอื่นๆ ด้วย อาทิ ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และต้องนำเข้าสู่สภาฯ โดยเร็ว ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในส่วนของที่ดินการเกษตรนั้นจะมีการยกเว้นหรือไม่ เช่น ถ้าถนนตัดผ่านแล้วทำให้ที่ดินเกษตรราคาสูงและต้องการเก็บที่ดินไว้ทำการเกษตรต่อไปนั้น ควรจะงดเว้นภาษีหรือไม่ และเจ้าของที่ดินที่เป็นบริษัทเกษตรรายใหญ่ เป็นอภิมหาเศรษฐี จะได้รับการงดเว้นหรือไม่ ขอให้มีหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วสนับสนุนกับการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันไดเพื่อทำให้เกิดการปรับตัว จากน้อยไปหามาก เพราะจะทำให้ไม่เกิดการหลบเลี่ยงภาษี
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. อภิปรายว่า รู้สึกเป็นห่วงกับการจัดเก็บภาษีมรดกที่ไม่แน่นอน หากกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ที่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำนั้น จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะหากมีการตั้งกองมรดก มูลนิธิ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยังไม่รวมกับการโยกย้ายไปยังต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ รู้สึกสงสัยว่า เหตุใดจึงเก็บเฉพาะภาษีการรับมรดก แต่ไม่เก็บในส่วนของกองมรดกที่เคยทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2476 แต่ยกเลิกไป ทั้งๆ ที่ทำให้รายได้เข้ารัฐเป็นกอบเป็นกำ และประเมินครั้งเดียวแต่ผลระยะยาว ส่วนที่มีการกำหนดว่าเก็บภาษีมรดกจากที่เกิน 50 ล้านบาทนั้น ต่อไปเงินเฟ้อแต่ละปีอาจจะทำให้ค่าเงินน้อยลง ซึ่งจะกลายเป็นภาระให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยได้
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ สนช. อภิปรายว่า การจะนำภาษีที่ได้ไปใช้ช่วยเหลือผู้ยากไร้นั้น ควรมีหลักประกันเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการยกระดับชีวิตคนยากไร้ ซึ่งไม่ควรอยู่ในงบประมาณ แต่ควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่า จะไปพัฒนาในรูปแบบไหน และหากจะเก็บภาษีนั้นต้องให้เวลากับผู้ประกอบการในการเสียภาษีมรดกด้วย อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายนี้จะเป็นการเร่งให้มีการโอนเงินให้กับทายาท อาจจะทำให้เป็นการสร้างความแตกแยกภายในครอบครัวให้เร็วขึ้นหรือไม่
ขณะที่นายสมหมาย ชี้แจงว่า สาเหตุที่เก็บภาษีมรดกในอัตราคงที่? ไม่เป็นแบบขั้นบันไดนั้น เนื่องจากเราเจตนาที่จะเก็บจากผู้ที่มีรายได้สูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ปานกลางอยู่แล้ว จะเห็นได้จากการกำหนดให้เก็บภาษีจากมรดกที่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงแล้ว ?ส่วนกรณีที่หลายประเทศยกเลิกการจัดเก็บภาษีมรดก เช่น ?นอร์เวย์นั้น เนื่องจากเขามีระบบภาษีการกระจายรายได้ที่ดีมาก คนนอร์เวย์ไม่มีคนรวยมาก จนมาก ไม่เหลื่อมล้ำ เขาใช้การเก็บภาษีอื่นได้ แต่ประเทศไทยต้องเก็บภาษีมรดกเพราะเป็นสัญลักษณ์อันหนึ่ง และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่ไปกับภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เพื่อขยายฐานภาษีให้มีประสิทธิภาพ
นายสาธิต รังคสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ประเด็นปัญหาที่ห่วงกันว่าผู้รับมรดกจะไม่สามารถชำระภาษีได้นั้น หากเป็นในส่วนของที่ดินต่างจังหวัด ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทคงไม่เป็นภาระเท่าไหร่ แต่ในส่วนที่ดินที่มีราคาแพง อาทิ ย่านเยาวราช ข้อเท็จจริงนั้นมีการทำธุรกิจควบคู่ไปกับที่อยู่อาศัย จึงมีความสามารถที่จะชำระภาษี อีกทั้งกฎหมายยังเปิดช่องให้ผ่อนชำระ 5 ปี โดย 2 ปีแรกไม่มีดอกเบี้ย และหากยังมีปัญหาก็ยังสามารถทำเป็นกองมรดกที่จะไม่ต้องเสียภาษีจนกว่าจะขายหรือมีเงินมาชำระภาษีได้อีกด้วย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
รมว.คลังเผยสนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดกวาระแรก ยังยืนเพดานเดิม 10%
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 160 ต่อ 16 เสียง พร้อมให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน และกำหนดกรอบเวลาการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญรวม 90 วัน พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ด้วยเสียงข้างมาก 172 ต่อ 8 เสียง พร้อมแปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาทำงาน 90 วัน
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันนี้ มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม โดยได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก และร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร ฉบับที่..พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยเป็นการพิจารณาคู่ขนานเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้สนช. ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ในวาระแรก ซึ่งการพิจารณาของที่ประชุม สนช.ในวาระแรกไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ และได้มีการรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการเสนอให้จัดเก็บภาษีดังกล่าวในอัตราก้าวหน้า ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่าไม่จำเป็น เพราะไม่ต้องการให้อัตราภาษีที่สูงเป็นเหตุที่จะทำให้มีการนำเงินออกนอกประเทศ
"ในที่ประชุมได้เสนอให้มีการเก็บภาษีแบบยืดหยุ่น โดยให้พิจารณาถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งส่วนตัวมองว่าอัตราภาษีที่ 10% อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และจะไม่เป็นการผลักดันให้มีการโยกออกนอกประเทศ" รมว.คลัง กล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับภาษีมรดกที่เสนอจัดเก็บในอัตราเพดานที่ 10% นั้นจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันได้กำชับให้ที่ประชุมพิจารณากฎหมายนี้อย่างรอบคอบและเป็นกลางที่สุด
ทั้งนี้ อีก 90 วันจึงจะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกเป็นวาระที่ 2
นายสมหมาย กล่าวว่า การถ่ายโอนมรดกในปัจจุบันได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าทรัพย์สินจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรที่จะต้องจัดเก็บภาษีตามสมควรจากการรับมรดกที่มีมูลค่าจำนวนมาก เพื่อนำไปพัฒนาประเทศและยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20-21 แต่ยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบถึงผู้ที่ได้รับมรดกพอสมควรแก่การดำรงชีพ เพราะสามารถผ่อนชำระภาษีได้ถึง 5 ปี โดย 2 ปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ อีกทั้งในต่างประเทศล้วนจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้เช่นกัน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก จะมีทั้งหมด 38 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือ การจัดเก็บภาษีมรดก จะเก็บจากผู้ที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตรา 10% โดยจะต้องเป็นการโอนมรดกให้กับทายาทโดยตรงเท่านั้น ส่วนการโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่นโดยเสน่หานั้น จะต้องเข้าข่ายต้องเสียภาษีการรับให้ ซึ่งกระทรวงการคลังเสนอให้มีการแก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร โดยเรียกเก็บภาษีในอัตรา 5% สำหรับทรัพย์สินที่มีการโอนมากกว่า10 ล้านบาทขึ้นไป และผู้ได้รับทรัพย์สินดังกล่าวยังต้องมีภาระในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บในอัตราสูงสุดที่ 35% ทำให้ผู้ที่ต้องการผ่องถ่ายทรัพย์สินจะโดนจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนมากขึ้น
ในระหว่างการอภิปรายนายมณเทียร บุญตัน สมาชิกสนช. ได้ท้วงติงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมได้จริงในทางปฏิบัติ และเสนอให้ปรับการจัดเก็บเป็นแบบขั้นบันได
อย่างไรก็ดี ยังสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะอาจจะมีคนที่เลี่ยงการเสียภาษีในส่วนนี้ไปตั้งเป็นกองทุนสาธารณะกุศล เหมือนในต่างประเทศที่เมื่อมีกฎหมายภาษีมรดกจะเกิดกองทุน, มูลนิธิ, องค์กรสาธารณะกุศลเพื่อสังคมจำนวนมาก
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ดีในการส่งสัญญาณที่จะสร้างความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ แต่ควรต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน เพราะอาจจะส่งผลให้คนเลี่ยงไปออมเงินในต่างประเทศแทน
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ สมาชิกสนช. กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชี้แจงให้ชัดเจนว่าการจัดเก็บภาษีการรับมรดกจะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านใด และเป็นไปในรูปแบบใด และอยากให้พิจารณาเรื่องการให้เวลาเรียกเก็บภาษีกับผู้ประกอบการหรือผู้รับมรดกที่อาจจะไม่สามารถจ่ายได้ทันที และมองว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อาจทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว ที่เสมือนบังคับให้บุพการีแบ่งมรดกให้ลูกเพื่อเลี่ยงการเสียภาษี ในขณะที่ลูกบางคนอาจจะยังไม่มีความพร้อมในการรับมรดก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้ชี้แจงถึงการไม่จัดเก็บภาษีแบบขั้นบันไดหรืออัตราก้าวหน้าว่า เพราะต้องการเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้สูงจริงๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่เกิดขึ้นมาก จึงผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา
ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวย้ำว่า การเสียภาษีมรดกจะจัดเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่ประเมินได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยหากมีพิธีกรรมรับมรดกแล้วต้องจ่ายภาษีภายใน 150 วัน และหากสามารถค้นหาทรัพย์สินเจอภายหลังเสียชีวิต ประเมินราคาทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาทก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ส่วนกรณีต่างชาติเข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยมีภรรยาหรือเข้ามาทำงาน หากเกินระยะเวลา 3 ปีจะต้องเสียภาษีมรดกด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล
อินโฟเควสท์