WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สปช.หัก'วิป'ขวางคนนอก ยึด 20 เก้าอี้ นัดเคาะแบ่งเค้กกมธ.ยกร่าง

            แนวหน้า  สปช.หัก“วิป”ขวางคนนอก ยึด 20 เก้าอี้ นัดเคาะแบ่งเค้กกมธ.ยกร่าง “จ้อน”ยันดึงทุกสีร่วมปฏิรูป “บิ๊กตู่”บ่นไม่ปลื้มสภากระจก “จ่าประสิทธิ์”ดิ้นหนีโทษหนัก กลับลำสารภาพหมิ่นสถาบัน

                เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศก่อนการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 2 ว่า บรรดาสมาชิก สปช.ทั้ง 11 ด้าน ได้แยกย้ายกันหารือเป็นการภายในเพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการประสานงานกิจการ (วิป) สปช.ชั่วคราว ตามแนวทางการให้คัดเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนสปช.จำนวน 20 คน โดยแบ่งเป็นคนใน 15 คน และบุคคลภายนอก 5 คน

“เทียนฉาย”ถกที่มากมธ.ยกร่างฯ

                ต่อมาเวลา 10.30 น. จึงเริ่มประชุม โดย นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสปช.ได้เชิญ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิก สปช.ซึ่งอาวุโสสูงสุด ขึ้นทำหน้าที่ประธาน โดย นายพารณ ได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อของดเว้นใช้ข้อบังคับข้อที่ 22 เพื่อให้ที่ประชุมเลือกประธานขึ้นมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ก่อนมีมติเลือกประธานการประชุมเฉพาะคราว โดยสนับสนุน นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. ขึ้นทำหน้าที่ประธาน จากนั้นจึงเข้าสู่วาระประชุมพิจารณา แนวทางสรรหากรรมาธิการยกร่างฯในสัดส่วนสปช. 20 คน

“เสรี”ยันต้องมาจากสปช.ทั้ง20คน

                จากนั้นสมาชิก สปช. ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางเพื่อคัดค้านข้อเสนอของวิป สปช. โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อภิปรายว่า เห็นควรให้กรรมาธิการยกร่างฯมาจาก สปช.ทั้ง 20 คน เพื่อให้สะท้อนแนวคิดและข้อเสนอแนะของ สปช. ให้กรรมาธิการยกร่างฯไปพิจารณา เพราะกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีตั้งแต่ให้เสนอความเห็น 60 วันแรก หลังกรรมาธิการยกร่างฯรับฟังความเห็นจากสภา สปช.กรรมาธิการยกร่างฯให้เสร็จภายใน 120 วัน ดังนั้นการทำงานของกรรมาธิการยกร่างฯอย่าเข้าใจว่าเป็นอิสระ เพราะเนื้ออหาต้องเป็นไปตามความเห็นของ สปช. ที่เสนอข้อมูล ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) จะไม่เขียนว่า กรรมาธิการยกร่างฯต้องรับฟังข้อเสนอแนะจาก สปช.ก่อนเริ่มเขียนและหลังเขียนภายใน 120 วันเสร็จแล้ว กรรมาธิการยกร่างฯต้องส่งให้ สปช.พิจารณาภายใน 10 วัน โดยให้สปช.สามารถแก้ไข หรือแปรญัตติแก้ไขภายใน 30 วัน เมื่อแล้วเสร็จส่งไปให้กรรมาธิการยกร่างฯพิจารณาต่อภายใน 60 วัน หลังจากนั้นต้องให้สปช.ให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อ้างคนนอกมาทำปฏิรูปล่ม

                นายเสรี กล่าวต่อว่า ดังนั้นกระบวนการดังกล่าวถือมีความสำคัญอย่างยิ่งของ สปช.ที่ต้องรับผิดชอบร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จตามความเห็นพ้องต้องกัน ดังนั้นความสำคัญคือ ให้เสียง สปช. 20คน สะท้อนความต้องการ ความคิดเห็นและข้อมูลไปยังกรรมาธิการยกร่างฯหากจำกัดจำนวนสมาชิก สปช.ไปทำหน้าที่ยกร่างเพียง 15คน จากสัดส่วนที่ให้มี 20คน ทำให้เห็นว่า คนนอก สปช.จะมีจำนวนเยอะกว่า คือ คนนอกจากสัดส่วน สปช. 5 คน และจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมกัน 15 คน จะทำให้รวมสัดส่วนคนนอกสปช.มีถึง 20 คน ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนเสียงใน สปช.จึงเหลือเพียง 15 คน แล้วจะพิจารณาไปทำไม เพราะเสียงอยู่นอกสภาหมดแล้ว โอกาสที่จะไม่เป็นไปตามความเห็นสภา สปช.เป็นไปได้สูง

ไพบูลย์หนุนคนในไร้ข้อครหา

                ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.ด้านการเมือง อภิปรายว่า สัดส่วนให้ สปช.20คน เป็นกรรมาธิการยกร่างฯซึ่งเป็นเสียงข้างมากเพื่อผลักดันเรื่องการปฏิรูป ถือเป็นโอกาสที่ให้ สปช.ทำงานอย่างสมบูรณ์ เพราะถ้าเหลือ 15คน จะกลายเป็นเสียงข้างน้อยและยุ่งยาก ทั้งที่สมาชิก สปช.250คนนั้น ก็ได้บุคคลที่มีความหลากหลาย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าคงสัดส่วน 20คน ก็จะไม่มีข้อครหาใดๆ เพราะผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ หากทำตามข้อเสนอวิป สปช.ชั่วคราวเกรงว่าจะสร้างปัญหาในวิปเสียเอง

                “หากนำบุคคลภายนอกเข้ามา จะมีข้อครหาจากประชาชนว่า มีการเอื้อประโยชน์ รวมทั้งบุคคลภายนอกยังมีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ เพราะหากจะเอาคู่ขัดแย้งมาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่ต่างสังกัดพรรคการเมือง หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการฯ อีกฝ่ายก็จะวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แทนที่จะได้ทำหน้าที่ในการปฏิรูปอย่างเต็มที่ กลับต้องมาตอบคำถามสังคมไม่มีที่สิ้นสุด สัดส่วน15 + 5 จะสร้างปัญหาให้กับ สปช.อย่างแน่นอน” นายไพบูลย์ กล่าว

“บวรศักดิ์”ค้านต้องรับฟังคู่ขัดแย้ง

                ต่อมา เวลา 12.30 น. นายเทียนฉาย ขอพักการประชุม เพื่อให้สมาชิกไปรับประทานอาหารกลางวัน แล้วกลับมาประชุมอีกครั้งในเวลา 13.30 น. โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานวิปชั่วคราว ชี้แจงว่า ปัญหาความขัดแย้งมีขึ้นมายาวนานนับสิบปีและจะสิ้นสุดหรือไม่อยู่ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงเห็นว่าหากไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นเอกสารที่ถูกตราว่า เป็นกติกาของผู้ชนะที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีทางเดียวคือ เปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งเข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างฯโดยเฉพาะจากพรรคการเมืองใหญ่ที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมและจากคู่ขัดแย้งคือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.ที่จะทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ได้

อลงกรณ์หวังล้างภาพผลไม้พิษ

                นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญหรือพิมพ์เขียวการปฏิรูปต้องสูญเปล่า เพราะถูกมองว่าเป็นผลพวงจากรัฐประหาร หรือผลไม้พิษ และจะทำให้ประเทศเสียเวลา เพราะเริ่มต้นก็ขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอีกครั้ง จึงต้องเปิดให้คู่ขัดแย้งเข้ามามีส่วนร่วม

ผลโหวต 175 ต่อ 39 ไม่เอาคนนอก

                กระทั่ง 14.30น.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิก สปช.ได้เสนอมติเพื่อปิดอภิปราย เนื่องจากมีการใช้เวลาพอสมควรในการอภิปรายในประเด็นดังกล่าว ซึ่งนายเทียนฉาย ได้ขอมติจากที่ประชุมฯปรากฏว่าสมาชิกในที่ประชุมมีมติเห็นด้วยที่จะปิดอภิปรายและให้มีการลงมติ โดยลงมติด้วยคะแนน 175 ต่อ 39 งดออกเสียง 5เสียง คือ ไม่ให้มีคนนอกเข้ามาเป็นสัดส่วนกรรมาธิการยกร่างฯ โดย 20คน เป็นสปช.ทั้งหมด

28 ตุลาถกที่มา 20 กมธ.ยกร่างฯ

                ภายหลังที่ประชุม สปช.มีมติให้ผู้ที่จะไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯในส่วนของ สปช. 20คน ที่ประชุมได้หารือถึงกระบวนการคัดสรรสมาชิก สปช.เข้าทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างฯ โดยสมาชิก สปช.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ท้ายสุดประชุมเห็นร่วมกันว่า ให้วิปสปช.ชั่วคราว รับผิดชอบเสนอแนวทางคัดสรรสมาชิก สปช.เข้าทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างฯ 20คน ในวันที่ 28 ตุลาคม เวลา 09.30 น. ก่อนนำเสนอที่ประชุม สปช. วันที่ 28ตุลาคม เวลา 13.00น.จากนั้น นายเทียนฉาย จึงสั่งปิดประชุมในเวลา16.15น.

“บิ๊กตู่”ไม่ปลื้มตั้ง“สภากระจก”

                พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถาบันปฎิรูปประเทศ(สปท.) ตั้ง’สภากระจก’คู่ขนานกับ สปช.ว่า รัฐบาลจะเกี่ยวข้องกับ สปช.สภาเดียว นอกนั้นไม่ใช่ ซึ่งความจริงมีช่องทางในการส่งเรื่องมายัง สปช.หลายช่องทาง เช่น ผ่านทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศูนย์ดำรงธรรมและสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ซึ่งเป็นช่องทางโดยตรงที่สามารถทำได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดประสงค์ที่ตั้งสปท.เพราะต้องการเป็นสภากระจก สะท้อนการทำงานของสปช. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องดูว่าจะตั้งได้หรือเปล่ากับการตั้งสภากระจก ต้องถามนักกฎหมาย ตนไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้รองนายกฯฝ่ายกฎหมายไปหารือในเรื่องนี้

                “การปฏิรูปไมใช่ทำได้ใน 1ปี ใน 11เรื่องที่จะปฏิรูปก็ต้องมีเรื่องระยะสั้นที่จะต้องทำให้ได้ภายใน 1ปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลต่อจากนี้ต้องรับช่วงไป เพราะเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น แต่นี่ก็เริ่มมีความขัดแย้งกันอีกแล้ว มีอะไรก็เสนอมา ผมรับหมด ปัญหาเกิดมานานแล้ว เราก็มาแก้ตามหลังกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

จ่าประสิทธิ์กลับลำรับหมิ่นเบื้องสูง

                วันเดียวกัน ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดพร้อมสอบคำให้การของ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย จำเลย ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 กรณีเมื่อวันที่ 7พ.ค.2557 ได้ปราศรัยบนเวทีแสดงกิจกรรม“หยุดล้มล้างประชาธิปไตย” ของกลุ่ม นปช.ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าวโดยมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้อง โดยจำเลยขอกลับคำให้การ จากที่ก่อนหน้านี้เคยปฏิเสธความผิด เป็นขอรับสารภาพผิด ไม่ขอต่อสู้คดีอีกต่อไป ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเห็นควรให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจพฤติกรรมทางคดีของจำเลย ก่อนรายงานให้ศาลทราบภายใน15วัน ดังนั้น ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 3ธันวาคม2557

“อลงกรณ์”แจง 2 แนวทางวางกมธ.

                ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะเลขานุการวิป สปช. (ชั่วคราว) เปิดเผยหลังการประชุมว่า การประชุมวิป สปช. ชั่วคราว วันที่ 28 ตุลาคมนี้ น่าจะได้ข้อสรุปว่าใครจะมาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน ในส่วนของ สปช. โดยขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ 1. สมาชิกสปช.ทั้ง 11 ด้านส่งตัวแทนมาด้านละ 1 คน ส่วนสปช.ด้านจังหวัดทั้ง 4 ภาค ให้เสนอมาภาคละ 1 คน ส่วนอีก 5 คนที่เหลือก็เปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอชื่อต่อที่ประชุมเพื่อให้ที่ประชุมลงมติเลือก หรือ 2.ให้สมาชิกที่สนใจเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมทำหน้าที่กรรมาธิการ ซึ่งไม่จำกัดจำนวน จากนั้นให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกให้เหลือ 20 คน

ลุยเปิดคู่ขัดแย้งร่วมยกร่าง

                นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่ายังต้องพยายามเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมือง เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปหรือทำพิมพ์เขียวประเทศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ซึ่งจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเปิดเวทีเชิญทุกภาคส่วนมาร่วม ก่อนส่งให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา ส่วนจะได้รับความร่วมมือหรือไม่ ไม่สามารถบังคับใครได้ แต่ยังยืนยันว่าจะนำพรรคการเมืองที่มีความขัดแย้ง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และกลุ่มขัดแย้งทางการเมือง เช่น กปปส. นปช.เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ โดยเชื่อว่าเวทีนี้จะเป็นของทุกคน การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นของคนไทย เนื่องจากอยากเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน และจะสามารถยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้  ทั้งนี้การประสานกลุ่มต่าง ๆ จะมี สปช.ประสานไปอย่างเป็นทางการ ส่วนตัวจะประสานพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่น ๆ อย่างไม่เป็นทางการด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!