- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Sunday, 26 October 2014 22:12
- Hits: 4003
‘เทียนฉาย’ไม่หวั่นเสียงค้านตั้ง 5คนนอก โยนที่ประชุมสปช.ใหญ่
แนวหน้า : ‘เทียนฉาย’ไม่หวั่น เสียงค้านตั้ง 5 คนนอก โยนที่ประชุมสปช.ใหญ่ นัดเคาะตัวแทนจันทร์ 27 ปชป.-พท.มองคนละมุม
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิก สปช.บางกลุ่ม คัดค้านสัดส่วนโควตาคนนอก 5 คน เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กมธ.)ของสปช.ว่าถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน ในวิป สปช.ชั่วคราวก็ยังมีความเห็นหลากหลาย ทั้ง 2 ด้าน ไม่ได้ตรงกันหมด บ่อยครั้งที่ข้อเสนอของวิปสปช.จะไม่ตรงกับเสียงส่วนใหญ่ เรื่องนี้ไม่น่าเป็นเรื่องที่ควรวิตกกังวลอะไร ส่วนตัวได้รับเลือกให้เป็นประธาน จะแสดงความคิดเห็นอะไรมากไม่ได้ ดังนั้นต้องให้ที่ประชุมใหญ่ตัดสิน คงจะต้องมีการโหวตหากความคิดเห็น ไม่คล้อยไปในทางเดียวกัน
‘วุฒิสาร-จรัส’เต็งจ๋า กมธ.ยกร่างฯ
ด้าน นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิก สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น เผยว่าในส่วนตัวแทนของ สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น ที่จะเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ ยังไม่เคาะว่าใครจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯเพราะทางกลุ่มเห็นว่ามีผู้เหมาะสม 2 คนคือนายวุฒิสาร ตันไชย และนายจรัส สุวรรณมาลา ทางกลุ่มจะได้มีการนัดประชุมเวลา 09.00น.ก่อนที่จะมีการประชุม สปช.ในเวลา10.00 น.วันที่ 27 ต.ค.ซึ่งขณะนี้ยังไม่ตกผลึกว่าที่ประชุม สปช.จะเห็นด้วยตามมติคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฎิรูปแห่งชาติ(ชั่วคราว)หรือ วิป สปช.(ชั่วคราว)ที่เสนอว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วน สปช. จำนวน 20 คน ควรจะเป็นคนใน สปช.15 คน และเป็น คนนอก 5 คนหรือไม่ ถ้ามติที่ประชุมใหญ่ เห็นตามมติวิป สปช.(ชั่วคราว)ก็จะได้ไปคัดตัวแทนจาก 11ด้าน และ 4 ภาคเข้ามาอย่างละ 1คนก็จะเป็น15 คนรวมไปถึงการพิจารณาคุณสมบัติของคนนอก 5 คน
“เมื่อที่ประชุมวงใหญ่ สปช.ตกผลึกชัดเจนถึงจำนวน สปช.ที่จะเป็น กมธ.ยกร่างฯ ว่าจะเป็นคนในทั้งหมด 20 คน หรือจะเป็นคนนอกเข้ามาด้วย 5 คน ตรงนี้ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะได้นำมาสู่แบ่งสัดส่วนที่ชัดเจน ซึ่งทาง สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่นก็มีบุคคลที่มีความพร้อมเป็นตัวแทนเข้าร่วมอยู่แล้ว”นายเกรียงไกร กล่าว
มีรายงานข่าวแจ้งอีกว่าสำหรับนายวุฒิสารและนายจรัส ทั้ง 2 คน ยังมีความต้องการที่จะเข้ามาปฎิรูปงานทางด้านท้องถิ่นมากกว่า จึงต้องรอการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งขณะที่ในส่วนของ สปช.ด้านสื่อสารมวลชน ก็เคาะชื่อของ นายมานิจ สุขสมจิตร เป็นตัวแทนกลุ่มแล้ว.
ดิเรกเชียร์ดึงตัวแทนการเมือง
ขณะที่ นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. นนทบุรี แสดงความเห็นว่าไม่ค่อยเห็นด้วยในโควตาคนนอก เพราะ สปช. 250 คน ก็มีความหลายหลายอยู่แล้ว คงไม่จำเป็นต้องเอาคนนอกเข้ามา รวมทั้ง สปช.น่าจะมีสมัครจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองต่าง ๆก็เห็นด้วย น่าจะมีข้อมูลและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ การยอมรับจะมีสูงขึ้น แต่พรรคการเมือง จะหาตัวแทนมาได้หรือไม่ คงจะเป็นเรื่องยาก เพราะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง คงไม่มีใครอยากจะเข้ามา เรื่องนี้คงต้องรอหารือกันในที่ประชุมใหญ่จะให้มีสัดส่วนอย่างไร ในสัดส่วนของภาคจังหวัด คงจะไม่มีการขอเพิ่ม หากที่ประชุมมีมติให้สัดส่วน กมธ.เป็นสปช.ทั้ง 20 คน.
โยนที่ประชุมใหญ่ชี้ขาดคนนอก
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช.ด้านการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าของการสรรหาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังกรณีที่วิป สปช.ออกมาระบุจะให้มีโควตาสรรหาบุคคลภายนอก มาเป็นกมธ.ยกร่างฯจำนวน 5 คนว่าโดยปกติ กมธ.ยกร่างฯจะมีความแตกต่างจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตรงที่ สปช.จะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในหลากหลายด้าน
“แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญ อาจต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์เข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย ในส่วนของ สปช.ยังไม่มีการพูดคุยว่าจะส่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านใดเนื่องจาก ยังมีสมาชิก สปช.บางส่วนที่ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางส่งบุคคลภายนอกเป็น กมธ.ยกร่าง ซึ่งอาจจะมีสมาชิกบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการสรรหา กมธ.ยกร่างฯที่ออกมาจากวิปสปช.(ชั่วคราว)นำไปหารือในที่ประชุมใหญ่สปช.ในวันจันทร์ที่27 ต.ค.นี้”นายาสมบัติ กล่าว
เคาะตัวแทนแต่ละด้านจันทร์นี้
ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช.ด้านการเมือง กล่าวว่า เท่าที่ทราบ สปช.ด้านการเมืองที่สนใจเป็น กมธ. ยกร่างฯ มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายชัยอนันต์ สมุทวนิช นายอมร วนิชวิวัฒน์ เป็นต้น แต่ยังไม่มีมติว่าจะส่งสมาชิกฯท่านใด เนื่องจากต้องรอมติที่ประชุมของ สปช.ด้านการเมืองซึ่งจะมีการประชุมครั้งที่ 2/2557ในวันจันทร์ ที่ 27 ตุลาคม เวลา 10.00 น.แต่เบื้องต้นเวลา 09.00น.สปช.ทั้ง 11ด้าน และ 4 ภาค จะมีการหารือสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม สปช.ให้ความเห็นชอบต่อไป
“มติจากที่ประชุมวิป สปช.ชั่วคราว เบื้องต้นจะให้ส่งสมาชิก สปช. ด้านละ1 คน แต่ก็ไม่ตัดสิทธิ์สมาชิกแต่ละคนที่จะลงสมัครเป็น กมธ. ยกร่างฯ ซึ่งต้องรอมติที่ประชุมย่อยของ สปช.แต่ละด้าน ว่าจะมีมติอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบมีสมาชิก สปช.ให้ความสนใจมากกว่า 20 คน แล้ว ” นายประสาร กล่าว
เชื่อไม่มีคนการเมืองร่วมกมธ.ยกร่าง
ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่วิป สปช.(ชั่วคราว)เสนอให้คนนอกโดยเฉพาะพรรคการเมืองและนักการเมือง เข้าไปมีส่วนร่วมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของคนนอก 5 คนว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามผู้ที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งกรรมาธิการฯ ดังนั้นเชื่อว่าคนจากพรรคการเมืองที่ยังอยู่ในแวดวงการเมืองก็คงไม่มาเป็น กมธ.ยกร่างฯ อย่างแน่นอน เพราะถ้าเขามาเป็นจะถูกตัดสิทธิโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
กปปส.ไม่ติดใจคนนอกยกร่างรธน.
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์(กปปส.) กล่าว ว่า กปปส.ไม่ได้ติดใจเกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน ไม่ว่าจะเป็นคนใน สปช.หรือคนนอกบางส่วน
เพราะคนนอกที่เป็นนักวิชาการก็มีความรู้ความสามารถด้านรัฐธรรมนูญ เช่น กลุ่มของนายบรรเจิด สิงคะเนติ หรือกลุ่มของนายอมร จันทรสมบูรณ์ หรือแม้แต่กลุ่มคนหัวสมัยใหม่ก็น่าจะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญมีความหลากหลายตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศได้ แต่หากนำกลุ่มการเมืองที่มีประสบการณ์ก็จะขัดกับคุณสมบัติของกรรมาธิการยกร่างฯ
พท.หนุนคนนอกนั่งกมธ.ยกร่างฯ
ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากไม่มีกฎอะไรห้ามไว้ ตัวแทนพรรคการเมืองสามารถเข้าร่วมได้อยู่แล้ว ถือเป็นผลดีเสียด้วยซ้ำ จะได้มีความหลากหลาย แต่ขอให้อยู่ในกรอบกติกาที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้
ในส่วนพรรคเพื่อไทยได้มีการติดตามสถานการณ์บ้านเมืองตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ขณะนี้พรรคยังไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากติดเงื่อนไขข้อห้ามในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)แต่หากมีปฏิรูปพรรคจริง ควรปฏิรูปในด้านความเข้าใจประชาชนให้มากขึ้น ยึดหลักกติกาประชาธิปไตยซึ่งไม่ใช่เรื่องของพรรค หรือประชาชนข้างใดข้างหนึ่ง แต่ต้องมองถึงส่วนรวมทั้งหมด
ชี้ตู่ชงปฎิรูปพรรคอารมณ์ต่อเนื่อง
ส่วนกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เสนอแนะนำให้พรรคเพื่อไทยปฏิรูปพรรคใหม่ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น อาจต่อเนื่องมาจากการตอบโต้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นของทั้งสองคน ไม่มีผลกระทบอะไรต่อพรรค เพราะความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง ทางพรรคก็พร้อมรับฟัง มีอะไรก็คุยกัน สมาชิกพรรคทุกคนร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ยืนยันว่าการแสดงความเห็นของนายจตุพรไม่ทำให้พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงแตกคอกัน ทุกคนมีสิทธิ จะพูดนอกพรรคหรือในพรรคก็ตาม ตอนนี้พูดกันในพรรคยังไม่ได้ เมื่อถึงเวลาทุกคนก็จะหันมาพูดคุย หามติร่วมกัน